3 เดือน 5 ศพ...ชาวบ้านปะแตผวาไม่กล้าออกกรีดยาง วอนทหารตั้งฐานในพื้นที่
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายพื้นที่ยังคงตึงเครียด โดยเฉพาะปัญหาที่ชาวบ้านไม่กล้าออกไปกรีดยางพารา เพราะเกรงอันตรายจากการถูกลอบยิง จนทำให้ครอบครัวขาดรายได้ ซ้ำเติมปัญหาราคายางตกต่ำ
ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านใน ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา คือ บ้านสะปอง บ้านกือซง และบ้านทำนบ จำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน ไม่กล้าออกไปกรีดยางและทำงานในสวนยางพาราตามปกตินานนับเดือนแล้ว ด้วยเหตุผลของความหวาดกลัวอันตราย เนื่องจากมีคนในหมู่บ้านถูกยิงเสียชีวิตมาแล้ว 5 ศพ ในห้วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนของปีนี้
22 ม.ค. คนร้ายลอบยิง นายดอรอแม อาบูบากา อายุ 50 ปี เสียชีวิตพร้อมภรรยา คือ นางอามีเนาะ อาบูบากา อายุ 49 ปี ขณะขับรถยนต์ไปสวนยาง เหตุเกิดในท้องที่บ้านทำนบ
19 ก.พ. คนร้ายลอบยิง นายอับราชิ มูจุ อายุ 48 ปี เสียชีวิตขณะเดินไปมัสยิดในท้องที่บ้านสะปอง
2 มี.ค. คนร้ายยิง นายอิบรอเฮ็ง ราแดง อายุ 36 ปี เสียชีวิตขณะเดินทางไปกรีดยาง ในพื้นที่บ้านสะปอง เหตุเกิดบริเวณบ้านซาลาแป บ้านบ่อยของบ้านทำนบ
3 มี.ค. คนร้ายยิงและจุดไฟเผาร่าง นายฉัตรชัย แซ่ทอง อายุ 55 ปี เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปกรีดยาง เหตุเกิดในพื้นที่หมู่ 5 ต.บาโระ อ.ยะหา
จากบรรยากาศอึมครึมในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านกว่า 50 คนไปรวมตัวกันที่มัสยิดบ้านทำนบ เพื่อพูดคุยกันถึงแนวทางการแก้ไข หลังจากได้เสนอปัญหาไปยังหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วย และได้ร้องขอกำลังทหารให้เข้าไปตั้งฐานอยู่ในหมู่บ้านนานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
ชายวัย 50 ปีรายหนึ่งที่อาศัยในหมู่บ้านทำนบ เล่าว่า ชาวบ้านต้องการให้ทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างความอุ่นใจ แต่กลับไม่มีคำตอบใดๆ จากฝ่ายรัฐ ทั้งนายอำเภอ ทหาร ตำรวจ เงียบกันทุกฝ่าย แถมกลับมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา กว่า 1,200 ชีวิตไม่ใช่ปัญหา ทั้งๆ ที่นี่คือปัญหาใหญ่สำหรับพวกเรา
"เราแค่ขอให้ทหารมาอยู่ในพื้นที่ เพราะช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงหนักๆ ราวปี 2548 ถึงปี 2553 ทหารก็เข้ามาอยู่ ทุกอย่างก็สงบดีเป็นปกติ ชาวบ้านมีความสุขมาก สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ แต่พอทหารออกไป โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลังมานี้ ก็เกิดเหตุยิงชาวบ้านไปกรีดยาง ทำให้เราไม่กล้าไปกรีด ไม่ใช่มีคนห้าม แต่เพราะเรากลัวว่าจะถูกยิงอีก" ชายวัย 50 ปี กล่าว
นายมามะซารี คอลอราแม อายุ 57 ปี อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านทำนบ บอกว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านทำได้เพียงร่วมกันจัดเวรยาม แล้วสลับกันมาเข้าเวรทุกคืน เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. มี 2 ชุดต่อวัน แต่ละชุดประกองบด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน, กรรมการผู้นำศาสนา 2 คน และชาวบ้านอีก 4 คน ตั้งจุดตรวจที่มัสยิดบ้านทำนบ 1 จุด และที่มัสยิดบ้านสะปองอีก 1 จุด เหตุผลที่ตั้งจุดตรวจบริเวณนั้น เพราะเป็นสามแยก อยู่ปากทางเข้าหมู่บ้านย่อยๆ อีกหลายหมู่บ้าน
"ผมเป็นอิหม่าม ผมก็ต้องถือปืน ทั้งที่อิหม่ามทำแต่เรื่องศาสนา แต่เมื่อบ้านของเราไม่มีความสงบ เราก็จำเป็นต้องถือปืนเพื่อป้องกันคนแปลกหน้าเข้ามา แต่ถ้าคนร้ายเข้ามาจริงก็คงต้องหนี เพราะยิงไม่เป็นเหมือนคนอื่นเขา" นายมามะซารี กล่าว
อิหม่ามที่จำใจต้องถือปืน บอกด้วยว่า ฐานทหารทหารที่ใกล้ที่สุดในปัจจุบัน อยู่ห่างจากบ้านทำนบไปหลายกิโลเมตร เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่าทหารจะมาถึง นี่คือเหตุผลที่ชาวบ้านต้องการให้ทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่
นางมารีเยาะ เปาะโอ๊ะ อายุ 53 ปี ชาวบ้านซาลาแป บ้านย่อยของบ้านทำนบ เล่าว่า ก่อนหน้านี้กรีดยางอยู่กับลูกสาวคนโต 2 คน เพราะสามี ไม่กล้ากรีดยางนานแล้ว ต้องไปเลี้ยงวัวอยู่ที่ปัตตานี แต่ปัจจุบันนางกับลูกสาวก็ไม่กล้ากรีดยาง ต้องทิ้งสวนยาง 30 ไร่ของตัวเองไปรับจ้างกรีดยางที่หมู่บ้านด้านล่าง ทำให้พอมีเงินมาซื้อข้าวปลากินได้บ้าง คงต้องรอจนกว่าพื้นที่นี้จะสงบ
"ไม่ใช่ก๊ะห์ (สรรพนามแทนตัวเองของผู้หญิง) คนเดียวนะที่ไม่กล้ากรีดยางบนภูเขาซาลาแป แต่มีชาวบ้านอีก 200 ครอบครัวต้องทิ้งบ้านกลับไปอยู่ที่ปัตตานี ส่วนก๊ะห์ก็มาอยู่หมู่บ้านเชิงเขา ทุกวันนี้มีชาวบ้านบางคนทนไม่ไหว กลัวก็กลัว แต่ลูกไม่มีข้าวกิน ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นไปกรีดยางบ้างช่วงกลางวัน บางคนไปแล้วได้ยินเสียงกิ่งไม้หักก็ตกใจ วิ่งลงมาอย่างไม่คิดชีวิต ชาวบ้านกลัวมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เคยร้องขอกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการอำเภอยะหา แต่ก็ยังเงียบ นายอำเภอมาในพื้นที่ ทุกคนก็อุ่นใจ แต่พอนายอำเภอออกไป ความหวาดกลัวก็เกิดขึ้น ไม่ทันมืดทุกคนต้องปิดบ้าน"
"มาที่นี่ช่วงกลางวันจะเห็นว่าไม่มีอะไร แต่พอตกเย็น ชาวบ้านจะปิดประตูหน้าต่าง บางบ้านมีรูที่เป็นช่องลม เจ้าของบ้านก็จะเอาก้อนหินหรือไม้ไปปิดไว้ เพราะกลัวคนที่อยู่ข้างนอกจะเห็น ผู้หญิงจะอยู่ที่บ้าน ส่วนผู้ชายจะไปนอนกันที่มัสยิด เพราะกลัวไม่กล้าอยู่บ้าน หลายครอบครัวย้ายลูกออกจากโรงเรียนในพื้นที่ ไปเรียนที่ปัตตานีแล้ว" นางมารีเยาะ กล่าว
นางตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุบุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เกิดขึ้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็สามารถระบุตัวคนร้ายได้ แต่เหตุยิงชาวบ้านในพื้นที่ อ.ยะหา เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายครั้ง ทว่ายังจับใครไม่ได้เลย และไม่มีข้อมูลมาอธิบายกับชาวบ้านว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร
ด้าน นายสมศักดิ์ ศรีสมบัติ นายกเทศมนตรีเทศบลตำบลปะแต แม้จะยอมรับว่าขณะนี้ในพื้นที่มัปัญหาชาวบ้านไม่กล้าออกไปกรีดยางจริง แต่เขาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า พื้นที่ที่มีปัญหามีเพียงหมู่เดียวเท่านั้น คือ หมู่ 3 มีประชากรประมาณ 1,000 คน เป็นคนในพื้นที่ มีทะเบียนราษฎร์ 800 คน ที่เหลือเป็นคนนอกพื้นที่
ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำสวนยางและสวนผลไม้ พื้นที่ทำกินรวมนับพันไร่ เมื่อเกิดเรื่อง ชาวบ้านก็ไม่กล้าออกกรีดยาง เป็นเช่นนี้มาหลายเดือนแล้ว
"ที่ผ่านมาทางเทศบาลพยายามเข้าไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน สร้างความเชื่อมั่น แต่ก็ยังไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านต้องการ อย่างวันก่อนในพื้นที่ก็มีงานบัณฑิตน้อย โดยพยายามจัดงานให้ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความสุขให้กับชาวบ้าน จะได้ลืมเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็แค่ไม่นานเท่านั้น" นายกเทศมนตรี กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศอึมครึมในหลายหมู่บ้านของ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
2 อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านทำนบ (กางเกงสีฟ้า) ต้องสะพายปืนทำหน้าที่ ชรบ.ร่วมกับชาวบ้าน