กพร. แจงอยู่ระหว่างสอบ คลายปมกระแสสังคมต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ
กพร. แจงอยู่ระหว่างสอบ คลายปมกระแสสังคมต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ เบื้องต้น กรมอนามัยเริ่มตัดวงจรการรับสัมผัสโดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาระบบประปา หลังพบมีค่าเหล็กและแมงกานีสเกินมาตรฐาน จำนวน 10 แห่ง รวมถึงระบบประปาที่ประชาชนมี ความกังวลอีก จำนวน 6 แห่ง รวม 16 แห่ง
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสสังคมเกี่ยวกับการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเชื่อว่าสร้างผลกระทบแก่ประชาชนโดยรอบเหมืองทั้งในเรื่องสุขภาพอนามัย ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นั้น
วันที่ 5 เมษายน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของประชาชนเกี่ยวกับการประกอบการเหมืองแร่ทองคาของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคาของบริษัทฯ ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วม และมีผู้แทนทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน และผู้ประกอบการเหมืองแร่ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบทั้งด้านสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตามหลักวิชาการอย่างครอบคลุมรอบด้าน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำควบคู่ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาการเกิดแหล่งแร่ทองคำโดยทั่วไปมักเกิดร่วมกับแร่หรือโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น เหล็ก แมงกานีส สารหนู เป็นต้น ดังนั้นแหล่งน้ำบาดาลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีโอกาสที่จะพบธาตุหรือโลหะเหล่านี้ละลายอยู่ แต่ในปัจจุบันพบเพียงเหล็กและแมงกานีสที่เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค สาหรับโลหะหนักชนิดอื่น ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีการปนเปื้อนจนถึงระดับสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ขณะที่การตรวจติดตามคุณภาพน้ำต่าง ๆ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า มีการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ออกนอกพื้นที่เหมืองแร่
ส่วนด้านสุขภาพ ของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ที่มีระดับสารหนูและแมงกานีสในปัสสาวะและเลือดเกินค่าอ้างอิง แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการปนเปื้อน แต่กรมอนามัยเริ่มตัดวงจรการรับสัมผัสโดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาระบบประปาที่พบว่า มีค่าเหล็กและแมงกานีสเกินมาตรฐาน จำนวน 10 แห่ง รวมถึงระบบประปาที่ประชาชนมี ความกังวลอีก จำนวน 6 แห่ง รวม 16 แห่ง
พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้บริการรักษาและติดตามผู้ป่วยผ่านหน่วยบริการสุขภาพ การติดตามเยี่ยมบ้านโดยทีมหมอครอบครัวทุกสัปดาห์ และกิจกรรมคาราวานสุขภาพดี ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงโดยเร็ว และเมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วจะได้ทำความเข้าใจกับประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อไป