'อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุฯ' ทำสถิติประหารชีวิตทั่วโลกพุ่งรอบ 25 ปี
จีน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย ยังคงลงโทษประหารชีวิตบุคคลสำหรับความผิดต่าง ๆ รวมทั้งการค้ายาเสพติด คอรัปชั่น “การมีชู้” และ “การหมิ่นศาสนา” ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิด “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” เท่านั้น
ปี 2558 การประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ สถิติสูงสุดในรอบกว่า 25 ปี
• การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก นับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ในรอบกว่า 25 ปี
• เกือบ 90% ของทั้งหมดการประหารชีวิตที่บันทึกได้เกิดขึ้นในสามประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย
•นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท โดยในปี 2558 มีสี่ประเทศที่ประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิต
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตทั่วโลกพบว่า ปี 2558 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการประหารชีวิต ทำให้มีประชาชนถูกประหารชีวิตมากที่สุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา โดยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอิหร่าน ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย
ในปี 2558 มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 1,634 คน เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับเป็นสถิติสูงสุดที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ไม่รวมจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตในจีน ซึ่งคาดว่ามีอยู่หลายพันคน แต่ทางการจีนเก็บข้อมูลการประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ตัวเลขการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ปี 2558 มีผู้คนทั่วโลกถูกประหารชีวิตมากที่สุดในรอบ 25 ปี รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงพรากชีวิตประชาชนโดยใช้ข้ออ้างอย่างผิดๆ ว่า โทษประหารชีวิตทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น
“อิหร่าน ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย ประหารชีวิตประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม การสังหารชีวิตผู้คนเช่นนี้ต้องยุติลง แต่ยังโชคดีที่ประเทศซึ่งประหารชีวิตประชาชนยังคงเป็นประเทศส่วนน้อยและมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกต่างหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต"
เลขาธิการแอมเนสตี้ ชี้ว่า ในปี 2558 มี 4 ประเทศที่ยกเลิกบทลงโทษอันแสนป่าเถื่อนออกจากกฎหมายอย่างสิ้นเชิงแล้ว
ตัวเลขการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาจากประเทศอิหร่าน ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย การเพิ่มจำนวนของการประหารชีวิตทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสามประเทศ ซึ่งมีตัวเลขรวมสูงถึง 89% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในปี 2558 (ยกเว้นจีน)
ปากีสถานยังคงเร่งประหารชีวิตบุคคลอย่างต่อเนื่อง หลังจากยกเลิกข้อตกลงชั่วคราวในการพักการประหารชีวิตประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 320 คนถูกส่งเข้าแดนประหารในปี 2558 ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงสุดที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้สำหรับกรณีประเทศปากีสถาน ฃ
อิหร่าน ประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 977 คนในปี 2558 เปรียบเทียบกับอย่างน้อย 743 คนเมื่อปีก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่เป็นความผิดในคดียาเสพติด อิหร่านยังเป็นหนึ่งในประเทศสุดท้ายของโลกที่ประหารชีวิตเยาวชนผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในปี 2558 ได้มีการประหารชีวิตเยาวชนที่กระทำความผิดขณะมีอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างน้อยสี่คน
ในซาอุดีอาระเบียการประหารชีวิตเพิ่มขึ้น 76% เปรียบเทียบกับปี 2557 โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 158 คน ส่วนใหญ่เป็นการตัดคอ แต่ทางการได้ใช้วิธียิงเป้าอยู่บ้าง และบางทีมีการนำร่างกายของบุคคลที่ถูกประหารชีวิตไปแสดงต่อสาธารณะด้วย
จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกบางประเทศเช่นกัน ได้แก่ อียิปต์และโซมาเลีย
ในปี 2558 การประหารชีวิตเกิดขึ้นใน 25 ประเทศเพิ่มขึ้นจาก 22 ประเทศในปี 2557 และมีอย่างน้อยหกประเทศที่ไม่ประหารชีวิตใครเลยในปี 2557 แต่กลับประหารชีวิตประชาชนในปี 2558 รวมทั้งชาด ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ
ประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุดห้าอันดับแรกของโลกในปี 2558 ได้แก่ จีน อิหร่าน ปากีสถานซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ตามลำดับ
หลายประเทศอย่างเช่น จีน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย ยังคงลงโทษประหารชีวิตบุคคลสำหรับความผิดต่าง ๆ รวมทั้งการค้ายาเสพติด คอรัปชั่น “การมีชู้” และ “การหมิ่นศาสนา” ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิด “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” เท่านั้น ทั้งนี้เป็นข้อจำกัดตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2558 ปีแห่งความสุดโต่ง
