ชำแหละงบ208 ล.-เช็คชื่อผู้รับเหมาสร้างศูนย์ดูดาวโคราช ก่อน สตง. ชี้ปัญหาเพียบ
"..สาเหตุที่ทำให้สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของโครงการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ คือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้มีการกำหนดแผนการให้บริการในส่วนของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯเช่น ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะก่อนเข้าห้องฉายดาวและภาพยนตร์ ไม่ได้จัดทำคลังข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหอนาฬิกาเวลาโลก ทะเลสาบน้ำพุดนตรี สวนเขาวงกต .."
ศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างมูลค่า 208.87 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2556 กำลังถูกจับตามอง
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบสรุปว่า การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยที่เกิดจากการใช้วัสดุประดับตกแต่งผนังห้องอยู่ใกล้กับสายไฟฟ้าที่ไม่เรียบร้อย หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ และมีความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ภายใน
ทั้งนี้ ในส่วนสิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ สตง.ระบุว่าจากการตรวจสอบพบว่า มีงานที่ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ประกอบไปด้วย หอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) มูลค่า 11.33 ล้านบาท ชำรุดไม่สามารถทำงานได้ , ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance) มูลค่า 11.16 ล้านบาท ไม่เคยเปิดการแสดงให้ชมเป็นการทั่วไปตามวัตถุประสงค์ , สวนเขาวงกต (Maze Garden) มูลค่า 0.67 ล้านบาท ไม่เคยมีผู้คนสนใจเข้ามาใช้หรือเข้ามาชม
พร้อมเสนอแนะให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เร่งแก้ไขปัญหา โดยส่วนกรณีหอนาฬิกาเวลาโลกไม่สามารถใช้งานได้เลย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการประกันความชำรุดบกพร่องไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขหรือซ่อมแซมตามการประกันสัญญาเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2545 ข้อ 8 กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหากพบว่ามีเจตนาไม่สุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปและพิจารณาทางละเมิดกับผู้เกี่ยวข้อง
(อ่านประกอบ : หอนาฬิกาโลก11ล. เจ๊งแล้ว! สตง.สรุปศูนย์ดูดาวโคราช 208ล. ปัญหาเพียบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ฉบับเต็ม พบว่า มีการระบุปัญหาสิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยละเอียดดังต่อไปนี้
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เพื่อบูรณาการพื้นที่ให้เกิดความสวยงามและมีความประทับใจ มีความเหมาะสมเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจแก่ชาวโคราช การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ต้องการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารเข้าด้วยกัน โดยสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวคิด Crop Circle Crop Circle เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์เหมือนการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 3 ความมหัศจรรย์ของลวดลายที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ ประติมากรรมระดับโลก World Clock ถือเป็นมูลค่าเพิ่มทางประติมากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นจุดขายที่ประทับใจให้ผู้เข้าชม น้ำพุดนตรี เป็นเทคโนโลยีการจัดแสดงภายนอกให้เกิดความตื่นตา น่าประทับใจ มีฉายภาพแสงบนน้ำพุ ให้น้ำส่ายไปมาดั่งการเต้นระบำเสียงดนตรีประกอบ เขาวงกตกับการจัดสวนเปลี่ยนภาพสวนหย่อมตามปรกติให้หลากหลายขึ้น
จากการตรวจสอบพบว่า สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของโครงการไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
1. สิ่งก่อสร้างที่ไม่สามารถใช้งานได้ ได้แก่ หอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) มูลค่า11.33 ล้านบาท ระบบนาฬิกาเคลื่อนไหวทำงานตามเวลาสากล 24 ชั่วโมงของเวลาแต่ละประเทศควบคุมการทำงานด้วยระบบ Timer พร้อมโปรแกรมคำสั่งชุดแปลงสัญญาณ โปรแกรมเข้าจังหวะเวลาสากล จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 พบว่า หอนาฬิกาเวลาโลกชำรุด ระบบไม่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ได้สังเกตการณ์เพื่อทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์นาฬิกา ดูการเคลื่อนไหวพร้อมระบบไฟฟ้าดิจิตอล LED แสงสี ระบบเสียงการทำงานตามเวลาสากล 24 ชั่วโมง การควบคุมการทำงานด้วยระบบ Timer ปรากฏว่า ระบบนาฬิกาชำรุดไม่สามารถทำงานได้ เมื่อเชื่อมต่อกับไฟฟ้าจะทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง สาเหตุเนื่องจากกระแสไฟฟ้าภายในศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่เพียงพอสำหรับกำลังไฟฟ้าของหอนาฬิกาเวลาโลก
2. สิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้งาน ดังนี้
