ชาวบ้านหวัง รบ.หน้าพัฒนาสวัสดิการชุมชนเป็นฐานสวัสดิการสังคม
แจกสวัสดิการชุมชน 260 ล้าน 1,500 กองทุน “มาร์ค”โปรยตั้งใจให้เป็นโครงการถาวร ส่วนกองทุนอื่นแล้วแต่สมัครใจ ชาวบ้านเสนอทุกรัฐบาลสานต่อสมทบ 3 ฝ่าย แนะมองไกลกว่าตัวเงิน-เกิดแค่เจ็บตาย ต้องรองรับวิกฤติอนาคต-เชื่อมแผน อปท.
วันที่ 29 เม.ย. 54 ที่ทำเนียบรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการสวัสดิการชุมชนและมอบงบประมาณสมทบให้องค์กรสวัสดิการชุมชนเพิ่มเติม 1,587 กองทุน 260.8 ล้านบาท โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป้าหมายสำคัญคือการทำให้ประชาชนมีหลักประกันมั่นคงภายในปี 2560 ขณะนี้มีกฎหมายการออมแห่งชาติที่ผ่านรัฐสภา จะช่วยให้ลูกจ้างเข้าประกันตน แต่กลไกระดับชาติอย่างเดียวไม่เพียงพอจะดูแลคนทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการในพื้นที่ ซึ่งอาศัยทุนทางสังคมที่มีอยู่เพื่อสนองต่อบริบทที่หลากหลายในพื้นที่
“2 ปีที่ผ่านมาแม้จะเดินหน้าเห็นความเข้มแข็งระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการสร้างเครือข่ายคือก้าวสำคัญต่อไป ในขณะที่อีกหลายแห่งต้องเริ่มสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา”
นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบนโยบายสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ(วีดีโอคอนเฟอเร้น)แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดดังนี้ 1.ประชาชนต้องเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกองทุน ที่ใดก้าวหน้าควรหนุนเสริมให้เข้มแข็ง จัดการรายละเอียดเชื่อมโยงเครือข่ายให้มากขึ้น ส่วนอื่นๆสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของตน 2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เข้ามาเป็นแกนหลักมากขึ้น 3.ให้กลไกระดับจังหวัดเป็นตัวเชื่อมรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนไม่โดดเดี่ยว และ 4.ให้กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผลและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ตัวแทนจากพื้นที่ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก, เลย, สุราษฎร์ธานี, นครสวรรค์และสระแก้ว มีข้อเสนอให้รัฐบาล ได้แก่ ต้องการให้บัญญัติแนวทางสนับสนุนงบสมทบทั้ง 3 ฝ่ายอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล พร้อมให้จังหวัดมีนโยบายจัดสวัสดิการชุมชนที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าตั้งใจให้สวัสดิการชุมชนเป็นโครงการถาวรอยู่แล้ว เพราะเห็นเป็นรูปธรรมและมั่นใจว่าคงมีการสานต่อในรัฐบาลต่อไป ส่วนระบบต่างๆที่ตั้งขึ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนที่สามารถเลือกให้สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด
นายอิสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.53-เม.ย. 54 คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติเงินสมทบกองทุนฯครอบคลุม 76 จังหวัด 3,511 กองทุน สมาชิกกว่า 1.4 ล้านราย วงเงิน 542.9 ล้านบาท และมีเงินกองทุนจากสมาชิกรวม 888 .6 ล้านบาท
“ที่ผ่านมาชาวบ้านพอใจการจัดสวัสดิการชุมชนเพราะตรงกับความต้องการและฐานที่ดำเนินงานอยู่ แต่สิ่งที่ต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้นคือการพัฒนาระบบบริหารกองทุน และ อปท. เพื่อขยายผลไปยังชุมชนที่ส่วนร่วมน้อย พร้อมเร่งตั้งกองทุนใหม่ให้ชุมชนได้เข้าถึงมากขึ้น”
ทั้งนี้ยังมีการนำเสนอ “พื้นที่รูปธรรมปฏิรูประบบสวัสดิการโดยชุมชนและท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย” โดยนายสำราญ คงนาม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต กล่าวว่าก้าวต่อไปของสวัสดิการชุมชนต้องมองให้ไกลกว่า 5 ประเภทคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้อยโอกาส เพราะในอนาคตชุมชนต้องเผชิญกับวิกฤติไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลต่อมิติอื่นๆทางสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย การพัฒนาอาชีพ เบื้องต้นหลายแห่งตื่นตัวและจัดการให้เกิดรูปธรรมแล้ว ทั้งนี้การเชื่อมประเด็นเข้าสู่แผน อปท.จะทำให้การเคลื่อนงานง่ายขึ้น แต่สำคัญคือแผนดังกล่าวควรมีลักษณะเป็นแผนที่มีชีวิตหรือเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ
“ที่ป่าคลอกมีปัญหาคนย้ายถิ่น ไม่มีทะเบียนบ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชนก็ช่วย ตอนนี้ร่วมกับสถาบันการเงินชุมชนซื้อที่ดินที่หลุดมือไปอยู่ที่นายทุนกลับมาจัดที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ฟื้นฟูอาชีพต่างๆ”
นางสาวเพ็ญพักตร์ รัตนคำฟู นายกเทศบาล ต.เกาะคา จ.ลำปาง กล่าวว่าอปท.อย่ามองว่าทำงาน 4 ปีแล้วไป เพราะมีบทบาทหนุนเสริมการสร้างสวัสดิการ และบทพิสูจน์จากพื้นที่เกาะคะก็สะท้อนว่าการทำงานในลักษณะหนุนเสริมของ อปท.มีความสำคัญ เนื่องจากพื้นที่มีทั้งชุมชนที่อ่อนแอและแข็งแรง ต้องอาศัยท้องถิ่นช่วยประสานสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันก่อน และก้าวต่อไปของสวัสดิการชุมชนจะต้องมองให้ไกลกว่าตัวเงินว่าจะเพิ่มหรือไม่ แต่ควรขยายการช่วยเหลือให้ทั่วถึงกับทุกกลุ่มปัญหาของสังคม
นายสมศักดิ์ สุวรรณจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าในมิติของราชการ การสนับสนุนสวัสดิการชุมชนจะผ่านคณะกรรมการฯระดับจังหวัด แต่นี่เป็นเพียงองค์ประกอบเดียว ซึ่งการจะทำให้ก้าวหน้าจริงๆต้องเชื่อมประสานกับองค์กรชุมชน และ อปท. และเสนอว่าควรทำในลักษณะแบ่งโซนกระจายการทำงานให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ไม่ใช่กระจุกอยู่ส่วนกลาง
ทั้งนี้ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน นำโดย นายแก้ว สังข์ชู คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายฯ ได้ยื่น “ข้อเสนอเชิงนโยบายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” ต่อนายกรัฐมนตรี (รายละเอียดท้ายข่าว) โดยในประเด็นสวัสดิการชุมชนมีข้อเสนอว่า ให้มีการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้เป็นฐานของระบบสวัสดิการสังคม โดยพัฒนาคุณภาพกองทุนที่จัดตั้งแล้วกว่า 3,000 ตำบลและขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุม เชื่อมโยงกับฐานพัฒนาด้านต่างๆ พร้อมทั้งพัฒนาแหล่งทุนและผนึกกำลังกับ อปท.ในการจัดระบบสวัสดิการให้สอดคล้องกับพื้นที่ด้วย.