สพม.จับมือภาคี ดันจรรยาบรรณนักการเมืองรับเลือกตั้ง
สภาพัฒนาการเมือง ร่วมศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มูลนิธิองค์กรกลาง รณรงค์เลือกตั้งโปร่งใส 11 พ.ค.ชวนนักการเมืองร่วมพันธะสัญญา เดินสายปลุกจิตสำนึกชาวบ้าน 5 ภูมิภาค สมาชิก สพม.เชื่อข้อเสนอ คปร.ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเป็นหมัน เสนอการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงการเคลื่อนไหวเชิงรุกต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ขณะนี้ สพม.ได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์สร้างความเที่ยงธรรมและจรรยาบรรณในการเลือกตั้ง
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งมีความสุจริตโปร่งใสมากขึ้น โดยใช้มาตรฐานที่ International Institute For Democracy And Electroal Assistance (International IDEA) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆที่ได้รวบรวมศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการเลือกตั้งมาประมวลเป็นมาตรฐานจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งในระดับสากลเป็นตัวตั้ง
ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ สพม.จะทำหน้าที่รณรงค์ไปสู่พื้นที่ผ่านการทำงานกลไกทำงานระดับจังหวัด ให้ชาวบ้านได้รับรู้ผ่านเวทีทำความเข้าใจ 5 ภูมิภาค และจะเชื่อมกับ กกต.ซึ่งมีโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ จัดเวทีทำความเข้าใจให้กับพรรคต่างๆ และหลังจากนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันยุบสภา ในวันที่ 11 พ.ค.จะมีพิธีลงนาม โดยเชิญพรรคการเมืองทั้งหลายมาให้พันธะสัญญาว่าจะทำตามจรรยาบรรณร่วมกัน ที่รัฐสภา
“เห็นว่าบ้านเรามีกฎหมายแล้วต้องมีจรรยาบรรณด้วย เพราะนักการเมืองคือวิชาชีพหนึ่งที่ต้องพัฒนา ไม่ใช่นักการเมืองแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่มีบทบาทอย่างมากต่อทิศทางของประเทศ และประเด็นนี้จะปล่อยให้รู้กันแค่วงเล็กๆไม่ได้ ต้องขยายไปให้ถึงระดับหมู่บ้าน”
ทั้งนี้จรรยาบรรณหาเลือกตั้งดังกล่าว หลักใหญ่คือการให้นักการเมืองยึดมั่นในเสียงของประชาชน ประกอบด้วย 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เคารพและทำตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายเลือกตั้ง และระเบียบที่กำหนดโดย กกต. 2.ไม่กระทำการซื้อเสียง ไม่ใช้กลไก ทรัพยากรรัฐ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง
3.หาเสียงเลือกตั้งด้วยสันติวิธี ไม่ข่มขู่ ไม่ใช้และประณามความรุนแรง และยืนยันว่าจะไม่รบกวนการหาเสียงของพรรคอื่นๆ 4.ไม่ใช้ถ้อยคำภาษาที่ร้อนแรง ใส่ร้ายผู้อื่นให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง และ 5.ยอมรับผลเลือกตั้ง อันถือว่าเป็นการสะท้อนเสียงและความต้องการของประชาชนที่เชื่อถือได้และเที่ยงธรรม
รองประธาน สพม.กล่าวด้วยว่า อีกส่วนหนึ่งคือการเข้าไปเชื่อมร้อยกับโครงการศูนย์ข้อมูลนักการเมืองของ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลนักการเมืองรายบุคคล โดย สพม.จะช่วยรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากชาวบ้านยังเข้าถึงสื่อออนไลน์ค่อนข้างยาก โดยจะใช้การประชุมระดับภาคเรื่องจรรยาบรรณฯ เป็นช่องทางในการเผยแพร่
“ได้มุ่งเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น หลักคือพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน ทำให้ประชาชนเข้มแข็งตระหนักถึงพลังตนเองที่จะรับผิดชอบสังคมและประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ”
ด้าน นายไพโรจน์ พรหมสาส์น สมาชิก สพม.จากเครือข่ายผู้ประสานงานองค์กรชุมชน กล่าวในประเด็นการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง ว่าเห็นด้วยที่จะให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)ที่เสนอต่อรัฐบาล แต่คิดว่าเป็นไปได้ยากเพราะมีแรงต้านมาก จึงเสนอว่าน่าจะใช้วิธีกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ชัดเจน และส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งก็เท่ากับว่าท้องถิ่นจะได้จัดการตนเอง และราชการส่วนภูมิภาคก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย น่าจะเป็นวิธีการกระจายอำนาจที่ได้ผลและสอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยชุมชน
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม สมาชิก สพม. จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่าประเด็นเร่งด่วนที่พรรคการเมืองควรบรรจุเป็นนโยบายสำคัญคือการทำให้จังหวัดที่มีศักยภาพหรือมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการจัดการแบบระบบการปกครองจากส่วนกลางได้ ยกระดับเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอำนาจจัดการรวมศูนย์และวิธีแก้ปัญหาก็ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ .