ฉบับเต็ม! กฤษฎีกาเห็นต่าง สตง.ยัน อปท.มีสิทธิ์เบิกงบฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า
“…สรุปง่าย ๆ ก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 10 มีความเห็น ‘สวนทาง’ กับ สตง. โดยเห็นว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามประกาศของกรมปศุสัตว์ รวมถึงมีสิทธิ์ในการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ด้วย โดยไม่ต้องให้เจ้าของสัตว์จ่ายค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด…”
ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ละเลยไปไม่ได้คือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเชื้อโรคเติบโตได้ดีในอากาศร้อน
และไม่ใช่แค่มนุษย์อย่างเรา ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่ต้องเจอในแต่ละวัน ซึ่งโรคที่อาจเรียกได้ว่า ‘น่ากลัว’ เป็นอันดับต้น ๆ นั่นก็คือ ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาได้ ‘คร่าชีวิต’ ลูกเด็กเล็กแดงหรือผู้ใหญ่ไปหลายต่อหลายคนแล้ว
เรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเกือบทุกปีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัดได้เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับบรรดาสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ
ทว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมปศุสัตว์ได้ส่งข้อหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุทำนองว่า การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไม่ใช่หน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารี จ.นครราชสีมา แต่เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์
ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศของกรมปศุสัตว์ กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 หรือไม่ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นฉบับเต็มมาเผยแพร่ ดังนี้
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือที่ กษ 0604/2580 ลงวันที่ 29 มกราคม 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ ดังนี้
(1) สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครราชสีมาได้เข้าตรวจสอบงบการเงินเทศบาลตำบลสุรนารี ประจำงวดปีงบประมาณ 2556 และได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเบิกจ่ายใช้สอยงบประมาณของเทศบาลตำบลสุรนารีเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ว่า การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของเทศบาลตำบลสุรนารี แต่เป็นภารกิจโดยตรงของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 กำหนดให้เจ้าของสัตว์ควบคุมมีหน้าที่ต้องจัดให้สัตว์ของตนได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยเจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองกรณีดังกล่าว
จึงมีปัญหาว่าพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 เป็นภารกิจหรือเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่
(2) หากกรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 กำหนดเขตท้องที่เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้ว่า ประกาศของอธิบดีตามมาตรานี้ ให้แจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้วแต่กรณี
โดยที่ปัญหากฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามข้อ 12 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 และคณะที่ 10) เพื่อประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 10) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมปศุสัตว์ โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมปศุสัตว์) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนเทศบาลตำบลสุรนารี และผู้แทนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง
ปรากฏข้อเท็จจริงจากผู้แทนกรมปศุสัตว์ว่า ในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าต้องมีการดำเนินการทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์ควบคุมโดยการคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาด ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมได้อย่างครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ จึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตามแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้สนับสนุนจัดหาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุม
ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงจากเทศบาลตำบลสุรนารีว่า จังหวัดนครราชสีมาและอำเภอเมืองนครราชสีมาได้มีข้อสั่งการให้มีการดำเนินงานตามโครงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเทศบาลตำบลสุรนารีจึงได้ตั้งงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2556 เพื่อการจัดซื้อและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมในพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารี โดยเทศบาลตำบลสุรนารีมิได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวจากเจ้าของสัตว์ควบคุม เนื่องจากเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เทศบาลตำบลสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งมีการประสานสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการเป็นประจำต่อเนื่องมาทุกปี
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในเรื่องต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ตามโครงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องตั้งงบประมาณในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อใช้ในการจัดซื้อและฉีดวัคซีน ตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทั้งกรณีตามมาตรา 5 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
สำหรับข้อเท็จจริงกรณีของเทศบาลตำบลสุรนารี ในขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อและฉีดวัคซีนประจำงวดปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 นั้น เทศบาลตำบลสุรนารีมิได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากเจ้าของสัตว์ควบคุม โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเทศบาลตำบลสุรนารีดำเนินการภายใต้การประกาศเขตท้องที่ของอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนำสัตว์ควบคุมไปรับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่สัตวแพทย์กำหนด หรือให้สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ไปทำการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุม ณ สถานที่ของเจ้าของสัตว์ควบคุม โดยเจ้าของสัตว์ควบคุมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเบิกจ่ายใช้สอยงบประมาณของเทศบาลตำบลสุรนารีเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 10) พิจารณาข้อหารือของกรมปศุสัตว์แล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ถือเป็นภารกิจของหน่วยงานใด ระหว่างกรมปศุสัตว์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น
เห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 มุ่งประสงค์ให้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัตวแพทย์เพียงพอปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ได้เองในราคาถูก ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
กรมปศุสัตว์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 ด้วย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและระงับโรคติดต่อหรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้ ได้แก่ มาตรา 67 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 50 (4) มาตรา 53 (1) มาตรา 56 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 62 (14) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ในมาตรา 89 (16) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาลด้วย
อีกทั้งบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ได้กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น สัตวแพทย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายประการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อด้วย
ประเด็นที่สอง หากกรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 กำหนดเขตท้องที่เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์ได้หรือไม่ นั้น
เห็นว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและระงับโรคติดต่อซึ่งรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้าด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจที่จะตั้งงบประมาณเพื่อการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อใช้ในการจัดซื้อและฉีดวัคซีน ตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมในพื้นที่ของตนได้ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
แต่โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรณีของเทศบาลตำบลสุรนารีตามที่หารือมานี้ ไม่มีการประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารี เจ้าของสัตว์ควบคุมจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมการฉีดวัคซีนสัตว์ควบคุมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
อย่างไรก็ดีในกรณีที่หารือมานี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เทศบาลตำบลสุรนารีได้รับแจ้งขอความร่วมมือจากจังหวัดนครราชสีมาว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2556
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคในสัตว์และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563
ซึ่งทำให้เทศบาลตำบลสุรนารีเชื่อโดยสุจริตว่าจะมีการออกประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีด้วย เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในทุก ๆ ปี ประกอบกับเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารีในการป้องกันและระงับโรคติดต่อตามมาตรา 50 (4) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่า แม้ในปี พ.ศ. 2556 ไม่มีการประกาศกำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีก็ตาม เทศบาลตำบลสุรนารีก็ย่อมดำเนินการฉีดวัคซีนและให้ยาคุมกำเนิดสัตว์ควบคุม โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ควบคุมได้ตามอำนาจหน้าที่ของตน
(ดูความเห็นฉบับเต็ม : http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2559&lawPath=c2_0442_2559)
หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 10 มีความเห็น ‘สวนทาง’ กับ สตง. โดยเห็นว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามประกาศของกรมปศุสัตว์ รวมถึงมีสิทธิ์ในการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ด้วย โดยไม่ต้องให้เจ้าของสัตว์จ่ายค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สตง. ที่ผ่านมา ถูกนักวิชาการ รวมถึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้วิพากษ์วิจารณ์ถึงหน้าที่การทำงานมากมาย โดยเฉพาะจุดอ่อนในเรื่องที่เข้าไป ‘จุกจิก’ กับงบประมาณบางส่วนโดยไม่จำเป็น และทำให้การบริหารงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก
กระทั่งล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้หารือในประเด็นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูก สตง. ‘เบรก’ ไว้ โดยอ้างว่า การเบิกจ่ายบางอย่างไม่มีระเบียบการเบิกจ่าย ซึ่งขณะนี้ กมธ.การปกครองท้องถิ่น ได้เชิญตัวแทนจาก สตง. และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดปัญหา และตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดทำระเบียบใหม่ให้ชัดเจน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ เพราะมีหลายแห่งเดือดร้อน และต้องการเบิกจ่ายงบประมาณให้ทัน
นอกจากนี้ กมธ.การปกครองท้องถิ่น ยังหารือกันถึงกรณีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบางแห่งอาจมีความซับซ้อนกันกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ด้วย โดยเบื้องต้นเป็นเพียงแค่การพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ ก่อนจะลงไปในรายละเอียด เพื่อจะได้ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
(อ่านประกอบ : กมธ.ท้องถิ่นฯถกแก้ปัญหา อปท.เบิกจ่ายไม่ได้-ทำงานซ้อนหน่วยอื่น )
ท้ายสุด สตง. จะนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปปรับปรุงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป !
อ่านประกอบ : กฤษฎีกาสวน สตง.! ยันหน้าที่ อปท.มีสิทธิ์เบิกงบฉีดยากันพิษสุนัขบ้า
หมายเหตุ : ภาพประกอบการฉีดวัคซีนจาก thaihealth.or.th