ปฏิบัติการ คสช...คืนความสุขแด่คนชรา
“ทำไมคนชราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว”...จากคำถามสู่การหาคำตอบ ที่ฮากิม ตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อเจอภาพหญิงชรานั่งเหม่อคนเดียวหน้าบ้าน เมื่อครั้นลงพื้นที่ชุมชนสะพานดำ
ว่ากันว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากรายงานล่าสุดเมื่อเดือน ธันวาคมปี พ.ศ.2558 ธนาคารโลกระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ปานกลางและร่ำรวย กำลังเข้าสู่โหมดจะสูญเสียวัยแรงงานประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2583
น่าสนใจว่า หากเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา กลุ่มคนผู้สูงอายุที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น รัฐจะจัดสวัสดิการหรือเตรียมพร้อมรองรับพวกเขาอย่างไร ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานที่ต้องหาคำตอบ เพื่อนำมาซึ่งมาตรการรองรับกับปัญหาดังกล่าว
ทว่าหากมองกลับมาในสังคมโลกปัจจุบัน ปัญหาผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวมากนัก ในชุมชนสะพานดำเขตเทศบาลเมืองคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาพผู้สูงอายุที่นั่งเฝ้าบ้านอย่างโดดเดี่ยวมีให้เห็นทั่วไป อาจจะเป็นภาพชินตาของใครหลายคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้
แต่สำหรับกลุ่มเยาวชน Happy heart จากโรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วย นายวินิจ สามัน (ฮากิม) นายอาณัติ หลีนายน้ำ (ณัติ) นางสาวฮารีษะ หะยีอุมา (ชะ) นางสาวรอฮานี หมัดสะอิ(นี) และนางสาวคีรูลวาลีด๊ะ ยูโซะ(คีรูล)
พวกเขากลับมองว่า ภาพที่เห็นคือความโดดเดี่ยวในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ไม่ควรถูกมองข้าม จึงลุกขึ้นมาทำโครงการมอบความสุขแด่คนชราขึ้น ด้วยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการ “ปลดล๊อค” ความรู้สึกโดดเดี่ยว ให้กลายเป็นรอยยิ้มที่สดใส และการมีสุขภาพที่ดี
โครงการมอบความสุขแด่คนชรา เป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
“ทำไมคนชราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว”...จากคำถามสู่การหาคำตอบ ที่ฮากิม ตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อเจอภาพหญิงชรานั่งเหม่อคนเดียวหน้าบ้าน เมื่อครั้นลงพื้นที่ชุมชนสะพานดำ ซึ่งเป็นการหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ จำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว อาหารการกิน รวมไปถึงสภาพร่างกายและจิตใจ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการทำสื่อในโครงการนั่นเอง
เหตุผลของการเลือกพื้นที่ดังกล่าว ฮากิม ระบุว่า เพราะอาณัติซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นคนในชุมชนนี้ ขณะเดียวกันชุมชนสะพานดำอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก สะดวกทั้งการเดินทางและการประสานงาน โดยมีม๊ะหรือแม่ของอาณัติเป็นคนติดต่อผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
ทางทีมวางแผนลงพื้นที่เพื่อดูบริบทชุมชนโดยเจาะจงบ้านทั้งหมด 20 หลังคาเรือน ฮากิมให้เหตุผลว่า สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และเป็นกรณีศึกษาสำหรับบ้านที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจริงๆ
ทั้งนี้ ก่อนที่จะลงพื้นที่จริงฮากิมและเพื่อนๆ ไปดูงานที่สถานสงเคราะห์คนชรา จ.สงขลา เพื่อขอข้อมูลความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้สูงอายุ เรื่องอาหารการกิน การดูแลด้านร่างกายและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ
“ที่ไปที่นี่ เพราะตั้งใจอยากจะไปดูการทำกิจกรรม แต่เมื่อไม่มีการทำกิจกรรม ก็ได้เรียนรู้เรื่องอาหารการกินของคนชรา ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาหารจะปรุงอาหารให้ทุกคนกินเหมือนกัน โดยเจ้าหน้าที่อธิบายถึงรายละเอียดให้ฟังว่า ผู้สูงอายุควรกินอาหารอย่างไรไม่ให้กระทบกับโรคประจำตัวของแต่ละคน นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้การปรับตัวในการเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุว่าแต่ละคนมีนิสัยไม่เหมือนกัน ซึ่งพอได้เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ได้ทราบปัญหาของเขา เช่น ลูกหลานทิ้ง สามีเสียชีวิต อยู่คนเดียวบ้าง ซึ่งวันนั้นที่เข้าไปนั่งคุยกับผู้สูงอายุเขาจะเล่าเรื่องราวของเขาเอง เหมือนบางคนเขาเหงา พอเราเข้าไปคุยด้วยเขาก็จะเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง ดูสีหน้าเขามีความสุขที่ได้พูดคุยเล่าเรื่องในอดีต” ฮากิมสะท้อนประสบการณ์
เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอกลุ่มเยาวชน จึงรวบรวมมาจัดทำสื่อมอบให้ผู้สูงอายุ โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกาย อาหารการกิน ซึ่งมีข้อปฎิบัติมากมายที่พึงตระหนัก เช่น อาหารการกิน การปรุงอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด การระมัดระวังถึงใช้ชีวิตประจำวันอย่างการขึ้นลงบันไดของผู้สูงอายุ การเข้าห้องน้ำที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เป็นต้น โดยพบว่าโรคประจำตัวของผู้สูงอายุที่มักจะพบทั่วไปนั่นคือ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดัน
ฮากิม เล่าว่า โครงการมอบความสุขแด่คนชรา เป็นโครงการที่ทางกลุ่มตั้งใจทำขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขภายใต้คอนเซปต์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ด้วยการลงพื้นที่พบปะพูดคุยเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับเยาวชนโดยไม่มีช่องว่างระหว่างวัย และหวังว่าโครงการนี้สามารถสร้างรอยยิ้ม รวมทั้งเป็นการเสริมความรู้ให้คนชราเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน
นอกจากการมอบสื่อแก่ผู้สูงอายุแต่ละหลังแล้ว ทางกลุ่มยังติดตามความคืบหน้าโครงการด้วยการเก็บข้อมูลและทำแบบสอบถามกับลูกหลานที่ดูแล รวมถึงผู้สูงอายุ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวก่อนและหลังการใช้สื่อ ซึ่งจากแบบสอบถามส่วนใหญ่ผู้สูงมีการปรับตัวและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร งดอาหารทอด อาหารมัน รวมทั้งมีสภาวะจิตใจที่สดชื่น แจ่มใส เบิกบาน พูดคุยกับคนรอบข้างและออกกำลังกายง่ายๆตามแบบสื่อที่ไว้ได้มากขึ้น
ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกส่งมอบจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องแล้ว โดยได้ดึงเยาวชนรุ่นน้องในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งหมด 20 คน คละอายุ คละชั้นทั้ง ม.ต้นและ ม.ปลาย เพื่อสานต่อปณิธานของรุ่นพี่ที่ต้องการสร้างรอยยิ้มให้ผู้สูงวัยต่อไป โดยกลุ่มเยาวชน Happy heart ระบุว่า หากไม่มีรุ่นน้องมาสานต่อโครงการดังกล่าว สิ่งที่ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นเท่ากับสูญเปล่า ขณะเดียวกันกิจกรรมที่จัดขึ้นกับผู้สูงอายุก็จะหยุดชะงักลง ซึ่งการสานต่อของรุ่นน้องทำให้โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อไปเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น