(1) ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance) มูลค่า 11.16 ล้านบาท ระบบน้ำพุดนตรีน้ำพุเต้นระบำ ขึ้นลง พลิ้วไหว เคลื่อนไหว พร้อมระบบแสงสี ระบบเสียง ม่านน้ำฉายโปรเจ็คเตอร์ ทำงานตามจังหวะเสียงดนตรี ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รูปแบบน้ำพุมี 7 รูปแบบ กำหนดรอบการแสดงน้ำพุดนตรีในหนึ่งวัน คือ รอบที่ 1 เวลา 18.00-18.30 นาฬิกา รอบที่ 2 เวลา19.00-19.30 นาฬิกา จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 พบว่า น้ำพุดนตรีไม่เคยเปิดการแสดงให้ชมเป็นการทั่วไปตามวัตถุประสงค์ มีการกำหนดรอบการแสดงน้ำพุดนตรีในหนึ่งวันๆ ละ2 รอบ แต่ไม่เคยเปิดการแสดงเช่นเดียวกัน และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ได้สังเกตการณ์เพื่อทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์น้ำพุดนตรี ดูระบบไฟแสงสีส่องสว่าง ดูน้ำพุเต้นระบำ ขึ้นลงพลิ้วไหว เคลื่อนไหว ทำงานตามจังหวะเสียงดนตรี ปรากฏว่า สามารถแสดงน้ำพุได้ดีทุกอย่างตามจังหวะเสียงดนตรีเป็นรูปแบบชุดเทคนิคกลไกหัวน้ำพุที่เคลื่อนไหวได้
(2) สวนเขาวงกต (Maze Garden) มูลค่า 0.67 ล้านบาท อบจ.นครราชสีมา ได้จัดหาชุดต้นไม้ประกอบ Maze Garden คือ ต้นลีลาวดีขาวพวง 3 ต้น ต้นจันผา 8 ต้น ต้นไทรคอมแพ็คตัดแต่งพุ่มแน่น 1,200 ต้น จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 พบว่า สวนเขาวงกตมีสภาพใช้งานได้ แต่ไม่เคยมีผู้คนสนใจเข้ามาใช้หรือเข้ามาชม
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 ถึงปัจจุบัน ณ เดือนมีนาคม 2558 มีผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะได้เข้าชมท้องฟ้าจำลองและศูนย์วิทยาศาสตร์ มีการฉายดาวและภาพยนตร์ 581 รอบ จำนวน 99,100 รายจากการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมศูนย์ดาราศาสตร์ฯ จำนวน 653 ราย พบว่า ทุกรายไม่ทราบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่นำเสนอข้อมูลความน่าตื่นตาและน่าประทับใจความสนุกสนาน ของหอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance)และสวนเขาวงกต (Maze Garden) จึงสรุปว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
สตง. ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของโครงการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ คือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้มีการกำหนดแผนการให้บริการในส่วนของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯเช่น ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะก่อนเข้าห้องฉายดาวและภาพยนตร์ ไม่ได้จัดทำคลังข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหอนาฬิกาเวลาโลก ทะเลสาบน้ำพุดนตรี สวนเขาวงกต
(อ่านรายงานการตรวจสอบฉบับเต็มที่นี่ การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พบว่า งานก่อสร้างศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ใช้งบประมาณกว่า 208.87 ล้านบาท มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนและสถานบันการศึกษา เข้ามาเป็นผู้รับงาน จำนวน 4 สัญญา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สัญญาแรก งานก่อสร้างศูนย์ดาราศาสตร์(ท้องฟ้าจำลอง)และศูนย์วิทยาศาสตร์ 14โซน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้านครราชสีมา ปรากฎชื่อ กิจการร่วมค้า T&T เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 155,580,000 บาท สัญญาเริ่มต้น 17 ก.ย. 53 สิ้นสุด 11 ธ.ค. 54 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ว่าจ้าง
สัญญาสอง จ้างควบคุมงานก่อสร้างศูนย์ดาราศาสตร์(ท้องฟ้าจำลอง)และศูนย์วิทยาศาสตร์14โซน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้านครราชสีมา ปรากฎชื่อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 2,700,000 บาท สัญญาเริ่มต้น 17 ก.ย. 53 สิ้นสุด 11 ธ.ค. 54 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ว่าจ้าง
สัญญาสาม ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ (ท้องฟ้าจำลอง)ถนนโคกกรวด-หนองปลิง ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมากิจการร่วมค้ ปรากฎชื่อ กิจการร่วมค้า T&T เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 49,700,000 บาท สัญญาเริ่มต้น 3 ก.พ. 55 ถึง 10 ส.ค. 55 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ว่าจ้าง
และสัญญาสี่ จ้างควบคุมงานปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์(ท้องฟ้าจำลอง)ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้านครราชสีมา ปรากฎชื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 890,000 บาท สัญญาเริ่มต้น 26 มิ.ย. 55 ถึง 10 ส.ค. 55 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ว่าจ้าง
จากรายละเอียดทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า งานปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ ที่สตง.ระบุว่ามีปัญหาสิ่งก่อสร้างใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะหอนาฬิกาเวลาโลก อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของ กิจการร่วมค้า T&T
ส่วน กิจการร่วมค้า T&T ที่เข้ามารับงานดังกล่าว เป็นใครมาจากไหนนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป