โพลล์ระบุแรงงาน 73%ชักหน้าไม่ถึงหลัง เอกชนตอบรับขึ้นค่าแรงงตามฝีมือ
หอการค้าชี้ขึ้นค่าแรงตามฝีมือทางออกปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำ ได้ประโยชน์ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ม.หอการค้าเผยแรงงานไทย 90% มีหนี้ เฉลี่ยครัวละเกือบ 9 หมื่นต่อปี 73%ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 9บาทต่อวัน
วันที่ 29 เม.ย.54 ที่กระทรวงแรงงาน นางจิราภรณ์ เกสรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) แถลงข่าว“กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ”ว่าตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้นำประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 11 สาขาอาชีพระกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน กพร.จึงเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพฝีมือแรงงาน โดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของหน่วยงานอื่ 184 แห่ง เป็นสถานที่ทดสอบ
นางจิราภรณ์ กล่าวว่า กพร.ได้กำหนดค่าธรรมเนียมในการทดสอบ คือระดับ 1 จ่าย 100 บาท ระดับ 2 จ่าย 150 บาทและระดับ 3 จ่าย 200 บาท ซึ่งจนถึงปี 2553 มีผู้เข้าร่วมทดสอบแล้วกว่า 6 หมื่นคน โดยผ่านการทดสอบ 4.8 หมื่นคน คาดว่าในปี 2554 จะมีผู้ขอรับการทดสอบประมาณ 2 หมื่นคน
ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวว่าการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครั้งนี้จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเมื่อแรงงานมีฝีมือก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการพาลูกจ้างมารับการทดสอบ เนื่องจากทุกๆปีต้องประสบปัญหาการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว และทุกครั้งที่มีการเรียกร้องก็จะเกิดแรงกระเพื่อมเพราะไม่สามารถปรับได้ตามความเป็นจริงของสังคม ทั้งๆที่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก
ด้านนายชุมพล พรประภา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่าการออกมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการบังคับ เพราะหากสถานประกอบการไม่พาลูกจ้างไปทดสอบฝีมือก็ไม่มีปัญหาอะไร และมาตรการนี้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่นำมาใช้ ซึ่งควรจะทำมานานแล้วเพราะไทยขาดแคลนแรงงานมานับสิบปี วันนี้อำนาจการต่อรองอยู่ในมือลูกจ้าง แต่เมื่อออกมาตรการนี้มา การต่อต้านจากเอกชนน้อยลง
นายชุมพล กล่าวว่าในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงแรงงานเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการก่อน เพราะบางส่วนยังเข้าใจผิดคิดว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งหากทั้งลูกจ้างและภาคธุรกิจเห็นว่าได้ประโยชน์ด้วยกันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และหลังจากนี้สภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ต้อง เร่งทำความเข้าใจกับสมาชิกด้วย โดยเรื่องนี้คงต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้ใช้แรงงานเข้มข้น ต้นทุนน้อย และปรับตัวช้า ภาครัฐอาจต้องเข้าไปช่วยให้เงินสนับสนุนในการยกระดับมาตรฐานฝีมือ เช่น คิดค่าบริการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงานในอัตราที่ถูกลง หรือนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
นายชุมพล ยังกล่าวว่าการกำหนดมาตรฐานอาชีพเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับแรงกดดันลดลง ส่วนที่รัฐบาลบอกจะลดภาษีให้สถานประกอบการเป็นเรื่องดี ขึ้นอยู่กับว่าจะลดเท่าไร ตอนนี้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีร้อยละ 30 หากลดเหลือร้อยละ 17-18 ก็ไม่มีปัญหา
“ผมเชื่อว่าค่าแรงคงต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะเงินเฟ้อในไตรมาส 1-2 ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่รัฐบาลต้องปล่อยลอยตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และรัฐบาลก็ไม่สามารถคุมราคาสินค้าแต่ละตัวไว้ได้ ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ” นายชุมพล กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่างระหว่าง 20-27 เม.ย.54พบว่าแรงงานกว่า 37.2% เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมีความเหมาะสมน้อย 35.3% เห็นว่าเหมาะสมปานกลาง 13.7%เห็นว่าไม่เหมาะสม โดยคิดว่าค่าแรงขั้นต่ำควรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 9 บาทต่อวัน โดย 45.4% ตอบว่าควรปรับขึ้นทันที 41.4% ให้ปรับขึ้นอีกครั้งปีนี้ 14.2%ให้ปรับขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ส่วนลักษณะการเปลี่ยนแปลงค่าแรงขั้นต่ำ 70.3%ต้องการให้ปรับค่าแรงเป็น 300 บาทภายใน 2ปี 24.1%ให้เพิ่มขึ้น 25%ภายใน 2ปี และ 5.6%ให้ปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด
สำหรับสถานภาพของแรงงานไทย 88.4%มีภาระหนี้ ส่วนใหญ่กู้เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล และซื้อที่อยู่อาศัย เฉลี่ยมีหนี้สิน 8.76หมื่นบาทต่อครัวเรือน ผ่อนชำระ 5,263บาทต่อเดือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 53.3%ผ่อนชำระ 4,418บาทต่อเดือน และนอกระบบ 46.7%ผ่อนชำระ 4,097บาทต่อเดือน โดย 69.3%มีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ และ 30.7%ไม่มีปัญหา
เมื่อเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่อรายได้ ปัจจุบันแรงงาน 64.8%มีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น และ 34.3%มีหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนในอนาคตแรงงาน 55.6%คิดว่าจะมีหนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 37.4% คิดว่าจะมีหนี้เพิ่มขึ้นเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นและ 7% คิดว่าจะมีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้านสถานภาพทางการเงินของแรงงาน 73.3%มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพง และรายได้ลดลง ซึ่งแรงงานแก้ปัญหาโดย 34.5%ขายและจำนำสินทรัพย์ 32.6%กู้ยืม 24.2%ขอความช่วยเหลือจากญาติที่น้อง 8.7%นำเงินออมมาใช้
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ อันดับ 1 ได้แก่ดูแลค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่จำเป็น อันดับที่ 2เพิ่มสวัสดิการแรงงาน อันดับที่ 3เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อันดับ 4ดูแลช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ และอันดับ 5ความมั่นคงในหน้าที่การงาน วันลาหยุด
นายธนวรรธน์ กล่าวว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะยาว แต่รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้ถูกช่วงเวลาและให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายด้วย โดยต้องดูความพร้อมของนายจ้าง พร้อมๆกับพัฒนาทักษาแรงงานควบคู่ไปด้วย รวมทั้งต้องมีการลดภาษีเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของภาคเอกชน และรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะไทยจะไม่มีความได้เปรียบเรื่องแรงงานขั้นต่ำแล้ว .