รายงาน PERC เผยคะแนนคอร์รัปชั่น เหตุใดไทยถึงแย่กว่าเดิม
รายงานผลการประเมินความเสี่ยงการคอรัปชั่นในภาคธุรกิจและนักการเมือง ประจำไตรมาสแรกของปี2016 พบประเทศไทยยังอยู่ลำดับท้ายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอัตราการคอรัปชั่นลดลงถึง 5% ส่วนสิงคโปร์รั้งอันดับ 1 มาตลอดหลายปี
ขณะที่โลกกำลังสั่นสะเทือนกับข้อมูลลับ ปานามา เปเปอร์ ที่บรรดาเศรษฐี ผู้นำประเทศ รวมไปถึงคนดังของโลกถูกจับตามอง และถูกตรวจสอบอย่างหนักจากทั้งนักข่าวเองและองค์กรตรวจสอบภายในประเทศ จนล่าสุดนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังพบว่า ภรรยาของเขาถือหุ้นในบริษัทนอกอาณาเขต Offshore เพื่อเลี่ยงภาษี
ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน Political & Economic Risk Consultancy (PERC) รายงานผ่านเว็ปไซด์ asiarisk.com ถึงผลสำรวจความเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นในภาคธุรกิจและนักการเมืองในประเทศเอเชีย และออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ผ่านการสัมภาษณ์สอบถาม ทั้งแบบสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ใช้อีเมล์ในการสอบถาม เหล่านักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศต่างๆ จำนวนกว่า 1,742 คน ผ่านคำถามแบบเดียวกันว่า “คุณจะให้คะแนนภาวะการคอรัปชั่นในประเทศที่คุณทำงานอยู่เท่าไร” โดยให้คะแนนยอดเยี่ยมที่สุด หรือไม่มีการคอรัปชั่น คือ 0 ไล่ไปถึงยอดแย่สุดที่ 10
การสำรวจไตรมาสแรกปี 2016 พบ ผลคะแนนแย่ลงเกือบทุกประเทศ ประมาณ 1-5% มีประเทศเดียวที่สามารถลดอัตราการคอรัปชั่นได้ดีกว่าปีก่อน นั่นคือ ฟิลิปปินส์ ที่มีความเสี่ยงของการคอรัปชั่นลดลงถึง 5%
ทั้งยังพบว่า คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าการคอรัปชั่นในประเทศนั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนๆ มากนัก
สิงคโปร์ อยู่ในอันดับ 1 ประเทศที่มีคะแนนความเสี่ยงคอร์รัปชั่นต่ำสุด ส่วนของประเทศไทยไทยมีคะเเนนคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ได้ 6.88 มาเป็น 7.67
เรียกว่า อันดับของไทยแย่กว่า ฟิลิปปินส์
ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่ทำคะแนนดีขึ้น นั่นก็คือ ตัวผู้นำประเทศสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ได้ เนื่องจากนาย Benigno Aquino ประธานาธิบดีคนล่าสุด พยายามรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองโปร่งใส และตั้งใจกับการขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไป เหล่าพรรคคู่แข่งไม่มีการแสดงท่าที หรือโจมตีถึงพฤติกรรมการคอรัปชั่น มากเท่าประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้านี้ จึงถือว่านาย Aquino สามารถสร้างความเชื่อมั่นขึ้นแก่ประชาชนของตัวเองได้ในวงกว้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงเเล้ว ปัญหาการคอรัปชั่นในฟิลิปปินส์นั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อก่อนเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านนโยบายสาธารณะ หรือปัญหาจากภาคเอกชน เช่นการธนาคาร อุตสาหกรรม ภาคการเกษตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าว ระบุอีกว่า การที่นาย Aquino มีท่าที และพฤติกรรม มือสะอาด ก็ช่วยสร้างความน่าเชือถือกลับมาได้ และนั่นก็ส่งผลให้คะแนนของฟิลิปปินส์ในปีนี้ดีขึ้นกว่าทุกประเทศ ทั้งยังพบว่า คะแนนดีขึ้นมาโดยตลอด 4 ปีที่่ผ่านมา
ส่วนประเทศไทย ในรายงานระบุว่า ช่วงปีนี้แม้ผลคะแนนคอร์รัปชั่นจะดูแย่กว่าปีก่อน แต่ยังดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 2557 ที่มีคะแนนสูงถึง 8.25
ส่วนการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การทำรัฐประหาร ซึ่งประกาศตัวเองว่าจะเข้ามาจัดการปัญหาคอรัปชั่นในประเทศ รวมถึงปฏิรูปประเทศจากรัฐบาลเลือกตั้ง ขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต่างคาดหวังว่า การเข้ามาครั้งนี้จะช่วยทำให้ปัญหาภายในต่างๆ ดีขึ้น มีการดำเนินการจับกุมผู้มีอิทธิพลระดับสูง รวมไปถึงการออกแคมเปญมากมายเพื่อรณรงค์การต่อต้านคอรัปชั่น
แต่ในท้ายที่สุดช่วงปีที่ผ่านมา ผลงานของรัฐบาลกลับไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังจากเริ่มมีปัญหาการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่แม้ว่าทางผู้นำระดับสูงจะออกมายืนยันผลการตรวจสอบว่า ไม่มีการทุจริตก็ตาม แต่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยกองทัพเอง ก็สร้างความเคลือบแคลงใจไปในสังคมวงกว้าง
ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา ยังมีการสืบสวนพบ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมไปถึงทหารระดับสูงมีส่วนพัวพันในคดีค้ามนุษย์ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย เป็นต้น มีการฟ้องร้องมากมาย แต่คดีก็ยังไม่คืบหน้า
ในขณะที่รัฐบาลทหารก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากเหล่า เอ็นจีโอ รวมไปถึงภาคประชาสังคมถึงการดำเนินนโยบาย การใช้กฎอัยการศึก ความไม่มีอิสระขององค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทหาร
หากมองในด้านบวกของไทย เหล่านักธุรกิจส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทหารชุดนี้จะสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาลพลเรือน สอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า อัตราการติดสินบนของเอกชนที่มีต่อรัฐ มีอัตราที่ลดลงกว่าปีก่อน 1-15%
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงไตรมาสแรกของปี คงรอดูต่อไปว่าไตรมาสที่เหลือรัฐบาลคสช.จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือกลับมา ให้สมกับที่ท่านผู้นำ คสช. เคยปรารภไว้หรือไม่