5 ปี โครงการบ้านปลานำชุมชนเนินฆ้อ สู่ความยั่งยืน
"ท้องทะเล มหาสมุทร ก็เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่” หลายคนเปรียบเปรยเอาไว้อย่างนั้น
แต่จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่ง ซุปเปอร์ฯ แห่งนี้ไม่มีสินค้าให้เราช็อปปิ้ง...
ความกังวลที่ว่านี้ เคยเกิดขึ้นกับทะเลที่บ้านเนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง นายสำออย รัตนวิจิตร ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ต.เนินฆ้อ เล่าให้เราฟังว่า ช่วงปี 2540 ชาวบ้านเนินฆ้อเจอผลปัญหา จากเครื่องมือสูญหาย เอาอวนไปลอยทิ้งไว้กลับมาหายหมด เรือใหญ่มาลากเอาไปหมด สัตว์น้ำแทบจะหมดจากหน้าบ้านของเรา
แต่เดิมนั้นชาวเนินฆ้อทำนาข้าวผสมกับการทำประมงไปด้วย มาช่วงหลัง สำออยเล่าว่านายทุนมาทำนากุ้ง ก็เริ่มทำนาไม่ได้ เพราะมีน้ำเค็ม ดินเสีย พอทำไม่ได้ชาวบ้านก็ทำหันมาประมงเต็มตัว แต่ทำไปทำมาก็ขาดทุนอยู่ดี เพราะพอเอาอวนไปปล่อย อวนรุนเอาไปกินหมด เรากลับบ้านมือเปล่า
จากปัญหาที่ประสบกันโดยถ้วนหน้า สำออย ได้รวมกลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นพูดคุยถึงปัญหา เพื่อหาแนวทางจัดการทรัพยากรหน้าบ้านของพวกเขา
“ถ้าเราไม่รวมตัวกันคุยแก้ปัญหาไม่ได้ พอปี 2545 ตั้งกลุ่มประมงขึ้นมา เดือนละครั้งทุกวันที่ 14 บ่ายโมงตรง พอได้คุยก็เห็นงานจะเเก้ปัญหา เดือนแรกๆ ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง พอคุยไปสักพัก ก็คิดว่า ถ้าคุยกันแต่ชาวบ้านแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเขามาฟังด้วย คงไม่เกิดประโยชน์” สำออยเล่าให้ฟังที่มาที่ไป
ก่อนที่ชาวบ้านไปส่งหนังสือเชิญไปยังกรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาช่วยกันฟังหาแนวทางในการดูเเลรักษาทะเลหน้าบ้าน
จนกระทั่งปี 2549 นายสำออย เล่าว่า เทศบาลตำบลเนินฆ้อ เริ่มมองเห็นความสำคัญ เลยคิดว่าควรมีการจัดการทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงมีการจัดตั้ง “ กลุ่มประมงพื้นบ้านเนินฆ้อโครงการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เริ่มมี " โครงการบ้านปลา ธนาคารปู” ในช่วงปี 2547-2549 โดยมีหน่วย กรมทรัพยากรฯ เทศบาลเนินฆ้อ กลุ่มวิจัยทรัพยากรทะเลชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จากตรงนี้ชาวบ้านเนินฆ้อก็เริ่มมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ
จากความสำเร็จของโครงการที่ทำร่วมกันครั้งนั้นส่งผลให้ชาวบ้านสามารถจับสัตว์ได้เพิ่มขึ้น
สำออย เล่าว่า ชาวบ้านจับปูได้เยอะมากจนกระทั่งบางช่วงถึงกับล้นตลาด จนต้องทำการแปรรูป ทำปูเนื้อ ทำธนาคารปู ปูเพิ่มมากขึ้น
เมื่อรูปธรรมการอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ เทศบาลฯ ก็เล็งเห็นความสำคัญเลยมีโครงการอยากทำบ้านให้ปลาอยู่ด้วย ทางเทศบาลสนับสนุนให้ทำปะการังเทียมจากแท่งปูน โดยให้งบประมาณมาก้อนหนึ่ง หลังจากเริ่มนำไปวางตามที่กำหนดไว้ โดยตั้งห่างจากชายฝั่งออกไปราว 1.5 กิโลเมตร เพราะพื้นที่บ้านเนินฆ้อมีชายฝั่งที่กว้าง
สำออย เล่าต่อว่า จากนั้นก็เริ่มมีปลาเข้ามาอาศัย เป็นแหล่งอนุบาลมากขึ้น ชาวบ้านออกทั้งอวนปู และอวนปลา แต่ตามวิถีของประมงพื้นบ้านหากินตามวงจรของสัตว์น้ำ จับสัตว์น้ำไปตามฤดูกาล และที่สำคัญเครื่องมือต้องไม่ทำลาย
แต่กว่าจะมีข้อตกลงอย่างนั้น ชาวบ้านต้องมานั่งประชุมและวางกรอบกติการ่วมกัน “ ในกรอบของประชาคมชาวบ้าน มีการออกมติห้ามไม่ให้หากินบริเวณที่ต้องของบ้านปลา และควบคุมเรื่องเครื่องมือ ทำลายล้าง” สำออยกล่าว
จนกระทั่งวันหนึ่ง ทางตัวแทนของเอสซีจี มาร่วมฟังการพูดคุยที่จัดทุกเดือน พอได้ยินว่าทางชุมชนมีโครงการบ้านปลาและบ้านปู เลยเสนอวัสดุซึ่งเป็นท่อเก่า ท่อที่ไม่ผ่านมาตฐาน โดยตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงท่อเก่าของเขามาทำบ้านปลาตรงนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ชาวบ้านก็ลงมติเห็นด้วย เพราะทำง่ายกว่าแท่งปูน แถมยังขนย้ายสะดวก ทำแล้วก็ดี เพราะไม่ยุบตัว
"การทำงานที่นี่ ถ้าไม่เอาความคิดของชาวบ้านไม่ได้อะไรขึ้นมา เหมือนเราปลูกต้นไม้หนึ่งต้น จะปลูกถ้าไม่มีคนดูเเล ก็ตาย ถ้าเราดูเเลรดน้ำ พรวนดิน ต่อไปก็เกิดผลให้เราใช้ประโยชน์ต่อไปได้” สำออย เล่าถึงวิธีการทำงานระหว่างชุมชนกับเอสซีจี
ด้าน "ชลณัฐ ญาณารณพ" กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนั้น เอสซีจี เคมิคอลส์ได้ร่วมหารือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ทำให้ทราบถึงปัญหาจำนวนปลาบริเวณใกล้ชายหาดลดลง อีกทั้งยังมีการรุกล้ำที่ทำกินจากเรืออวนลาก อวนรุน ทำให้การทำประมงแบบดั้งเดิมยากลำบากยิ่งขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ระบบนิเวศน์ทางทะเลถูกทำลายอย่างรวดเร็ว
ย้อนไปช่วงปี 2555 เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการ “หาดงามตา ปลากลับบ้าน” ขึ้น โดยการอนุรักษ์ชายหาดทั้งทางบกและทางน้ำ ด้วยการนำพนักงาน ผู้ประกอบการชายหาด และชุมชน ร่วมกิจกรรมพัฒนาชายหาดด้วยการเก็บขยะ ปลูกและดูแลต้นไม้ อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ให้มีมากขึ้น
ทีมนักวิจัยของเอสซีจี เคมิคอลส์ คิดค้นและพัฒนา “นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100” ขึ้น โดยนำวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยในการขนส่งน้ำ มาออกแบบสร้างที่อยู่อาศัยจำลองให้แก่สิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์เล็ก ไปจนถึงที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เกิดเป็นระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล และเป็นแหล่งประมงเชิงอนุรักษ์สำหรับประชาชนในท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเพิ่มและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมาโดยตลอด และให้กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
กระทั่งปี 2556 เอสซีจี เคมิคอลส์ได้ส่งมอบบ้านปลา จำนวน 100 หลัง เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 ปี SCG และดำเนินการประกอบและจัดวางบ้านปลาอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่มีใจอนุรักษ์ ร่วมประกอบและจัดวางบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 100 หลัง
