เอ็นจีโอลั่นเห็นชอบร่างรธน. เท่ากับยอมรับอำนาจที่ไม่ถูกต้อง
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่าร่างรธน.ขัดหลักการสิทธิเสรีภาพ ลดทอนการมีส่วนร่วมปชช. ทำระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา ลั่นหาก"เห็นชอบ"เท่ากับยอมรับอำนาจที่ไม่ถูกต้องแนะนำรธน.ปี 50มาบังคับใช้
วันนี้(7เม.ย.) ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รัชดาภิเษก 14 กลุ่มสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้เปิดเวทีแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ โดยนายไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิชุมชน และความเสมอภาคระหว่างบุคคล ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวก แต่หลักการพื้นฐานเรื่องการใช้อำนาจรัฐที่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับไม่มี การยกสิทธิบางประเภทเป็นหน้าที่ของรัฐ หมายความว่าสิทธิจะเกิดต่อเมื่อรัฐทำให้เกิด ซึ่งต่างกับแนวคิดเดิมที่สิทธิต้องเกิดทันทีเมื่อสถาปนารัฐธรรมนูญ
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นที่มา ส.ส.จำกัดเจตนารมณ์ของประชาชนบังคับให้เลือกบัตรใบเดียว ที่มา ส.ว.โดยเฉพาะชุดสรรหา 5 ปีแรก มีอำนาจเลือกกรรมการองค์กรอิสระซึ่งเป็นหัวใจของการถ่วงดุล เชื่อว่าจะมีบทบาทสูง นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยให้เข้าชื่อเสนอได้เฉพาะหมวดสิทธิและเสรีภาพหรือหมวดหน้าที่ของรัฐ ไม่บัญญัติสิทธิการลงประชามติ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นยังไม่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระ กลับมีการบัญญัติให้ทำหน้าที่ชี้แจงแทนรัฐซึ่งขัดกันกับการเป็นองค์กรอิสระ
เขา เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถนำพาสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับว่าเรายอมรับอำนาจที่ไม่ถูกต้อง การที่เราไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญเท่ากับว่าเราไม่ยอมรับอำนาจแบบนี้ อย่าลืมว่ามาตรา 279 จะยอมรับอำนาจทั้งหมดให้อยู่ต่อไปกับเรา ถ้าเราไม่ยอมรับเราต้องแสดงออกโดยประชามติ ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญและตัวคนใช้อำนาจ คสช.ต้องบอกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมีทางเลือกอะไรให้บ้าง ซึ่งไม่เคยพูด
"ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างน้อยก็ผ่านประชามติมามีความชอบธรรม ควรจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าต่อไปในอนาคต ถ้าคุณไม่สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ปิดปากคนที่เห็นต่างจะยิ่งตึงเครียด คุณไม่สามารถกดวิญญาณการต่อสู้ของคนได้ ถ้าไม่พูดจะนำไปสู่การเผชิญหน้าอีกรอบ ซึ่งสังคมไทยไม่ปรารถนาทางเลือกแบบนั้น" นายไพโรจน์ กล่าว
ขณะที่ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม จะทำให้เกิดการแข่งขันในระดับเขตสูงมาก จึงเป็นการแข่งขันที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค ทั้งยังมีการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐให้รัฐบาลปฏิบัติตาม การที่คะแนนเลือกตั้งเฉลี่ยกันไปจะทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค จะเป็นรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง แต่มีหน้าที่ของรัฐเข้มข้น ขณะที่การกระจายอำนาจถอยหลังกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นการไม่ระบุหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจำกัดสิทธิเสรีภาพสามารถทำได้หากกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจน โดยภาพรวมจึงจำกัดและไม่ส่งเสริมการเติบโตของการเมืองภาคพลเมือง
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กล่าวถึงประเด็นธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในร่างรัฐธรรมนูญว่า มีความถอยหลังกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากเอาสิทธิชุมชนไปปนกับสิทธิบุคคล ต่างจากเดิมที่แยกออกมาชัดเจน กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมก็อ่อนในด้านการบังคับใช้ กฎหมายป่าไม้ก็ละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วม ซึ่งยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข อีกทั้งการบัญญัติให้คำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำสั่งบางฉบับก็กระทบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กล่าวถึงประเด็นสิทธิในด้านสาธารณสุขในร่างรัฐธรรมนูญว่า การบัญญัติว่าบุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น ถ้าจะใช้สิทธิต้องไปชี้แจงว่าจนอย่างไรถึงใช้สิทธิได้ การเขียนอย่างนี้ไม่เข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่างจากร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เขียนให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเสมอหน้า ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กล่าวว่า กรธ.ไม่เข้าใจระบบประกันสุขภาพว่ารัฐเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ จ่ายประกันสังคมเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ และไม่รองรับสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในประเด็นนี้อยากให้ใช้แบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เขียนเรื่องสาธารณสุขไว้ดีมาก ทั้งนี้ ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีมาตรฐานใดๆ เป็นฉบับอำนาจนิยมของ คสช. ไม่สามารถไปเทียบกับที่ฉบับอื่นที่เคยมีได้เลย
นางสุนี ไชยรส กล่าวว่า ประเด็นหลักคือ คสช.ต้องเปิดเสรีภาพในการวิจารณ์ ถ้าไม่เปิดเท่ากับปิดตายประชามติในการกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าบิดเบี้ยวก็ส่งผลต่อกฎหมายฉบับอื่นๆ และการบังคับใช้ตีความ แม้จะมีการแก้ไขแล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ปัญหาไม่ใช่มีแต่นักการเมือง ต้องรวมถึงข้าราชการและกลุ่มทุนด้วย หากไม่ให้อำนาจประชาชนก็ปราบโกงไม่ได้
จากนั้น นายไพโรจน์ ในฐานะตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป แถลงจุดยืนว่าข้อเสนอของทางสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปคือ 1.การลงประชามติต้องเป็นเหตุเป็นผลของประชาชนทั้งประเทศ ต้องปราศจากการข่มขู่คุกคามจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงแต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยไปจากเดิมเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐมีอำนาจเพิ่มขึ้น บทเฉพาะกาลยังให้ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกประกาศลดทอนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีผลผูกพันรัฐบาลและรัฐสภาไม่ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ได้ และ 3.คำสั่ง คสช. ถูกรับรองโดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งจะมีผลระยะยาวในอนาคต จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
"ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เห็นด้วย เราจึงเห็นว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการรับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรารับไม่ได้ ดังนั้นเรายืนยันที่จะรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วไปต่อไป ในฐานะสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป จะรณรงค์ให้ศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเต็มที่ต่อไป ถ้าจะมีการพิจารณาทางเลือก ควรเอารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวตั้งเพื่อพิจารณา" นายไพโรจน์ กล่าว.
ขอบคุณข่าวจาก