ผ่านวิกฤตภัยแล้ง ปี 59 “ประหยัดน้ำ-สร้างอ่างชุมชน” ทฤษฎีจัดการยั่งยืน
กรุงเทพธุรกิจ-NOW26 จัดเวที ผ่านวิกฤตภัยเเล้ง ปี 59 หวังหาทางออกจัดการน้ำอนาคตยั่งยืน 'ปราโมทย์ ไม้กลัด' ยันบริหารจัดการดี มีน้ำเพียงพอตลอดฤดู ด้านกรมชลเล็งเสนอโครงการผันน้ำเข้าอ่างกักเก็บ หวังเเก้ปัญหาขาดเเคลน ขณะที่ภาคอุตฯ นำร่องโรงงาน ชูเเนวคิดประหยัดน้ำ
‘ภาวะภัยแล้ง’ กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะปีนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ณ วันที่ 30 มีนาคม 2559 ระบุว่า ไทยมีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน รวม 68.7 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 9.5 มม. (ร้อยละ 12)
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 34,572 ล้าน ลบ.ม.(ร้อยละ 49) น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 7 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,869.53 ล้าน ลบ.ม.(ร้อยละ 42.14) น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 10 โดยแม่น้ำสายสำคัญสายหลักในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะน้ำน้อย
เมื่อสถานการณ์น้ำต้นทุนเป็นเช่นนี้ ทำให้มีหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ปรากฎเป็นข่าวแล้ว 43 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี
หนองคาย หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุดรธานี มหาสารคาม จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สมุทรปราการ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ สตูล และสงขลา จะเห็นว่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและภาคอีสาน
อีกทั้ง มาเจอปัญหาน้ำเค็มยังรุกพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม
และมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอีก 7 จังหวัด ได้แก่ ลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, พัทยา จ.ชลบุรี, แม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่, แม่น้ำวัง จ.ลำปาง, แม่น้ำยม จ.แพร่, แม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก และคลองสารภี จ.ปราจีนบุรี
การลดผลกระทบจากภัยแล้ง และจัดการน้ำอย่างยั่งยืนได้อย่างไร มีคำตอบจากเวทีสัมมนา ผ่านวิกฤตภัยแล้ง ปี 59 สู่อนาคตจัดการน้ำยั่งยืน ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ NOW26 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
กรมชลเล็งผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล-สร้างสถานีสูบน้ำโขง
‘สัญญา แสงพุ่มพงษ์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) บอกว่า กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมแสดงความมั่นใจ มีน้ำเหลือใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ยังจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งน้ำต่อไป เนื่องจากภาพรวมมีความต้องการใช้ราว 7 หมื่นล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีแหล่งกักเก็บราว 8 หมื่นล้าน ลบ.ม. ใช้ได้เพียง 5 หมื่นล้าน ลบ.ม.
ยกตัวอย่าง เขื่อนภูมิพลมีความจุอ่างราว 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. ใช้ได้เพียง 9 พันล้าน ลบ.ม. และแต่ละปีมีน้ำไหลลงอ่าง 5.7 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งใช้หมดทุกปี
กรมชลประทานจึงเตรียมเสนอให้มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำยวม เมย หรือสาระวิน เข้ามา โดยได้ศึกษาเรื่องนี้มาร่วม 10 ปีแล้ว มั่นใจว่า จะเติมให้ได้ปีละ 2 พันล้าน ลบ.ม. แต่ยังติดขัดในบางประการ
ผู้แทนภาครัฐ ได้ยกตัวอย่างสถานีสูบน้ำชั่วคราวห้วยหลวง จ.หนองคาย มีนโยบายจะสูบน้ำจากแม่น้ำโขง 47 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือในเรื่องอุปโภคบริโภค และมีโครงการจะสร้างสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่อีกด้วย โดยอนาคตเตรียมขยายต่อไปเพื่อเติมน้ำในเขื่อนลำปาว และบางส่วนในภาคตะวันออก ซึ่งกรมชลประทานกำลังตรวจสอบศักยภาพแต่ละอ่างเก็บน้ำ
สำหรับบางโครงการที่ยังถูกคัดค้าน เช่น เขื่อนแม่วงก์ ก็จะต้องทำความเข้าใจต่อไป
บริหารจัดการดี ผ่านวิกฤตแล้ง’59 ชัวร์
‘ปราโมทย์ ไม้กลัด’ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน มั่นใจว่า ไทยจะผ่านวิกฤตภัยแล้งในปี 2559 ได้แน่นอน แม้ขณะนี้จะมีกระแสวิตกกังวลรุนแรงมาก แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าว
หากดูเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นลุ่มน้ำในเขตเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงประชากรกว่า 20 ล้านคน เชื่อว่า มีน้ำเพียงพอ แต่คำว่า “เพียงพอ” ในบางกิจกรรมเท่านั้น ไม่รวมการเพาะปลูกนาปรัง ภายใต้การบริหารจัดการ ดังนั้น จึงไม่สมบูรณ์เหมือนปีก่อน ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด
“กรณีรัฐขอความร่วมมือให้ชาวนาชะลอหรือยุติการเพาะปลูกนาปรังมีมาตลอดทุกปี” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว และเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ถือเป็นการบริหารจัดการที่ชัดเจนและถูกต้องแล้ว เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดฤดูแล้ง
ไทยไม่มีพื้นที่สร้างเขื่อนใหญ่ แนะแหล่งน้ำชุมชนดีสุด
ส่วนอนาคตจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเหลือใช้อย่างเพียงพอ ‘ปราโมทย์’ เห็นว่า ไทยยังคิดเรื่องน้ำไม่เป็นระบบที่จะมีกระบวนการจัดหาน้ำต้นทุนกระจายไปทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างไรก็ตาม จะตำหนิกรมชลประทานไม่ได้ เพราะปฏิบัติหน้าที่ตามระบบราชการ
ขณะที่รัฐบาลกำลังจะมุ่งพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องขนาดใหญ่ แต่พื้นที่สำหรับการก่อสร้างในไทยหายากเต็มที
ส่วนการผันน้ำจากที่อื่นมาเติมในอ่างเก็บน้ำ เขามองว่า เป็นเรื่องใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาให้รอบคอบ อย่างโครงการโขง ชี มูล ยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้เพราะคิดไม่เป็นระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ของงานให้ชัดเจน ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งนี้ การทำแหล่งน้ำชุมชนน่าจะตอบโจทย์ดีที่สุด
ภาคอุตฯ นำร่อง 10 โรงงาน ต้นแบบประหยัดน้ำ
ด้าน ‘บวร วงศ์สินอุดม’ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า รูปธรรมการบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรม จะยั่งยืนได้ต้องคิดและทำเรื่อย ๆ ภายใต้หลัก 5 ประการ คือ
- รู้จักตนเอง เราเป็นใคร ต้องการใช้น้ำแบบไหน
- เกรงกลัวธรรมชาติ ทุกปีอาจเจอวิกฤตแล้ง หรืออุทกภัย
- คาดการณ์ไปข้างหน้า ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
- กล้าคิด ในการแก้ไขปัญหา
- มุ่งมั่นทำต่อเนื่อง ไม่หยุดอยู่กับที่
สำหรับภาคอุตสาหกรรมประหยัดน้ำอย่างไรนั้น เขากล่าวว่า สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน มีโครงการต่อเนื่องเกี่ยวกับการประหยัดน้ำในโรงงานนำร่อง 10 แห่ง ในปี 2558 โดยใช้หลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) ได้แก่
กลุ่มอุตสาหกรรมฟอกย้อม บริษัท วีนัสเธร็ด จำกัด, บริษัท ยูเนี่ยน ชิป จำกัด, บริษัท ชินไฉฮั้ว อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด แฟบริด จำกัด, บริษัท แอลฟ่าโปรเชสชิ่ง จำกัด และบริษัท คาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ บริษัท ปัญจพล พัลน์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด, บริษัท พานทอง เปเปอร์ จำกัด และบริษัท กระดาษธนธาร จำกัด
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน สามารถลดการใช้ปริมาณน้ำลง 2,275,910 ลบ.ม./ปี เฉพาะบริษัท ชินไฉฮั้ว อุตสาหกรรม จำกัด มีมาตรการอนุรักษ์น้ำถึง 4 มาตรการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการติดตั้งชุดอุปกรณ์แยกไขมัน มีการติดตั้งเครื่องซักผ้าใหม่ ลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการซักน้ำ ลดการสูญเสียน้ำระบายของหม้อน้ำ และลดการสูญเสียน้ำจากไอน้ำรั่วไหล
ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ยังยืนยันว่า ภาคอุตสาหกรรมไม่มีการแย่งน้ำจากภาคเกษตรกรรมแน่นอน เพราะทุกครั้งที่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ จะมีการพูดคุยทุกฝ่าย คำนวณปริมาณการใช้จ่ายในแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม เรื่องน้ำ จะรอวิกฤตค่อยแก้ไขปัญหาไม่ได้ แต่ต้องคิดและทำอย่างต่อเนื่อง
นักวิชาการหนุนรัฐคิดค่าน้ำผ่าน กม.
ฟากนักวิชาการ ‘รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์' หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ทำอย่างไรให้คนขโมยน้ำติดคุก ฉะนั้นจึงต้องมีกฎหมายเข้ามาดูแล เพื่อสร้างความเท่าเทียมพื้นฐาน และใช้เป็นแกนกลาง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเก็บเงินค่าน้ำจากผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายได้
“เรากำลังแข่งขันกับต่างประเทศ ลาว เมียนมา เวียดนาม มีน้ำมาก ส่วนไทยมีน้ำน้อย แต่อยากรวยกว่า ฉะนั้นต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” นักวิชาการ จุฬา ระบุ
ไทยเผชิญภาวะภัยแล้งครั้งนี้อันเป็นผลจากภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 บวกกับน้ำต้นทุนมีจำกัด แม้หลายฝ่ายจะออกมาฟันธงว่า จะมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค วันนี้ไม่ควรชะล่าใจ ตราบใดยังไม่พ้นช่วงวิกฤต 2 เดือนต่อจากนี้ ทางออกอย่างยั่งยืน ทำได้ก่อน คือ การปลูกจิตสำนึกให้ช่วยกันประหยัดน้ำไปพร้อมๆ กับเร่งหาวิธีเก็บกักน้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด .