ราชดำเนินเสวนาวิพากษ์นโยบายศก. ปชป-พท
“กอร์ปศักดิ์” ฟันเพื่อไทยทำนโยบายศก.ต้องทำได้จริงตั้งแต่วันแรก เชื่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททันทีไม่มีทาง พท.ยันทำได้ จวกใครคิด ปชป.ดีแล้วก็เลือกไป ด้านนักวิชาการแนะประชานิยมไม่เสียหาย แต่ควรมองไกลถึงกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 54 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 5/2554 “วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ – เพื่อไทย” โดยมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ,นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย, รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมเสวนา โดยมีนายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายพรรค ปชป.ถือหลักทำได้จริงและต้องทำได้ตั้งแต่วันแรก เมื่อตั้งรัฐบาลเรียบร้อย นโยบายของพรรคต้องเดินหน้าได้ทันทีภายใต้แผนดำเนินงานที่ชัดเจน วันนี้ประเทศประสบปัญหาของแพง พลังงานแพงและไม่รู้ว่าจะแพงตลอดกาลหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ไม่มีทางที่ราคาจะกลับมาเหมือนในอดีต ดังนั้นนโยบายที่จะมาตอบโจทย์เหล่านี้จึงมีแค่ทางเดียวคือ การยกระดับรายได้ของทุกคนในประเทศ เพราะหากไม่สามารถทำได้ ต่อให้คุมราคาสินค้าได้เก่งเท่าไรก็ไม่รอด
“ที่มองต่อไปคือจะหารายได้ของประเทศอย่างไร แต่นั่นต้องไม่ใช่แค่การขยายฐานภาษีที่สุดท้ายคนไทยทั้งหมดต้องมารับภาระ ต้องมาดูในโลกความจริงว่าการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ เราเก่งอะไร และไปหยิบจับตรงนั้นมาใช้ หนึ่งในนโยบายที่ตรงข้ามกับเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิงคือ เราไม่ทำแลนด์บริจด์เพราะไม่ได้มองแต่เงินเป็นหลัก ไม่ตามก้นประเทศที่เสียหายไปแล้วกับโครงการพัฒนา ซึ่งประชาชนไม่เอาด้วย แต่ปชป.จะเน้นสร้างรายได้ที่มั่นคงคือการเข้าไปพลิกโฉมเมืองท่องเที่ยวตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ และทั่วประเทศ ให้เป็นมนต์เสน่ห์แห่งเอเชีย”
นอกจากนี้ยังมีมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เชื่อมคุณหมิง ภาคอีสานสู่ภาคใต้เชื่อมต่อไปยังมาเลเซีย เพื่อพัฒนาการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงจะย้ายท่าเรือคลองเตยไปแหลมฉบัง แล้วแทนที่ด้วยการทำสวนสาธารณะ ไม่มีที่จอดรถ แต่จะใช้ขนส่งมวลชนทั้งหมด
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นโยบายของพรรค ผ่านการศึกษาและวิจัยว่าทำได้จริง เช่น การค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทย เสนอขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่ไม่ได้บอกว่าทำได้จริงเมื่อไร ถ้าเลือกประชาธิปัตย์สามารถขึ้นค่าแรงได้ร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี ที่กล่าวแบบนี้เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ทันที วิธีการคือต้องไปดูค่าแรงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะนี้ไทยค่าแรงต่ำสุด น้อยกว่าฟิลิปปินส์ด้วยซ้ำ รัฐบาลในอดีตบอกว่าเห็นใจคนจนก็ปรับได้ครั้งละ 3-5 บาท จึงบอกว่าทำจริงไม่ได้ง่าย หากผู้ว่าจ้างไม่เห็นด้วย ในกรุงเทพฯ วันนี้อยู่ที่ 206 บาท ทำแบบประชาธิปัตย์อีก 2 ปีอย่างเก่ง 258 บาท จึงบอกว่าการทำนโยบายแบบนี้จะเกทับด้วยตัวเลขไม่ได้ แต่ยืนยันว่าทำได้หากใช้วิธีการสร้างตลาดแรงงาน ทำความเข้าใจกับภาคอุตสาหกรรม เน้นที่เป็นจุดแข็งของไทย ส่วนที่ใช้เครื่องจักรแล้วมากดค่าแรงก็ให้ไปลงทุนที่ประเทศอื่น ประชาธิปัตย์ยู่ในโลกของความเป็นจริง มีนโยบายชัดว่าจะเปลี่ยนอย่างไรจัดลำดับการลงทุนอะไรที่ทำแล้วประเทศเก่งก็ควรทำ การลดภาษีนิติบุคคลทำให้เพิ่มค่าแรงไม่ได้
นายกอร์ปศักดิ์ ตอบคำถามประเด็นจากนักวิชาการที่วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ว่า หนีไม่พ้นประชานิยมทั้งๆ ที่ช่วงแรกมีการต่อต้านและผิดหวังเรื่องการแก้ไขเชิงโครงสร้างอย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า รัฐบาลเองก็ผิดหวัง แต่หากกลับมาเป็นรัฐบาลก็เดินหน้าต่อได้ทันที ส่วนประชานิยมหรือไม่เป็นคนละแบบ ที่ทำคือการคิดกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวไปทั่วหน้า แน่นอนมีความต่างกับพรรคเพื่อไทย คือ ประชาธิปัตย์จะไม่ถมทะเลเพื่อทำแลนด์บริจด์ เพราะในอดีตก็พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวสิ้นเชิง ท้ายที่สุดให้ประชาชนตัดสินใจดีกว่า
ด้านนายพิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวมาเป็นผู้นำในภูมิภาคต้องทำให้เศรษฐกิจโตกว่าอย่างต่ำร้อยละ 5 นั่นต้องสร้างระบบโลจิสติกส์ นโยบายที่เพื่อไทยนำเสนอหลักๆ จึงมุ่งเน้นไปที่การทำให้ระบบขนส่งทั่วถึงโดยไม่กระทบท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม หลักการสร้างเมืองใหม่ให้มีผังเมืองที่ดี สร้างจุดเติบโตให้เศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังเน้นการแก้ปัญหาให้กลุ่มเกษตรกร เช่น การพัฒนา 25 ลุ่มน้ำโดยทำระบบท่อชลประทานเพื่อแก้ปัญหาการผลิตในระยะยาว การออกบัตรเครดิตชาวนาเพื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร แบบไม่คิดดอกเบี้ย และหักภาระหนี้เกษตรกรใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตออก จากนั้นก็จะจ่ายเงินกำไรส่วนที่เหลือให้แก่เกษตรกร การคืนระบบจำนำผลผลิตทางการเกษตร ในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท รวมถึงนโยบายแจกแท็บเล็ต (คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก) พร้อมเอดีเอสแอลและ wifi (อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงแหล่งข้อมูล และติดต่อสื่อสารกัน
“ทุกคนจะได้ประโยชน์จากนโยบายตั้งแต่เศรษฐีไปจนถึงคนระดับล่าง อย่างการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากับลดให้หน่วยธุรกิจเพื่อไปช่วยเหลือได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และย้ำว่าทำได้ทันที ทั้งหมดเพื่อไทยเชื่อว่าจะทำให้การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของไทยเกิดขึ้นได้”
นายพิชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่บอกว่าปัญหาราคาสินค้าแพงเป็นเรื่องต้องแก้ไขเห็นด้วยและเห็นว่าควรไปดูที่โครงสร้าง แต่ตั้งข้อสังเกตอย่างเรื่องน้ำมันปาล์ม ประชาธิปัตย์เก่งเรื่องนี้ทำมาตั้งแต่เด็กจนโต ยังแก้ไม่ได้ ปล่อยให้ขาดตลาด นั่นเพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่คุมไม่ได้ นโยบายใหม่ที่เพื่อไทยทำเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนเป็นภาคต่อที่มาจากไทยรักไทยเดิมที่แก้ปัญหาคนจนแล้ว วันนี้ต้องมองให้ไกลกว่าเดิม หากประชาชนคิดว่าประชาธิปัตย์ทำดีมีความสุขแล้วให้เลือกประชาธิปัตย์ แต่ถ้าทำไม่ได้เลือกเพื่อไทย และหากถามว่าบทเรียนที่ผ่านมาอะไรเป็นความล้มเหลวของ ขอวิจารณ์ตัวเองว่าเป็นเพราะทำได้ดีเกินไป จึงทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่พอใจ
ด้าน รศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า ทิศทางของนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจต้องเติบโตได้มากที่สุด 2.ทุกคนต้องได้ประโยชน์มากที่สุด 3.ทำอย่างไรไม่ให้ข้างของแพง และ 4.ต้องมีเสถียรภาพ ที่ผ่านมาค่อนข้างทำได้ดีเกือบทั้งหมด แต่ในข้อ 2 ไม่ค่อยบรรลุเป้าหมาย เพราะต้นตอจริงๆ คือไทยยังกระจายรายได้ไม่ดีเท่าทีควร เพราะไปมุ่งเน้นพัฒนาด้านที่เป็นผลให้เศรษฐกิจโต เหมือนลูกบอลที่เบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งแทนที่จะทำให้กลมเท่ากันทุกด้าน
“อีกข้อหนึ่งโครงสร้างการพึ่งพาต่างประเทศเรามีมากถึงร้อยละ 70 ขณะเดียวกันจีน อินเดีย เติบโตกว่าถึง 2 เท่า ตรงนี้ต้องเอามาเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจด้วย อีกส่วนหนึ่งคือการค้าเสรี ซึ่งอาจใช้ประโยชน์ได้หรือเตรียมการรับมืออย่างไร ถ้ามองแต่การพึ่งพาในประเทศอย่างเดียวคงยาก”
รศ.ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า สุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ประชาชน และธุรกิจ นโยบายที่เหมาะสม เพราะธุรกิจจะลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อมีกำไร ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ไม่มาก ยกตัวอย่างเรื่องค่าแรง หากจะขึ้นเงินเดือน ก็ต้องไปเน้นการเพิ่มศักยภาพแรงงานด้วย ไม่เช่นนั้นเอกชนจะเดือดร้อน สุดท้ายก็ไปผลักให้ราคาผลผลิตสูง รัฐบาลต้องตามไปแก้ที่กลไกตลาด ประชาชนเดือนร้อนอีก
“ประชานิยมหรือประชาวิวัฒน์ ควรทำแต่ต้องไม่เป็นภาระของประเทศ นโยบายที่สองพรรคเล่ามา ดีทั้งนั้นแต่ต้องคำนึงด้วยว่าหากจะหาปลาให้ประชาชนจะทำแบบหาให้ตลอด ซื้ออุปกรณ์จับปลาให้ หรือจะสอนให้รู้จักสร้างอุปกรณ์จับปลา อยากเห็นนโยบายที่พูดถึงระยะยาวและจัดลำดับความสำคัญ เพราะงบมีจำกัด อยากเห็นภาพนี้มากกว่า ที่สำคัญนอกจากนโยบายสวยหรูควรมีระบบการบริหารจัดการที่ดีด้วย”
ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์หลักง่ายๆ คืองบประมาณจำกัดต้องทำให้คุ้มค่าที่สุด ทั้ง 2 พรรคมีนโยบายรายละเอียดชัดเจน แต่ที่อดกังวลไม่ได้คือการบริหารประเทศเหมือนเลี้ยงลูก จะเลี้ยงด้วยเงินตลอดไปคงไม่ดีนัก ที่พรรคการเมืองพยายามตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็มีทั้งระยะสั้น กลาง และยาว แต่ที่นำเสนอประชาชนส่วนใหญ่พูดเฉพาะระยะสั้น
“ทุกข์สำคัญของประเทศคือของแพง รายได้ไม่พอแต่นั่นไม่ใช่ทุกข์ระดับหนึ่ง ทุกพรรคน่าจะพูดว่าระยะยาวจะมีการกระจายรายได้ได้อย่างไร นั่นคือทุกข์ลำดับต้นๆ ของประเทศ การพูดถึงประชานิยมเป็นการทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์เต็มที่และรวดเร็ว ไม่ได้มองว่าน่าเกลียดแต่ต้องควรทำประชานิยมแบบชาญฉลาด เพราะที่หลายคนห่วงคือประชานิยมคือการสร้างหนี้สาธารณะที่สุดท้ายประชาชนคือผู้แบกรับ” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว