กสม.เปิดเวทีถกสิทธิชุมชน นักวิชาการรากหญ้าชี้ “คนจนถูกมองเป็นอาชญากรเสมอ”
ส.ศิวลักษณ์” อัดกระบวนการยุติธรรมไทยคลอนแคลน-หาคนกล้าหาญทางจริยธรรมยาก “จินตนา” ระบายคดีชาวบ้านสู้ยากถ้าอัยการไม่เข้าใจสิทธิชุมชน “เพิ่มศักดิ์” ชี้พิพาทป่าไม้ที่ดิน นายทุนชนะเสมอ
วันที่ 13 ธันวาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุม เรื่อง กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปาฐกถาเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร”
นายสุลักษณ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงกระบวนการยุติธรรม โดยตั้งคำถาม ปัจจุบันบ้านเมืองเรามีอัยการคนไหนบ้างที่กล้าหาญในทางจริยธรรม และตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีกี่คนที่เป็นสุจริตชน
“ไม่ใช่เราไม่มีคนดี แต่กระบวนการยุติธรรมของเรารวนเร และกระบวนการศึกษาก็ล้มเหลว ตลอดจนระบบราชการก็คลอนแคลน ข้าราชการส่วนใหญ่สมาทานลัทธิทุน นิยมบริโภคนิยม ซึ่งแนบสนิทไปกับระบอบเสนาอำมาตยาธิปไตย ที่นับถือความสำเร็จที่ชื่อเสียงและเกียรติยศอันจอมปลอม โดยเชื่อมั่นว่า เงินกับอำนาจสามารถบันดาลอะไรๆ ได้ทั้งสิ้น”
นายสุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ถ้าตำรวจดี อัยการดี รวมถึงทนายความและผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ได้มีเวลาไปเยี่ยมคนในคุก มีเวลาไปคุยกับคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อ ปลายแขม และคนที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ธรรมชาติ และต่อสู้เพื่อสังคมอันยุติธรรม อาจเข้าใจอะไรๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากติดอยู่กับตัวบทกฎหมาย
“ถ้าเขามีสติปัญญามากพอ น่าจะตระหนักถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ถ้าผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจความข้อนี้ เขาจะเป็นมนุษย์ได้ เหนือไปจากความเป็นคนที่มุ่งเพียงแค่ กิน กาม เกียรติได้อย่างไร”
เอ็นจีโอ ขอร้องศาลพิจารณาอย่างรอบด้าน
ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มปกป้องรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการสร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อรักษาซึ่งที่ดินของชุมชนจนต้องได้รับโทษติดคุกเป็นเวลา 59 วันและเพิ่งได้รับการอภัยโทษมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ยังต่อสู้ต่อ จะไปติดตามกระบวนการต่อ เฝ้าดูนายทุนที่ถือครองที่ดินจะถูกเพิกถอนหรือไม่ ข้าราชการที่ทำผิดทุจริตต่อหน้าที่จะถูกอาญาทางวินัยหรือไม่ และที่ดินจะมีการเพิกถอนหรือไม่
“เราต้องการให้ศาลมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน เนื่องจากเชื่อว่าคดีนี้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมอยากให้ศาลพิจารณาอย่างรอบด้าน คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญาทั่วไป ที่จะชี้ผิดหรือถูก แต่เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ศาลจึงไม่รับฎีกา จึงค่อนข้างชัดในความรู้สึกว่ากระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวนถึงอัยการมองเรื่องรูปคดีว่า ผิดหรือถูก มากว่าจะดูอะไรคือสาเหตุ”
เพิ่มศักดิ์ ชี้ยังไม่ทันผิดก็ติดคุกก่อน
จากนั้นมีการแสดงความเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมจากมุมมองนักสิทธิมนุษยชน” โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหามาก สำหรับคดีเรื่องที่ดินป้าไม้และทรัพยากร ไม่เคยเห็นคำพิพากษาที่ออกมาในทิศทางปกป้อง คุ้มครองสิทธิของชุมชนที่ต่อสู้เพื่อให้ที่ดินและทรัพยากรนั้นๆ คงความเป็นสมบัติของรัฐ ชาวบ้านไม่เคยเป็นฝ่ายชนะ มีแต่ฝ่ายนายทุนที่เข้าไปครอบครองที่ดินและทรัพยากรเป็นฝ่ายชนะ
“เราไม่เคยเห็นกระบวนการตรวจสอบกันเองของรัฐ ไม่เห็นการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่า เป็นกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมหรือไม่ สถานการณ์ในปัจจุบัน ระบบยุติธรรมมาบนฐานของทุนนิยม ปกป้องกลุ่มทุน และนายทุน เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ต้องโทษ 2-3 แสนคนที่อยู่ในคุก ล้วนเป็นคนจนและคดีคนจนก็ไม่เคยชนะ จริงๆ ยังไม่ทันผิดก็ติดคุกก่อนแล้ว ทั้งนี้ ยังปฏิบัติกับประชาชนที่อยู่ในระหว่างคดีเยี่ยงกับอาชญากร”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การจะแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไม่ได้แก้ที่ศาลอย่างเดียว ต้องแก้ที่ระบบ แก้ที่ นโยบายของรัฐและตัวบทกฎหมายที่เป็นเครื่องมือ รวมทั้งต้องแก้ที่คน เพราะแม้มีบางข้อเสนอให้เลิกใช้ระบบ 'กล่าวหา' แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบ 'ไต่สวน' แต่หากยังมีความคิดแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไหนๆ ก็ไปไม่รอด
ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบศาลแต่ละชั้นไม่มีความสอดคล้องกัน ตัวกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหา วันนี้จำเป็นต้องพูดหรือต้องทำให้เสียงของชาวบ้านและทนายความที่พูดและทำเรื่องเหล่านี้มายาวนาน ให้ไปเข้าหูคนที่เกี่ยวข้องหรือสมควรได้ยินเสียที ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมในบ้านเรายังขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘การรับผิด
’“ระบบศาลในประเทศเรามีความรับผิดชอบต่อสังคมน้อย หากจะทำให้ศาลมีความรับผิดชอบต่อสังคม จำเป็นจะต้องทำให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลและคำพิพากษาของศาลได้ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่นักวิชาการ”
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของเวที นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการทำรายงานสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำส่งแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป