เครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เรียกร้อง กสทช.ตรวจสอบแจสเข้าข่ายฮั้วประมูลคลื่น 900
เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. ตรวจสอบ JAS เข้าข่ายฮั้วการประมูลและเร่งประมูลคลื่น 900 MHz
จากที่บริษัทเเจสโมบายบรอดเเบรนด์ไม่มาชำระเงินค่าคลื่นงวดเเรกพร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินในจำนวนมูลค่าคลื่นที่ชนะการประมูล 75,654ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติราคาประมูล 4G คลื่น 900MHz รอบใหม่ เริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท และกำหนดวันเคาะราคาประมูล วันที่ 24 มิถุนายน นั้น เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อเรื่องดังกล่าวดังนี้
1. ขอให้ตรวจสอบแจสข้อหาฮั้วประมูล ภายหลังการไม่ชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz สำนักงาน กสทช. ให้ข่าวว่าแจสไม่ต้องรับผิดตาม พรบ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่คณะทำงานยังไม่ได้เริ่มลงมือหาข้อเท็จจริงอะไร และในหนังสือยินยอมเข้าร่วมประมูลก็ระบุชัดเจนว่าผู้ประมูลอยู่ภายใต้บังคับของ พรบ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า กสทช. จะดำเนินการค้นหาความจริงและหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของประเทศ อย่างจริงจังหรือไม่
2. ขอให้กสทช. ทบทวนมติในการดำเนินการประมูล และเร่งประมูลให้คลื่นใช้ประโยชน์ การตัดสินใจของกสทช. เพื่อเตรียมการจัดประมูลใหม่ สำนักงาน กสทช. ระบุว่าหากไม่มีผู้มาประมูลก็จะเก็บคลื่นไว้ 1 ปี ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว ยิ่งจะทำให้คลื่นความถี่ที่มีคุณค่าไม่ถูกใช้งาน และทำให้การกำหนดค่าเสียหายจากการทิ้งคลื่นเนิ่นนานออกไป เหมือนไม่ต้องการหาผู้รับผิดชอบที่ทิ้งการประมูลอย่างจริงจัง การจัดประมูลใหม่ก็ล่าช้ากว่าสามเดือน ไม่ทันต่อการรับมือสถานการณ์ซิมดับที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายนนี้ ทำให้ผู้บริโภคที่ยังคงใช้บริการคลื่นนี้กว่าเจ็ดล้านคนเดือดร้อน ทั้งที่ กสทช. น่าจะต้องรู้ดีว่า ควรต้องการนำคลื่นมาจัดสรรโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาซิมดับ แต่กลับไม่เร่งหาทางออกให้ผู้บริโภค และภายหลังจากซิมดับ มูลค่าคลื่นก็จะลดต่ำลง เพราะประโยชน์ที่จะนำคลื่นมาแก้ปัญหาซิมดับก็จะหมดไปเช่นกัน จึงคาดได้ว่า การจัดสรรคลื่นเมื่อซิมดับแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ และรัฐจะขาดรายได้ เมื่อเก็บคลื่นไว้นาน ผู้ทิ้งคลื่นก็อาจพ้นความรับผิดในส่วนค่าเสียหาย
เราจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ยึดถือประโยชน์ของผู้บริโภค ประโยชน์ของรัฐ และประโยชน์ของสังคม โดยเร่งหาทางจัดสรรคลื่นก่อนที่มูลค่าคลื่นจะลดลงในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ แทนที่จะดำเนินการเหมือนจะปล่อยทุกอย่างตามยถากรรม หรือพยายามให้ข่าวเพื่อไม่ต้องมีผู้รับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หากดำเนินการให้มีการจัดสรรคลื่นโดยเร็ว ยังมีโอกาสที่รัฐจะได้ราคาเดิม แต่หากปล่อยทุกอย่างไว้ ในที่สุด รัฐอาจจะไม่ได้เงินสักบาทเดียวเลยก็ได้ กสทช. พร้อมจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นั้นหรือไม่ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ เอ็มไทย