ล้วงเกม สนช.-สปท.ถามพ่วงให้รัฐสภาโหวตนายกฯ-ต่อทอดอำนาจ คสช.?
“…อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมกันว่า ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาไขว้อาชีพกันเอง 50 คน และจากการแต่งตั้งของ คสช. จำนวน 200 คน และมี ผบ.ทุกเหล่าทัพเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างครบถ้วน จึงค่อนข้างทรงอิทธิพลพอสมควร จึงมีโอกาสค่อนข้างมากว่า ส.ส. และ ส.ว. จะดำเนินการดังกล่าวเปิดโอกาสให้เลือกคนนอกเข้ามา พร้อมกันกับที่ ส.ว. ก็มีโอกาสในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย…”
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันแล้ว !
ภายหลัง ’21 อรหันต์’ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ‘ปิดจ็อบ’ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น พร้อมส่งให้คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปพิจารณาเตรียมแจกจ่ายประชาชนตัดสินใจก่อนการทำประชามติ ‘รับ-ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ด้วยคำอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ ?
ขณะเดียวกันที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสนอให้มีคำถามพ่วงการทำประชามติดังกล่าวด้วย โดยเสนอว่า ในช่วงเวลา 5 ปีแรก ให้ที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และนำเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
ล่าสุด สนช. มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติให้กับ กกต. โดยเห็นพ้องกับ สปท. คือ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จากเดิมที่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เฉพาะ ส.ส. เป็นคนโหวตเท่านั้น
ด้วยเหตุผลที่ว่า ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีก
ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากฝ่ายการเมืองล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นฟากเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ก็ตาม ต่างออกมาโต้แย้งมติดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลักคือ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกของ ส.ส. เท่านั้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหมากเกมนี้ของ คสช.-สนช.-สปท. อาจเป็นไปได้ว่า เปิดช่องให้มีการโหวตนายกฯคนนอกเข้ามา ?
เป็นได้อย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาให้เห็นกันดังนี้
หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะมีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญทันทีว่า ในช่วง 5 ปีแรกให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมาตรา 88 ระบุทำนองว่า ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อ กกต. และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อก็ได้
หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจาก 3 รายชื่อดังกล่าว โดยที่ประชุมรัฐสภาโดยใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง (มี ส.ส. 500 คน มี ส.ว. 250 คน)
อย่างไรก็ดีหากไม่อยากเลือกบุคคลใน 3 รายชื่อดังกล่าวของ ส.ส. เสียงข้างมากในสภา กรธ. กำหนดทางออกไว้ว่า ให้ ส.ส. สามารถเข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ประชุมร่วมกับ ส.ว. กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา
เท่ากับว่า หาก ส.ว. ไม่พึงพอใจกับ 3 รายชื่อของบุคคลที่จะให้เลือกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถคุยกับฟาก ส.ส. ที่เป็นเสียงข้างน้อยให้ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้
และหากเป็นเช่นนั้นก็จะเปิดทางให้ ‘คนนอก’ สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยปริยาย
อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมกันว่า ส.ว. ทั้งหมดมาจาการสรรหาไขว้อาชีพกันเอง 50 คน และจากการแต่งตั้งของ คสช. จำนวน 200 คน และมี ผบ.ทุกเหล่าทัพเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างครบถ้วน จึงค่อนข้างทรงอิทธิพลพอสมควร
จึงมีโอกาสค่อนข้างมากว่า ส.ส. และ ส.ว. จะดำเนินการดังกล่าวและเปิดโอกาสให้เลือกคนนอกเข้ามา พร้อมกันกับที่ ส.ว. ก็มีโอกาสในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ทำให้แม้ว่าพรรคฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องยอมจับมือกับ ส.ว. หากอยากได้นายกรัฐมนตรีอย่างที่ต้องการ
แต่ถ้าไม่ ! พรรคเสียงข้างน้อยอาจจับมือกับ ส.ว. เพื่อ ‘ล้ม’ คนที่จะมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของฝ่ายเสียงข้างมาก และ ‘เชิญ’ คนนอกเข้ามานั่งเก้าอี้แทน ก็ย่อมเป็นไปได้
ขณะเดียวกันในบทเฉพาะกาลก็ระบุไว้ชัดเจนว่า สมาชิก คสช. สนช. สปท. หรือแม้แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะได้รับการงดเว้นเงื่อนไขเว้นวรรคการเมือง 2 ปี และสามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี หรือกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้ทั้งหมด
ดังนั้น ‘คนนอก’ จะเป็นใคร-ฝ่ายไหน คิดว่าเดากันได้อยู่แล้วไม่ยาก ?
แต่จะเป็นจริงตามหมากเกมนี้หรือไม่ ต้องลุ้นให้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านเสียก่อน !
อ่านประกอบ :