ธรรมมาภิบาลที่หายไปในนโยบาย 'จัดการขยะ'
"รัฐกำลังก่อหนี้สินผูกพันในระยะยาว และเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี หากการจัดการขยะภายใต้แผนการดังกล่าวไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง รัฐและประชาชนจะต้องมานั่งเสียค่าโง่อีกมหาศาล" เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
ปัญหาขยะล้นประเทศกลายมาเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้มีการจัดการโดยเร็ว จนกระทั่งไทยเดินทางถึงยุครัฐบาลทหารภายใต้อำนาจของ คสช. นโยบายการจัดการขยะ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่มีต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
หากลองย้อนดู 'ไทม์ไลน์' การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจะพอจะสรุปได้ดังนี้
26 ส.ค. 2557 คสช.เห็นชอบ โรดแม๊ปการจัดการขยะ
18 ก.ย. 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สมัยนั้น) มอบนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยตามโรดเเม๊ป
19 ก.ย. 2557 มีการออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดระบบบริหารจัดการขยะมุลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2557” กำหนดขั้นตอนการทำงานและบูรราการการทำงานของทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันและให้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแห่งชาติ (2559-2564)
15 ต.ค. 2557 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าและการอื่น
17 เม.ย. 2558 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแจ้งแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตเรื่องการก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า
10 มิ.ย. 2558 มติ กรรมการสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 2/2558) เห็นชอบ 3 เรื่องหลัก 1.) ร่างประกาศกระทรวงทรัพยฯยกเว้นการทำ EIA สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะขนาด 10 เมกะวัตขึ้นไป 2.) ประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการที่ได้รับการยกเว้นการทำ EIA (Code of Practice) 3.) ให้กกพ. รับหน้าการปฏิบัติเรื่อง COP ไปดำเนินการ
16 มิ.ย. 2558 กรมโยธาธิการและผังเมือง แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องแนวทางปฏิบัติการอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเป็นหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบอ.1 ) เพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าแทน อปท.
19 ส.ค. 2558 กระทรวงทรัพย์ฯ ออกประประกาศกระทรวงฯ เรื่องการยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงขนาดตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป ไม่ต้องทำรายงาน EIA
20 ม.ค. 2559 คสช. ออกคำสั่งที่ 4/2559 ยกวเ้นการใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ (รง.ประเภท 89 ) โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวมหรือโรงงานกำจัดของเสีย อันตาราย (รง.ประเภท101) โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบขยะ (รง.ประเภท 105) และโรงงานเกี่ยวกับการรีไซเคิล (รง.ประเภท 106)
เหตุผลของนโยบายดังกล่าวที่บรรจุในวาระแห่งชาติว่า เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะเก่า(กำจัดตกค้าง ปรับปรุงบ่อขยะ จากเดิมที่จัดการไม่ถูกต้องรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เอกชนดำเนินการให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้มีการจัดการขยะแบบรวมศูนย์และกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน เน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้างระบบการกำจัดขยะมูลฝอย โดยเฉพาะเตาขยะ
ในแผนการจัดการขยะตามโรดแม๊ป กำหนดระยะเวลาและรูปแบบการจัดการใน 3 ขั้น ได้แก่ 1.) ระยะเร่งด่วน 6 เดือน ใน 10 จังหวัด 2.) ระยะปานกลาง 1ปี 20จังหวัด 3.) ระยะยาว 1ปีขึ้นไป 47 จังหวัด
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็นถึงการวางกรอบเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก สำหรับโครงการที่ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมสูงขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะวางกรอบการทำงานภายใน 1 ปีได้ ไม่ว่าโครงการนั้นจะมีความเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
"วันนี้รัฐกำลังละเลยการเชื่อมโยงการจัดการขยะกับหลายๆ เรื่องเช่น สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ละเลยความเท่าเทียมกันทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังสร้างความขัดแย้งในเกิดขึ้นในระดับชุมชนให้เพิ่มขึ้น"
เป็นเรื่องที่น่าสังเกตอีกอย่างสำหรับนโยบายจัดการขยะ โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า เพราะหากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยตามประกาศกรมควมคุมมลพิษในเรื่อง กำหนดให้สถานที่ฝังกลบขยะต้องไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 และควรตั้งอยู่ห่างจากบ่อน้ำดื่มหรือโรงผลิตน้ำประปาในปัจจุบันไม่น้อยกว่า 700 เมตร รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 300 เมตร ควรเป็นพื้นที่ดอน เเละมีสภาพทางธรณีวิทยามั่งคงแข็งแรงพอที่รองรับขยะมูลฝอย
กรณีที่เป็นพื้นที่ลุ่มที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่าไหลหลาก จะต้องมีมาตรการป้องกันแก้ไข และที่สำคัญคือ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ให้เกิดความยอมรับของประชาชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการ
ทั้งนี้ในร่างประกาศกรมมลพิษ เรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ การออกแบบ การก่อสร้าง และการจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย โดยกำหนด ห้ามมีการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติ และห้ามก่อสร้างในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะกีดขวางการไหลของทางน้ำและพื้นที่ที่มีโอกาสถูกน้ำกัดเซาะ
ขอบคุณภาพประกอบจาก PPTV
หากพิจารณากรณีพื้นที่ เชียงรากใหญ่ จังหวัดปทุมธานี จะพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นลุ่มชุ่มน้ำ มีลำคลองสาขาเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำท่วมซ้ำซาก มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น
ที่สำคัญ ตัวโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ตั้งอยู่ห่างจากสถานีสูบน้ำดิบเพื่อการทำประปาที่มีผู้ใช้น้ำร่วมกันกว่า 12 ล้านคน เพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่มลพิษจะไหลลงสู่คลองสาขาและเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง
คำถามที่ทั้งชาวบ้านและนักวิชาการสงสัยคือ พื้นที่นี้เหมาะสมแล้วจริงๆ หรือ!!
นางสาวเพ็ญโฉม แสดงความกังวลต่อนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งยังเสนอให้รัฐเร่งทบทวนพิจารณาการจัดการขยะใหม่ เพราะเห็นว่า โรงเผาขยะเป็นทางเลือกการจัดการที่แพงที่สุด และนำไปสู่ภาระหนี้สินของประเทศและท้องถิ่น เนื่องจาก อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษและการปฏิบัติตามมาตราฐานด้านสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูงมาก และการเผาจะทำให้เกิดขี้เถ้าที่มีสารพิษ ซึ่งต้องฝังกลบตามหลักวิศกรรมที่มีต้นทุนสูง เพราะต่อให้เผาอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเหลือเถ้าจากการเผา
ขณะที่ขยะในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยกและเป็นขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการเผาลดลง หรือไม่คุ้มทุนที่จะดำเนิการต่อ
ในรายงานงบประมาณ ตามร่างแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศในระยะเวลา 6 ปี พบว่ าต้องใช้งบประมาณมากถึง 178,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณของรัฐ 94,600 ล้านบาท และการลงทุนจากเอกชนอีก 84,000 ล้านบาท
งบประมาณจำนวนมากนี้ ผอ.มูลนิธิบูรนิเวศ มองว่า รัฐกำลังก่อหนี้สินผูกพันในระยะยาว และเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี หากการจัดการขยะภายใต้แผนการดังกล่าวไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง รัฐและประชาชนจะต้องมานั่งเสียค่าโง่อีกมหาศาล การใช้งบประมาณในโครงการที่เยอะขนาดนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงสิ่งที่ควรส่งเสริมในนโยบายจัดการขยะของไทย คือแนวคิดเรื่องการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้แทนการทำลายทิ้ง เพื่อลดความสูญเปล่าของสังคมอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างระบบการเก็บ-ขน ระบบคัดแยก ให้มีประสิทธิภาพ เพราะหากดูในบ้านเรา แม้ว่าจะมีหลายครัวเรือนแยกขยะ แต่สุดท้ายระบบการเก็บก็เอาไปรวมกันอยู่ดี แบบนี้ไม่เกิดผลอะไร ทั้งยังสร้างภาระในการจัดการมากขึ้น ทั้งๆ ที่หากเราคักแยกขยะจริงๆ เราจะเหลือขยะที่ใช้ไม่ได้ในปริมาณที่น้อยมาก กว่าครึ่งเป็นขยะอินทรียที่สามารถนำเอาไปต่อยอดทำปุ๋ยหมักต่อไปได้ และหากทำได้โรงไฟฟ้าขยะก็แทบจะไม่มีความจำเป็น
สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ตัวแทนกลุ่มศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ขยะส่วนใหญ่ในประเทศเป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ แต่วันนี้เราเพียงแค่ไม่มีระบบการจัดการตั้งแต่ต้น ทำให้ประเทศเรามีปัญหา หากเราสามารถจัดการขยะพวกนี้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ปริมาณขยะจะลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง แล้วส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปรีไซเคิลต่อไป หากทำได้อย่างนี้จริง เราจะมีอะไรไปเผาในโรงไฟฟ้าขยะ
ด้านนายชำนัญ ศิริรักษ์ นักกฎหมายและทนายความสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า การที่รัฐบาลไทยอ้างถึงโรงไฟฟ้าขยะที่ญี่ปุ่นบ่อยครั้ง อย่าลืมว่าที่นั่นเขามีพื้นที่น้อย และมีการจัดการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามถึงวันนี้โรงไฟฟ้าขยะทั่วญี่ปุ่นกำลังก่อสารพิษอย่าง ไดอ๊อกซิน ซึ่งมีอันตรายอย่างมาก เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีที่ดีอย่างไรก็ไม่สามารถกำจัดสารตัวนี้ได้
"วันนี้ถ้ารัฐมองเรื่องความสงบเรียบร้อยของคนในสังคม ก็ควรมองการลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นจากการผลักดันโรงไฟฟ้าขยะ การปรับกฎหมายให้ย่อหย่อนยิ่งสร้างความขัดแย้ง ยิ่งมีความขัดแย้ง นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารบ้านเมืองเเล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้าและเป็นเรื่องยากที่รัฐจะสามารถบูรณาการกับประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายของการจัดการขยะที่ยั่งยืนได้"
ท้ายที่สุด การจัดการขยะที่ยั่งยืนของไทยจะเดินทางไปสู่จุดใด ในวันที่การดำเนินนโยบายของภาครัฐขาดซึ่งธรรมาภิบาลที่พึงมี นอกจากนี้ยังมีหลายประเด็นปัญหาให้ต้องกังวลหากรัฐยังดื้อดัน จะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของมลพิษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.
ขอบคุณภาพประกอบหัวเรื่องจาก http://www.greenintrend.com/
ภาพประกอบพื้นที่เชียงนากใหญ่จาก PPTV