ส่องข้อห้าม กม.วิธีปฏิบัติราชการทาง ปค. :กรณี พล.อ.ปรีชา ตั้งลูกชายเป็นทหาร
"..กรณีนี้ เท่ากับว่าหากมีการร้องเรียนคัดค้าน การแต่งตั้งลูกชายของพล.อ.ปรีชา เกิดขึ้น สิ่งที่ พล.อ.ปรีชา จะต้องดำเนินการ คือ ระงับการพิจารณาเรื่องการบรรจุลูกชายของตนเองเข้ารับราชการทหารไว้ก่อน และแจ้งเรื่องให้รมว.กระทรวงกลาโหม รับทราบ เพื่อจะได้มีการพิจารณาคำสั่งต่อไป.."
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาประกาศชัดเจนว่าในวันนี้ (18 เม.ย.59) เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เวลา 11.00 น. ให้ตรวจสอบกรณี พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ในอำนาจรับบรรจุ นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชาย เข้ารับราชการในตำแหน่ง รรก.นายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน ทภ.3 (อัตรา พ.ต.) รับเงินเดือน ระดับ น.1 ชั้น 18 (15,000 บาท) และแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี (เหล่า สบ.)
โดยระบุชัดเจนว่า พล.อ.ปรีชา นั้น นอกจากดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ด้วย ขณะที่สมาคมฯ เห็นว่า การใช้อำนาจของ พล.อ.ปรีชา อาจขัดหรือแย้งต่อระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ.2551 และขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิก สนช.และกรรมาธิการ พ.ศ.2558 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรมการทุจริต พ.ศ.2542 และ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
(อ่านประกอบ : ปม 'ลูกปรีชา' บานปลาย!ศรีสุวรรณ ร้อง ป.ป.ช.สอบขัดประมวลจริยธรรมกลาโหม)
นอกเหนือจากคำอธิบายเรื่องระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ ข้อ 5 ระบุว่า ให้ข้าราชการกระทรวงกลาโหมยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรม 14 ประการ โดยหนึ่งนั้นคือ การยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่จะนำมาใช้ประกอบการยื่นเรื่องครั้งนี้แล้ว
บทบัญญัติในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ถูกระบุว่าจะนำมาใช้ประกอบการยื่นเรื่องครั้งนี้ด้วยก็มีความน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบทบัญญัติในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 พบว่า มีการระบุข้อกำหนดไว้ในหมวด 2 เรื่องคำสั่งทางการปกครอง ส่วนที่ 1 เจ้าหน้าที่ ไว้ว่า
มาตรา 12 คำสั่งทางปกครองจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น
มาตรา 13 เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(1) เป็นคู่กรณีเอง
(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็น
พี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทน
ของคู่กรณี
(5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ กรณีการอนุมัติรับบรรจุให้ นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา บุตรชาย เข้ารับราชการในตำแหน่ง รรก.นายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน ทภ.3 (อัตรา พ.ต.) รับเงินเดือน ระดับ น.1 ชั้น 18 (15,000 บาท) และแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี (เหล่า สบ.) เป็นการอนุมัติโดยตรงจากพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม (ในบันทึกข้อความลับ ระบุว่า การอนุมัติอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบให้ทำการแทนและสั่งการในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามคำสั่ง กห.(เฉพาะ) ที่ 181/47 ลงวันที่ 20 มิ.ย.47) ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดในฐานะบิดา อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อห้าม ที่ระบุไว้ใน มาตรา 13 (3) ได้
ขณะที่ในมาตรา 14 ระบุว่า "เมื่อมีกรณีตามมาตรา 13 หรือคู่กรณีคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดเป็นบุคคลตามมาตรา 13 ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อน และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวจะได้มีคำสั่งต่อไป"
"การยื่นคำคัดค้าน การพิจารณาคำคัดค้าน และการสั่งให้เจ้าหน้าที่อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ที่ถูกคัดค้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"
กรณีนี้ เท่ากับว่าหากมีการร้องเรียนคัดค้าน การแต่งตั้งลูกชายของพล.อ.ปรีชา เกิดขึ้น สิ่งที่ พล.อ.ปรีชา จะต้องดำเนินการ คือ ระงับการพิจารณาเรื่องการบรรจุลูกชายของตนเองเข้ารับราชการทหารไว้ก่อน และแจ้งเรื่องให้รมว.กระทรวงกลาโหม รับทราบ เพื่อจะได้มีการพิจารณาคำสั่งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 16 ระบุไว้ว่า ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ถ้าผู้นั้นเห็นเองว่าตนมีกรณีดังกล่าว ให้ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อนและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(2) ถ้ามีคู่กรณีคัดค้านว่าผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว หากผู้นั้นเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่คัดค้านนั้น ผู้นั้นจะทำการพิจารณาเรื่องต่อไปก็ได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(3) ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งผู้นั้นเป็นกรรมการอยู่มีคำสั่งหรือมีมติโดยไม่ชักช้า แล้วแต่กรณีว่าผู้นั้นมีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นหรือไม่
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสอง และมาตรา 15 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 17 การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองที่ได้กระทำไปก่อนหยุดการพิจารณาตามมาตรา 14 และมาตรา 16 ย่อมไม่เสียไป เว้นแต่เจ้าหน้าที่ผู้เข้าปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ถูกคัดค้านหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง แล้วแต่กรณีจะเห็นสมควรดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใดเสียใหม่ก็ได้
มาตรา 18 บทบัญญัติมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
ขณะที่มาตรา 19 ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่กำลังถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณา กรณี พล.อ.ปรีชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ในคำสั่งทางปกครอง รับบรรจุลูกชายของตนเอง ซึ่งจบการศึกษาคุณวุฒิปริญญานิเทศศาสตรบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ารับราชการทหารในตำแหน่ง รรก.นายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน ทภ.3 (อัตรา พ.ต.) รับเงินเดือน ระดับ น.1 ชั้น 18 (15,000 บาท) และแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี (เหล่า สบ.)
ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนในห้วงเวลาสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีหัวข้อเรื่องการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และธรรมาภิบาล รวมอยู่ด้วย
อ่านเรื่องประกอบ :
โฆษกกห.แจงบรรจุลูกทหารเป็นนายร้อยเรื่องปกติ อย่ามองเป็นการเมือง
ตามดู 3 วิธีบรรจุพลเรือนเข้าเป็นทหาร... ลูกผู้ใหญ่ลอยชายเข้าช่องทางไหน
ติดดาววิธีพิเศษ...เรื่องปกติของลูกผู้ใหญ่ในกองทัพ กับคำถามถึงธรรมาภิบาล
'พล.อ.ปรีชา' รับบรรจุลูกชายจบนิเทศ เป็นทหารยศว่าที่ร้อยตรี เงินเดือน 1.5 หมื่น