"การพัฒนาปฐมวัย” บทบาทสำคัญ อปท. ทำได้ ทำดี
อปท.สามารถจัดการศึกษาปฐมวัยได้ ดังนั้น อยากฝากข้อคิดเชิงนโยบายให้กับคนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเด็กวัย 2-5 ปี โดย อปท.ทุกแห่งต้องนำเด็กเข้าสู่ระบบ ศพด.โดยเท่าเทียมกันทุกคน
“แต่เช้าจรดเย็น ต้องมาเป็นผู้ดูแลเด็ก เลี้ยงดูเด็กตัวเล็กๆ หวังให้เด็กได้พัฒนา ร่างกายอารมณ์ ทั้งสังคม สติปัญญา ด้วยหวังตั้งใจไว้ว่า จะพัฒนาเด็กๆ ของไทย ตื่นเช้าขึ้นมา กินข้าวกินปลา ไม่มัวรั้งรอ รีบไปยัง ศพด.รอแม่พ่อส่งลูกเข้าเรียน เหนื่อยยากเพียงไหน ความตั้งใจไม่เคยแปรปลี่ยน จะขอเป็นเหมือนแสงเทียน ส่องสว่างนำทางเด็กเดิน…
โปรดเมตตาสงสารเถิดหนอ ชีวิตของ ผดด. ร้องขอให้ท่านเห็นใจ ค่าตอบแทนน้อย พวกเรายังพอทนได้ ขอเพียงให้ท่านเห็นใจ และหย่าให้ใครมาเหยียดหยัน กราบขอบคุณท่านที่เมตตา ลูกของใครไม่ว่า จะตั้งหน้าเลี้ยงดูให้ดี ไม่เคยรังเกียจ คิดหยามเหยียดว่าจนหรือมี ด้วยสำนึกในหน้าที่ จะเลี้ยงให้ดี ดังลูกฉันเอง”
บทเพลง “ชีวิตผู้ดูแลเด็ก” แต่งโดยนางทองเหรียญ อินต๊ะพิง หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัว ที่กลั่นออกมาจากหัวใจ บอกทุกเรื่องราว ทั้งความเหน็ดเหนื่อย ความท้อแท้ ความน้อยอกน้อยใจ ที่ฟันฝ่าพยายามต่อสู้ เพื่อครูผู้ดูแลเด็ก หรือ ผดด. ได้มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพื่อเห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตมีคุณภาพสมวัย
ตัวตั้งตัวตี ร่วมสร้างประวัติศาสตร์กว่าจะมาเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ (ศพด.) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายสมพร ใช้บางยาง อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เล่าถึงความเป็นมาเมื่อครั้งรับถ่ายโอน ศพด.มาจากกระทรวงสาธารณสุข กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสงเคราะห์ ว่า เพลง “ชีวิตผู้ดูแลเด็ก” แต่งเพื่อขอความเห็นใจจากผู้หลักผู้ใหญ่เนื่องจากเป็นเรื่องของภารกิจใหม่ที่นายกฯ อปท. ก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นช่วงของความทุกข์ยาก มองทุกอย่างเป็นภาระ จึงนำมาสู่การวางแผนพัฒนาและกำหนดแนวทางในการทำให้ ผดด. มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็ก พร้อมทั้งผลักดันให้มีการบรรจุ ผดด.เป็นข้าราชการประจำเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เพราะผดด.มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่ทำเพื่อเด็กอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงสมควรได้รับโอกาสด้านหน้าที่การงานที่มั่นคง รวมทั้ง ต้องทำให้นายกฯ/ ผู้บริหารท้องถิ่น เห็นความสำคัญของศพด.จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญคือ การเปลี่ยนวิธีคิด / วิสัยทัศน์ของผู้บริหารท้องถิ่น ให้กำหนดเรื่องการพัฒนาคนเป็นยุทธศาสตร์แรกที่สำคัญที่สุด ยุทธศาสตร์ที่สองเรื่อง ศพด. ถ้าดูแลลูกหลานคนในชุมชนที่ถือเป็นแก้วตาดวงใจได้ดีแล้ว ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ต้องเลือกผู้บริหารที่ทำเพื่อเด็กและเยาวชนอนาคตของประเทศ
“จากความพยายามขายความคิดเรื่องการพัฒนา ศพด.จนถึงวันนี้ เห็นภาพความสำเร็จเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อปท.สามารถจัดการศึกษาปฐมวัยได้ ดังนั้น อยากฝากข้อคิดเชิงนโยบายให้กับคนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเด็กวัย 2-5 ปี โดย อปท.ทุกแห่งต้องนำเด็กเข้าสู่ระบบ ศพด.โดยเท่าเทียมกันทุกคน เพราะการพัฒนาเด็กทุกคนคือภารกิจของ อปท. จึงต้องปูพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กทุกคน ฉะนั้น จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้เห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาของ ศพด.ให้ได้ ต้องจับหลักให้ได้ไม่เช่นนั้นก็จะไปไม่รอด การปฏิรูปการศึกษาจะไปมุ่งปรับโครงสร้างก็คงไม่ใช่แล้ว” นายสมพรกล่าว
นายวีระชาติ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษานอกระบบและพัฒนากิจกรรมเยาวชน สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาปฐมวัยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนา ศพด.ก็รู้สึกปลื้มใจและดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย จากการประเมินของกรมฯ พบว่า ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจในเรื่องของกระบวนการ ความชัดเจนในการทำงาน และครูที่เป็นหัวหน้าทีมและคณะครูมีความตั้งใจในการพัฒนา ศพด.อย่างมาก มีบางแห่งที่ถอดใจ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่แต่เมื่อได้มีการให้ความรู้ความเข้าใจก็สามารถบริหารได้ และพบว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรหากจัดระบบงาน และระบบเวลาให้ดี
“กระทรวงมหาดไทยมี ศพด.กว่า 20,000 แห่ง ลำพังกรมคงดูแลไม่ไหว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายในการพัฒนา ศพด.ให้ขยายออกไประดับพื้นที่เป็นลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ และเมื่อเป็นต้นแบบได้แล้วในระยะต่อไปก็จะไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ได้ โดยเชื่อว่าอนาคต ศพด.ทุกแห่งจะมีความสามารถใกล้เคียงกัน" นายวีระชาติกล่าว
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบจุดเด่นในการเลือกเครือข่าย ศพด.เข้าร่วมได้ตามหลักเกณฑ์ที่กรมกำหนด คือ
1.ผู้บริหารสมัครใจและยินดีเข้าร่วม
2.คณะครูมีความพร้อมและมีองค์ความรู้ในระดับหนึ่งสามารถมาเรียนรู้ได้
3.ชุมชนมีส่วนร่วม
ข้อนี้สำคัญมากเพราะการทำงานของภาครัฐปัจจุบัน คงไม่ได้เป็นฝ่ายให้อย่างเดียว เมื่อประโยชน์เกิดกับลูกหลานของคนในชุมชนก็ได้ประโยชน์ ฉะนั้น การเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ต้นแบบ ศพด.เทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัวเก่ง ยอมรับ โดยเฉพาะกลไกสำคัญคือคณะครูมีทีมเวิร์คที่ดีมาก ประการที่สองกระบวนการทำงานมีขั้นตอน ทั้งเชิงวิชาการ ข้อมูล กราฟ สถิติ และประการที่สามการมีที่ปรึกษาที่ดีจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประการที่สี่การประสานความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงาน ชุมชน ประการที่ห้าจังหวัดเชียงใหม่มีเครือข่ายที่จัดตั้งเป็นสมาคมที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีการผนึกกำลังระดับจังหวัด ดังนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นหากจะนำจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ขยายผลก็เชื่อว่าจะมีความพร้อมและประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ดังนั้น ต้องพยายามขยายให้ทุกอำเภอมีต้นแบบ ศพด.ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อการขยายผลออกไปนายวีระชาติกล่าวย้ำ
มองอนาคต “คุณภาพคน” ของประเทศไทย เริ่มที่ “ปฐมวัย” ประจักษ์ชัดดังนั้น การรวมคน เครือข่ายที่มีความคิด และทิศทางเดียวกัน โดยการบูรณาการร่วมขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว(สำนัก4)และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) จับมือส่งเสริมสนับสนุนสู่ฐานตำบล
เป็นที่มาในการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน2 ศพด.ความสำเร็จการจัดการศึกษาปฐมวัยต้นแบบโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย (COACT)โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวชื่นชมการทำงานของ ศพด.ต้นแบบ ซึ่งทำได้ดีมาก จึงอยากเห็นการจัดการศึกษาในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศมากๆ การลงมาเรียนรู้ในครั้งนี้ ต้องนำไปปรับใช้พอสมควร เนื่องจาก ศพด.มีข้อจำกัดหลายเรื่องและแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนมีตำบลเครือข่ายสุขภาวะอยู่ โดยปี 2559 มีแผนการดำเนินงานในการขยายองค์ความรู้โครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย (COACT) จากการปฏิบัติไปพัฒนาขยายฐานลงตำบล 200 ตำบล เนื่องจากเห็นว่า ศพด.ต้นแบบ15 แห่ง อาจจะไม่มีพลังพอไปผลักดันเชิงนโยบาย ดังนั้น ถ้าได้พลังเพิ่มจาก 200 ตำบลมาช่วยก็จะเป็นพลังที่มากพอในการช่วยกันผลักดันได้
“เป็นความภาคภูมิใจที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่องทั้ง 15 แห่ง ประสบความสำเร็จในการพัฒนา จนเกิดความพร้อมในการขับเคลื่อนโดยการขยายเครือข่ายออกไปอีกศูนย์ละ 10 แห่ง ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถูกชื่นชมอย่างมาก จากการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในกระบวนการทำงานทั้งหมด รวมทั้ง เห็นถึงศักยภาพของครู ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก้าวไปข้างหน้า เพื่อพัฒนาครูที่ดีในพื้นที่ และส่งต่อความรู้นี้ไปยังที่อื่นๆ ทำให้ อปท.เห็นการพัฒนาคุณภาพเด็กในพื้นที่อย่างแท้จริง จึงเกิดความคาดหวังถึงความสำเร็จในการขยายศูนย์เด็กเล็กเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปอีกในอนาคต” นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวด้วยความภาคภูมิใจจากผลการดำเนินโครงการกว่า 2 ปี .