คสช.โละสภาที่ปรึกษาฯตัวแทนคนพื้นที่ ตั้งใหม่ 60 คน ชง กอ.รมน.เหนือ ศอ.บต.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.โละสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ที่มาจากการเลือกกันเองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตั้งใหม่ 60 คน ให้อำนาจ กอ.รมน.ร่วมสรรหา 45 คน พร้อมออกข้อกำหนดให้ ศอ.บต.ต้องทำงานตามข้อเสนอแนะของ กอ.รมน.
เมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.59 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกําหนดอํานาจหน้าที่ของกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
โละสภาที่ปรึกษาฯ – ตั้งใหม่ 60 กรรมการ
สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือการกำหนดแนวทางแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นแทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “กฎหมาย ศอ.บต.”
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 60 คนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
1.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยการพิจารณาร่วมกันของกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.และศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.จํานวนไม่เกิน 45 คน
2.ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา จังหวัดละไม่เกิน 2 คน
และ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจํานวนไม่เกิน 5 คน
ทั้งนี้ให้กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 2 ปี และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ใช้อํานาจหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกฎหมาย ศอ.บต.
ย้อนอดีตสภาที่ปรึกษาฯ ตัวแทนทุกภาคส่วน
สำหรับสภาที่ปรึกษาฯเดิมนั้น มีวาระ 2 ปีเช่นกัน แต่กฎหมายกำหนดให้มีจำนวน 49 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกกันเอง เช่น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้แทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำศาสนาทั้งอิสลาม พุทธ และศาสนาอื่น, กลุ่มผู้หญิง, บุคลากรทางการศึกษาซึ่งรวมถึงสถาบันปอเนาะ และสื่อมวลชนในพื้นที่
ที่ผ่านมา สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯที่ทำหน้าที่อยู่เดิม หมดวาระไปตั้งแต่ก่อน คสช.ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยเลขาธิการ ศอ.บต.ในขณะนั้น คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้จัดให้มีการเลือกผู้แทนในแต่ละสาขาใหม่ จนได้รายชื่อมาแล้ว แต่เมื่อเสนอชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีช่วงหลังจาก คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง กลับไม่มีการลงนามแต่งตั้งจนถึงปัจจุบัน ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถทำงานได้มานานร่วม 2 ปี
วางบทบาทใหม่ กอ.รมน.อยู่เหนือ ศอ.บต.?
นอกจากนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ยังกำหนดให้การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กอ.รมน.กับ ศอ.บต. ให้เลขาธิการ ศอ.บต.ปรึกษาหารือและรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเลขาธิการ กอ.รมน.ไปดำเนินการหรือปฏิบัติงาน หากกรณีใดปัญหา ให้เลขาธิการ กอ.รมน.เสนอเรื่องให้รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ รองผอ.รมน. ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่ง เป็นผู้วินิจฉัย
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ให้ กอ.รมน.มีอํานาจหน้าที่ในการอํานวยการประสานงาน หรือดําเนินการอื่นที่จําเป็นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับการบูรณาการการทำงานระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.นั้น ทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจตัดสินใจเหนือกว่า ศอ.บต. ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้อำนาจและศักดิ์ขององค์กร ศอ.บต. เทียบเท่า กอ.รมน.
ขณะที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและประสานงานเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในท้องที่ใด แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 กำหนดให้เป็นอำนาจของ กอ.รมน.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 14/2559
ลิงค์คำสั่งฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/079/35.PDF