ต่อมาปี 2557 และในปี 2558 ได้ดำเนินการประกอบและจัดวางบ้านปลาอีก 170 หลัง ซึ่งยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มมีความกังวลว่า ท่อพลาสสติกที่นำไปวางนั้น จะส่งผลเสียอะไรต่อทะเลและสัตว์น้ำในระยะยาวหรือไม่ ทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ อธิบายว่า ท่อซึ่งเป็นวัสดุหลักผลิตจาก Polyethylene pipe (EL-Lene H1000PC) หรือท่อ PE ที่ผ่านกระบวนการทดสอบเม็ดพลาสติกของบริษัท ผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อด้วยสถาบัน VTT, Finland และสถาบันอื่นๆทั่วโลก ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดย นำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อ มาทดสอบหาสารอันตราย และทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุใช้งานได้นาน
"ชลณัฐ" เล่าถึงการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน เทศบาลตำบลเนินฆ้อ เอกชนอย่างเอสซีจีและทางภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่งเสริมทำให้ชาวบ้านมีรายได้ การทำงานที่ดีมากขึ้น เมื่อทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน
“ จริงๆ เราเป็นผู้ตาม ชุมชนเป็นผู้นำในทุกเรื่อง เราก็ช่วยในเรื่องของทุนทรัพย์ในการสร้างศูนย์เรียนรู้ ส่วนว่าจะเอาเรื่องอะไรมากเผยแพร่ต่ออันนี้เป็นเรื่องของชุมชน เราช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุน ทำสื่อประกอบ เป็นการร่วมไม้ร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมา วันนี้เรากำลังสร้างศูนย์การเรียนรู้เนินฆ้อ และหวังว่าจะกลายเป็นหนึ่งในจุดสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผู้บริหารเอสซีจี เคมีคอลส์ กล่าวถึงความตั้งใจต่อไปของบริษัท และเล่าให้เราฟังถึงหลักการสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จว่า
“ หลักการที่เราทำคือการทำร่วมกับชุมชน เมื่อเกิดผลประโยชน์จากตรงนั้น เราสนับสนุนให้ชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ ในทุกโครงการที่เราทำ เราไม่อยากเป็นโครงการที่เข้าไปให้ไปแจก และจบ แล้วโครงการล้มเลิกไป ซึ่งไม่ยั่งยืน ไม่สามารถททำให้ชุมชนยืนได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นการทำงานจของเราจะแตกต่าง คือเข้าใปช่วยให้ชุมชนจนถึงระดับที่ชุมชนสามารถทำได้เองได้ ต่อยอดไปได้”
วันนี้โครงการบ้านปลาดำเนินมาถึงปีที่ 5 ได้ทำบ้านปลาและได้วางบ้านปลาลงทะเล 370 หลัง เป้าหมายปีนี้จะวางให้ได้ 400 หลัง เนื่องจากว่า ผลสำรวจพบว่าประชากรปลาเพิ่มขึ้น
"เราต้องสำรวจต่ออีกว่าความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเท่าไร อีกอันหนึ่งคือ เมื่อประชากรปลาเพิ่มขึ้น ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์โดยตรง กลุ่มประมงพื้นบ้านไม่ต้องออกไปหาปลาที่ไกลจากชายฝั่งมากนัก หาในพื้นที่ใกล้กับพื้นที่ที่อยู่อาศัย รายได้เพิ่มขึ้น เราคิดว่ากระตุ้นให้ประมงมาดูเเลมากขึ้น แค่พื้นที่นี่ที่เดียว ก็เป็นงานที่ประสบความสำเร็จที่ดี"
อย่างไรก็ดีนอกจากความร่วมมือจากทั้งฝั่งชุมชนและ เอสซีจี เคมิคอลส์แล้ว อีกภาคส่วนสำคัญที่คอยหนุนหลังให้เกิดความสำเร็จครั้งนี้ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั้นคือ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ซึ่งมีนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักฯ เล่าให้เราฟังว่า การทำงาน ทช. มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กรมฯ เราเกิดขึ้นใหม่ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่มาก เรามุ่งเน้นสร้างเครือข่าย
"ผมทำงานต่อยอดจากความต้องการของชุมชน เรามุ่งเน้นการเป็นพี่เลี้ยงมากกว่า เราไม่มีโอกาสรู้ดีไปกว่าชาวบ้าน ทำอย่างไร เขาจึงจะมีความอุดุมสมบูณณ์และยั่งยืน นั่นคือความสำคัญที่เราทำร่วมกับชุมชน"
สำหรับการดูเเลพื้นที่ชายฝั่งทะเล เขาเห็นว่า ไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของคนที่อาศัยแนวชายฝั่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งหมด ถามว่า เชียงใหม่ เชียงรายติดทะเลไหม ติดทะเล ถ้าเขาดูเเลต้นน้ำให้สะอาด คนภาคกลาง กลางน้ำ นครสวรรค์ พิษณุโลก ถ้าช่วยดูเเลให้น้ำสะอาด แล้วพวกปลายน้ำดูเเล ดังนั้น เราจะเห็นว่า ระบบนิเวศน์ทั้งหมดสัมพันธ์กัน บ้านทุกคนจึงติดทะเล ทุกคนมีส่วนร่วมดูเเล ทะเลด้วยกัน ถ้าต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สะอาด เราก็มีทะเลที่ดี จะมีอาหารทะเลดีๆ ส่งไปถึงบ้านทุกคน
ขณะที่ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง บอกว่า อยากให้โครงการสร้างบ้านปลา ของเอสซีจี เคมีคอลส์ เป็นโครงการตัวอย่าง เป็นโครงการนำร่อง ให้ชุมชนได้เห็นว่า อุตสาหกรมสามารถอยู่คู่กับการเกษตร การทำประมงได้เป็นอย่างดี ถ้ามีการเอื้อเฝื้อให้แก่กัน อย่างโครงการนี้ เป็นCSR ให้ชุมชน ประมงพื้นบ้าน เอาวัสดุของตัวเอง ท่อไม่ได้ใช้เเล้ว มาประกอบเป็นบ้านปลา มาสอนให้ประมงพื้นที่รู้จักวิธีการประกอบ เอาอุปกรณ์มาสนับสนุน เป็นการช่วยเหลือให้ตรงกับปัญหาของชาวบ้านจริงๆ เป็นการแก้ไขปัญหาตรงจุด ไม่ใช่การเอาเงินมามอบ เอาของสำเร็จรูปมาให้ แต่เหมือนมาสอนวิธีการตกปลา ให้เขาเอาไปตกปลาด้วยตัวเอง เป็นโมเดลที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างงานอุตสาหกรรม บริษัทอื่นที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนได้
จากวันนั้นถึงวันนี้ จากอ่าวที่เคยถูกประมงพาณิชย์เข้ามารุกรานจนแทบจะไม่เหลือปลาให้ชาวบ้านตัวเล็กๆ ได้หากิน ความตั้งใจของชุมชน บวกกับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน ทำให้ชาวบ้านเนินฆ้อและอีกหลายชุมชนในทะเลระยองกลับมามีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อุดุมสมบูรณ์อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตามถึงวันนี้ดูเหมือนชาวประมงพื้นบ้านกำลังเผชิญกับคลื่นปัญหาระลอกใหม่ เมื่อรัฐออก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 มาตราที่ 34 ที่ระบุว่าประมงพื้นบ้านไม่สามารถจะออกไปทำการประมงนอกเขต 3 ไมล์ทะเล จะทำอย่างไรต่อไปเมื่อพื้นที่ 3 ไมล์ทะเลคือพื้นที่อนุรักษ์ เป็นบ้านปลา บ้านปูที่พวกเขาทั้งรักและห่วง