"มารา ปาตานี"ยื่นข้อเสนอพูดคุยฯ ชง"สะเดา-สตูล"พ่วงชายแดนใต้
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันคล้ายวันสถาปนาบีอาร์เอ็นนั้น ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเดินหน้าอยู่อย่างเงียบๆ
เหตุรุนแรงในเดือนมีนาคมมีหลายเหตุการณ์ที่น่าจับตา เริ่มจากเหตุคนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็นพอดี โดยในวันดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดและเหตุรุนแรงอื่นๆ ต่อเนื่องข้ามคืนรวมถึง 21 เหตุการณ์
จากนั้นยังมีเหตุกราดยิงร้านคาราโอเกะในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม กราดยิงร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา วันที่ 24 มีนาคม สังหารพลทหาร 2 นายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม และล่าสุดระเบิดป่วนอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เกือบ 10 จุด วันที่ 30-31 มีนาคม
เหตุรุนแรงทั้งหมดทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ตึงเครียดมากขึ้น ในขณะที่การพูดคุยสันติสุขฯคณะใหญ่อย่างเป็นทางการ ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทย นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล กับคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ในนามกลุ่มมารา ปาตานี ถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง
ชี้ใต้ป่วนโยงโต๊ะพูดคุยฯแน่นอน
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง วิเคราะห์ว่า เหตุรุนแรงในช่วงนี้มีความเชื่อมโยงกับการพูดคุยเจรจาอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มนักรบรุ่นใหม่ในบีอาร์เอ็น ไม่ยอมรับกระบวนการพูดคุย จึงอาจเร่งก่อเหตุเพื่อแสดงศักยภาพ ขณะที่ฝ่ายมารา ปาตานี เอง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพูโลย่อย 3 กลุ่ม มีความพยายามรวมกันเป็นกลุ่มเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ และพูโลบางกลุ่มยังพยายามฟื้นกองกำลังในพื้นที่ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทยด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีความเคลื่อนไหวของการพูดคุยอย่างเงียบๆ โดยล่าสุดในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคม มีการประชุมคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
"มาราฯ" ชงขยายพื้นที่รวม "สตูล-สะเดา"
แหล่งข่าวจากมาเลเซีย และแหล่งข่าวจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ให้ข้อมูลตรงกันว่า การพบปะกันของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ได้มีการหารือถึงประเด็นที่ยังค้างคาตกลงกันไม่ได้ เช่น การขอความคุ้มครองทางกฎหมายให้กับตัวแทน มารา ปาตานี ที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชายแดนใต้ หรือที่เรียกว่า Immunity เพราะบางคนมีหมายจับของทางการไทย แต่ประเด็นนี้คณะทำงานฝ่ายไทยยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย และการดำเนินการต้องประสานงานกับหลายฝ่าย
นอกจากนั้น คณะทำงานฝ่ายมารา ปาตานี ได้ยกเรื่องขอบเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาหารือ โดยนอกจากขอบเขตพื้นที่สามจังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ตามความเข้าใจเดิมของฝ่ายไทยนั้น ฝ่ายมารา ปาตานี ต้องการให้รวมจังหวัดสตูล และ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เข้าไปด้วย และให้บันทึกในเอกสารข้อตกลงร่วม แต่ประเด็นนี้คณะทำงานฝ่ายไทย ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย
ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน หรือ เซฟตี้ โซน ยังไม่มีความคืบหน้า แต่คาดว่าการพูดคุยอย่างเป็นทางการของคณะพูดคุยคณะใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ จะมีการหารือเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และข้อเสนอของมารา ปาตานี เรื่องการเพิ่มขอบเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รวมจังหวัดสตูล และ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
แฉบีอาร์เอ็นเคยเสนอพ่วง"สะเดา"มาแล้ว
สำหรับการขยายพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากการเรียกร้องของกลุ่มมารา ปาตานี แต่เมื่อครั้งที่รัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้า เมื่อปี 2556 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็เคยผนวกรวม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นดั่งพื้นที่พิพาทที่ต้องเจรจากับรัฐบาลไทยมาแล้ว
โดยเรื่องนี้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในคำแถลงร่วมยุติเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2556 ที่ ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย แถลงเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 อ้างอิงว่าพื้นที่ยุติเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหาร นอกจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเดิมแล้ว ยังรวมถึง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาด้วย ทั้งๆ ที่อำเภอสะเดา ไม่ได้เป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาลไทย
สอดคล้องกับคลิปวีดีโอคำแถลงของนายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ที่ได้ยื่นเงื่อนไข 7-8 ข้อให้กับรัฐบาลไทย เพื่อแลกกับการยุติการก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ YouTube ก็มีการอ้างอิงว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจังหวัดสงขลา 5 อำเภอ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในช่วงนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย ว่าเป็นการพยายามขยายพื้นที่พิพาทจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเดิม ให้รวมถึงอำเภอสะเดา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านด่านสะเดา และปาดังเบซาร์ สูงสุดของประเทศ ราวปีละ 5 แสนล้านบาท
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มารา ปาตานี
2 ฮันซัน ตอยิบ