มูลนิธิผสานวัฒนธรรม วอน 'บิ๊กตู่' ทบทวนคำสั่ง คสช. 13/2559 ขัดหลักนิติรัฐ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมวอนบิ๊กตู่ทบทวนคำสั่ง คสช. 13/2559 เหตุขัดหลักนิติรัฐ คำมั่นสัญญาประชาคมโลกเรื่องสิทธิมนุษยชน
วันที่ 1 เมษายน 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 13/2559 ขัดหลักนิติรัฐและคำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเรื่องสิทธิมนุษยชน ใจความว่า
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 13/2559 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีองค์กรด้านกระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการใดใดร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจในแต่ละขั้นตอนได้
โดยอ้างว่าเพื่อให้อำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาหลายประเภท มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ขัดและแย้งต่อหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม หลักการสากลด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งมีความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ โดยมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1. นิยามของคำว่า บุคคลที่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดอาญาตามคำสั่งฯ เป็นความหมายที่กว้างและขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตีความตามอำเภอใจของเจ้าพนักงานฯที่ทำหน้าที่ตามผลของคำสั่งดังกล่าว การควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งนี้อาจเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจซึ่งหมายถึงการกระทำที่เป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือ โดยไม่อาจคาดคะเนได้หรือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
แม้ว่าจะเป็นการอ้างคำสั่งนี้ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ก็อาจปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่มีเหตุอันควร หรือไม่จำเป็นในพฤติการณ์ของคดี โดยไม่มีหน่วยงานใดใดตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิทธิเสรีภาพ สิทธิในชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน (กรณีการสั่งยึดทรัพย์) ต่อประชาชน สิทธิในการแสดงทางความคิดเห็น สิทธิในการชุมชมโดยสันติ เป็นต้น
2. อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามในการจับกุมตัวบุคคล เพื่อสอบถามเป็นเวลา 7 วัน โดยควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยอาจมีการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวในสถานที่ลับ ไม่เปิดเผย ไม่สามารถติดต่อกับญาติ หรือทนายความได้ ซึ่งเป็นการควบคุมตัวที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม และอาจทำให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุมตัว ตามคำสั่งนี้ต้องขาดหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อาทิเช่น สิทธิในการได้รับการเยี่ยมญาติ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการพบแพทย์ เป็นต้น โดยอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานหรือการบังคับหายสาบสูญได้
3. ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance -ICCPED)
โดยหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับนี้คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกต่อการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนว่า ประเทศไทยจะพยายามดำเนินการเพื่อให้หลักการห้ามทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรืออาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยเด็ดขาด การขาดซึ่งความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามคำสั่งนี้ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัวว่าจะถูกละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาดังกล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาฐานะหัวหน้าคณะรักษาความปลอดภัยพิจารณาทบทวนคำสั่งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานและจำเป็นของการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย .