ส.นักกฎหมายสิทธิฯ จี้รัฐค้นความจริง ปมสังหาร 'สุพจน์ กาฬสงค์' เเกนนำคลองไทรพัฒนา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจี้หน่วยงานยุติธรรมเร่งค้นหาความจริง ปมลอบสังหาร 'สุพจน์ กาฬสงค์' เเกนนำชุมชนคลองไทรพัฒนา บาดเจ็บ คาดชนวนต้นเหตุขัดเเย้งทวงสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) แถลงการณ์กรณีการลอบสังหารนายสุพจน์ กาฬสงค์ แกนนำชุมชนคลองไทรพัฒนา และพยานสำคัญในคดีสังหารนายใช่ บุญทองเล็ก มีรายละเอียดว่า
สืบเนื่องจากวันที่ 8 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 14.30 น. เกิดเหตุลอบยิงนายสุพจน์ กาฬสงค์ แกนนำชาวชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้และพยานสำคัญในคดีสังหารนายใช่ บุญทองเล็ก โดยกลุ่มมือปืนไม่ทราบจำนวน ทำให้นายสุพจน์ กาฬสงค์ ได้รับบาดเจ็บ กระสุนฝังในจำนวน 8 นัด
ชุมชนคลองไทรพัฒนา เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินเขต ส.ป.ก. ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ใช้ปลูกปาล์มน้ำมันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งชุมชนได้เรียกร้องให้รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้กับเกษตรกร แต่การดำเนินการที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปที่ดินดังกล่าว ทำให้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้รับการแก้ไข และก่อให้เกิดความรุนแรงตามมาหลายครั้ง ทั้งการข่มขู่ การใช้อิทธิพลมืดเล่นงานชาวบ้านและการสังหาร โดยที่ผ่านมีสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ถูกสังหารไปแล้วถึง 4 คน ได้แก่ 1) นายสมพร พัฒภูมิ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2553 คดียังไม่มีความคืบหน้า 2) นางมณฑา ชูแก้ว และ 3. นางปราณี บุญรักษ์ ถูกซุ่มยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 คดียังไม่มีความคืบหน้า และ 4) นายใช่ บุญทองเล็ก ถูกคนร้าย 2 คนยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558
สำหรับกรณีของนายใช่นี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ฝ่ายผู้เสียหายด้วย โดยพบว่าในชั้นสอบสวนมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาจำนวน 3 คนคือผู้ขับขี่จักรยานให้มือปืน มือปืนที่ลงมือยิง และผู้จ้างวาน แต่ในชั้นพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ให้มือปืน ทำให้ผู้ต้องหาอีก 2 คน ที่ร่วมกระทำความผิดซึ่งเป็นมือปืนและผู้จ้างวานยังคงไม่ได้ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็พึงมีคำพิพากษายกฟ้องคดีของนายใช่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์
การลอบยิงนายนายสุพจน์ครั้งนี้ จึงถือเป็นการลอบยิงชาวชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นรายที่ 5 แล้ว โดยเขายังมีฐานะเป็นพยานโจทก์ปากสำคัญในคดีสังหารนายใช่ บุญทองเล็ก ที่ศาลพึงยกฟ้องไปด้วย ดังนั้น การลอบสังหารครั้งนี้นอกจากจะเป็นการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังถือเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมไม่ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การคุกคามและสังหารชาวบ้านที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาโดยดำเนินการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง อีกทั้งไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองหรือชุมชน และที่สำคัญคือเมื่อเกิดการสังหารหรือคุกคามขึ้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างประสิทธิภาพในการที่จะนำผู้กระทำความผิดเข้ามารับผิดชอบอย่างเหมาะสมได้ การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้การข่มขู่ คุกคาม และสังหารประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องสิทธิดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาหรือป้องกันการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดย
1. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ทั้งหน่วยงานตำรวจ หน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และอัยการร่วมมือกันในการค้นหาความจริงอย่างจริงจัง โดยเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพต่อการลอบสังหารนายสุพจน์ในครั้งนี้และการสังหารสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนารายอื่นๆที่ผ่านมา
2. ในระยะต่อไป ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พิจารณารับคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุกคามและสังหารสมาชิกชาวชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นคดีพิเศษ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นมีการคุกคามและสังหารชาวบ้านมาแล้วหลายราย อีกทั้งเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง การดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีปกติที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ทำให้การคุกคามและลอบสังหารยังคงดำเนินต่อไป โดยนายสุพจน์ถือเป็นรายที่ 5 ที่ถูกลอบสังหาร
3. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดิน โดยเฉพาะสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อไป เพราะจะยิ่งทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะโดนคุกคามหรือสังหารเพิ่มขึ้น
ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)