แม้จะมีความถดถอยในปี 2558 แต่ทั่วโลกยังคงเดินทางอย่างมั่นคงไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต พัฒนาการบางด้านในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความหวัง และแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตเป็นเพียงประเทศส่วนน้อย
ในปี 2558 มีสี่ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายของตนอย่างถาวรได้แก่ ฟิจิ มาดากัสการ์ สาธารณรัฐคองโก และซูรินาเม
ส่วนมองโกเลียผ่านร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2559
ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยที่ 102 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท
“2558 เป็นปีแห่งความสุดโต่ง เราได้เห็นพัฒนาการที่น่าตกใจอย่างมาก แต่ก็ได้เห็นพัฒนาการที่ทำให้เกิดความหวังเช่นกัน สี่ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างถาวร เป็นเหตุให้ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันห้ามใช้การลงโทษที่น่าสะพรึงกลัวสุดเช่นนี้แล้ว
ไม่ว่าความถดถอยระยะสั้นจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มระยะยาวยังคงชัดเจนว่า โลกกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตจึงต้องตระหนักว่า พวกเขาอยู่ในด้านที่ผิดของประวัติศาสตร์ และควรยกเลิกการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดนี้เสียที” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว
สรุปภาพรวมระดับภูมิภาค
ภูมิภาคอเมริกา
ทวีปอเมริกายังคงเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต เป็นปีที่เจ็ดติดต่อกันที่ภูมิภาคนี้มีเพียงสหรัฐฯ ประเทศเดียวที่ยังคงประหารชีวิตประชาชน โดยในปี 2558 สหรัฐฯ ประหารชีวิตประชาชน 28 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่ปี 2534 นอกจากนั้นการสั่งลงโทษประหารชีวิต 52 ครั้งในปีที่ผ่านมา ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยสุดตั้งแต่ปี 2520 อีกด้วย
ส่วนรัฐเพนซิลเวเนียยังกำหนดให้มีข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักการประหารชีวิต โดยรวมแล้วปัจจุบันมี 18 รัฐของสหรัฐฯ ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างถาวร
นอกจากสหรัฐฯแล้ว ตรินิแดดและโตเบโกยังคงเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่ยังคงลงโทษประหารชีวิตกับประชาชนอยู่
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ในปี 2558 การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปากีสถาน ซึ่งมีการประหารชีวิตผู้คนเกือบ 90% ของทั้งหมด (ไม่นับรวมประเทศจีน) ตามข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ในภูมิภาคนี้ บังคลาเทศ อินเดีย และอินโดนีเซียต่างกลับมาใช้การประหารชีวิตอีกครั้งในปี 2558 โดยอินโดนีเซียประหารชีวิตประชาชนไป 14 คนในคดียาเสพติด
จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตผู้คนมากสุดในโลก และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า มีผู้ถูกประหารชีวิตและถูกสั่งลงโทษประหารชีวิตชีวิตหลายพันคนในปี 2558 แม้จะมีสัญญาณว่าจำนวนการประหารชีวิตในจีนลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลโทษประหารชีวิตเป็นความลับทำให้ไม่สามารถยืนยันข้อมูลที่แท้จริงได้
ภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง
เบลารุสเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังใช้คงมีโทษประหารชีวิต แม้ว่าประเทศนี้จะไม่ได้ประหารชีวิตเลยในปี 2558 แต่มีการสั่งลงโทษประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อยสองกรณี
ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
การใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2558 ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนใช้โทษประหารชีวิต (ยกเว้นโอมานและอิสราเอล) มีแปดประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนโดยภาพรวมมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 1,196 คน เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับปี 2557 และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นในอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย เฉพาะอิหร่านมีการประหารชีวิตผู้คนมากถึง 82% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค
ภูมิภาคแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮารา
มีพัฒนาการทั้งในทางบวกและลบในแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮารา มาดากัสการ์และสาธารณรัฐคองโก ต่างยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างถาวร และจำนวนการลงโทษประหารชีวิตลดลงอย่างมากจาก 909 ครั้งในปี 2557 เป็น 443 ครั้งในปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นการลดการใช้โทษประหารชีวิตในไนจีเรีย
จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ลดลงเล็กน้อยจาก 46 เป็น 43 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ชาดได้เริ่มการประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 12 ปี โดยมีการยิงเป้าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มโบโกฮารามจำนวน 10 คนในเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม