นักการเมืองไทยโกงมากสุดในโลก! เสวนา ป.ป.ช.สรุปบทเรียน-ก้าวข้ามอย่างไร?
“คำถามคือทำไมนักการเมืองไทยถึงโกงได้เร็วมาก เมื่อเทียบกับผู้นำเผด็จการทหาร หรือเผด็จการรัฐสภาในต่างประเทศ เพราะจากคนที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากระบบราชการ ความรู้เรื่องทุจริตมันน้อย โกงแบบง่าย ๆ ไม่เหมือนนักการเมืองไทยที่มาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มีความรู้เรื่องกลไกตลาด โกงได้ซับซ้อนกว่ามาก ในแง่ขอความเป็นแชมเปี้ยนโลก นักการเมืองไทยโกงได้เร็วมากกว่านักการเมืองชาติอื่น ๆ”
“การโกงของนักการเมืองไทยรุนแรงที่สุดในโลก”
เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงานเสวนา ‘ปอกเปลือกกลโกง บทเรียนราคาแพงที่ต้องสานต่อ’ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มีผู้ร่วมเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคอร์รัปชั่นมาอย่างยาวนานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต นางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.บริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และ ดร.ภาส ภาสสัทธา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการสำนักงาน ป.ป.ช.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาทุจริต-คอร์รัปชั่นกัดกินสังคมไทยอย่างฝักรากลึกมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล จะมาจากการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหาร ปัญหาดังกล่าวก็ยังรุมเร้าอยู่เสมอ !
ขณะเดียวกันในหลาย ๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก รวมถึงการจัดวงเสวนาเกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อหาทางออก ก็ใช่ว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดไปเสียทีเดียว เพราะบางครั้งผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ ก็ไม่เคย ‘สรุปบทเรียน’ เรื่องนี้ แล้วดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ
สังคมไทยจะก้าวข้ามเรื่องนี้ได้อย่างไร-นักการเมืองไทยโกงรุนแรงที่สุดจริงหรือ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปประเด็นการเสวนาในงานดังกล่าว มานำเสนอต่อสาธารณชน ดังนี้
@ต้องออก กม.คุ้มครอง จนท.รัฐทำคดี-พยานชี้เบาะแสโกงสำคัญมาก ถือว่าช่วยชาติมหาศาล
“เรื่องการปราบคนโกงต้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่เอาหูไปนาตาไปไร่ ทั้งผู้ที่รู้เห็นและผู้ที่ทำคดี”
เป็นการกล่าวเปิดฉากของ ‘วิชา มหาคุณ’ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และถูกยกให้เป็นกระบี่มือหนึ่งในแวดวงการปราบทุจริต
ก่อนอธิบายว่า การทำคดีต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ต้องไม่ถอดใจ สมัยก่อนบางครั้งตอนทำงานเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เจอเจ้าหน้าที่ถอดใจแล้วก็รู้ว้าเหว่ ไต่สวนบางคดี เจอบีบเข้าหน่อย เจ้าหน้าที่บางคนก็ขอลาออก เพราะเห็นว่า ขนาดบ้านของประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนยังโดนระเบิด เขาก็ตกใจ ยิ่งกว่านั้นยังมีเรื่องของการฟ้องร้องคดีอีก ซึ่งตนโดนมานับไม่ถ้วนแล้ว
‘วิชา’ เล่าอีกว่า โดยเฉพาะเวลาโดนฟ้องคดี สำหรับกรรมการ ป.ป.ช. จะมีกฎหมายคุ้มครอง ต้องฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ปกติ ก็จะใช้กฎหมายธรรมดาฟ้องศาลปกติได้ ทำให้ถูกร่างแหไปด้วย เพราะเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนนี้ ดังนั้นต้องคิดและหาทางออกกันว่า ถ้าพวกเขาถูกดำเนินคดีจะคุ้มครองอย่างไร
สิ่งที่ ‘วิชา’ อยากฝากไว้กับกรรมการชุดใหม่ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คือ เรื่องการไต่สวนคดี เพราะบางคดีมีความซับซ้อนมาก แต่กฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2554 มีการคุ้มครองพยานเกิดขึ้น ควรใช้ประโยชน์ให้เต็มพิกัด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอยู่ ได้แก่ สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ไปดูว่าประชาชนที่ให้เบาะแสเดือดร้อนหรือถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยกันป้องกัน
“ใครก็ตามเป็นพยานในคดีทุจริต ถือว่าให้ประโยชน์กับชาติมหาศาล เพราะถือว่าระงับยับยั้งโครงการที่ทำลายชาติ ทำชาติเดือดร้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ก็ถูกพวกคุณระงับยับยั้งไว้ได้”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ในกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. มีการระบุถึงโทษประหารชีวิต ซึ่งยึดถือตามประมวลกฎหมายอาญา แม้หลายฝ่ายเห็นว่า ไม่ควรจะมีการลงโทษถึงประหารชีวิต แต่ประเทศไทยก็เห็นได้ว่าไม่ค่อยมีการประหารใคร หรือมีการหยุดยั้งไป เพราะเกรงจะถูกโจมตีจากโลกภายนอก ดังนั้นความเคลื่อนไหวที่ยังมีอยู่ในวันนี้คือ จะต้องมีโทษปรับให้สูง ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้สูงที่สุด สูงขนาดเรียกได้ว่าบางบริษัทถือว่าล้มละลาย หรือปิดตัวลงได้เลย
“โดยเฉพาะคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ มีหลายบริษัทที่อยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช. เท่าที่ทราบมีบริษัทต่างชาติด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เช่นคดีเหมือง ที่เรากำลังดำเนินการกันอยู่”
@นักการเมืองไทยโกงรุนแรงที่สุดในโลก ใช้หลักคิดเศรษฐศาสตร์-พลังสังคมแก้ไขปัญหา
ขณะที่ ‘รศ.ดร.สังศิต’ เพิ่มความร้อนแรงกับประเด็นนี้อีกด้วยการระบุว่า “การโกงของนักการเมืองไทยรุนแรงที่สุดในโลก”
พร้อมอธิบายว่า สาเหตุที่กล้าพูดเช่นนี้ ให้ดูทรัพย์สินรัฐบาลที่โกงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าในต่างประเทศต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ถึงโกงได้ 3-4 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น นายมูบารัค อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ นายซูฮาโต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่นักการเมืองไทยใช้เวลาแค่ 5-6 ปี สามารถโกงได้เท่ากับคนที่มีอำนาจมานานกว่า 20-30 ปี
“คำถามคือทำไมนักการเมืองไทยถึงโกงได้เร็วมาก เมื่อเทียบกับผู้นำเผด็จการทหาร หรือเผด็จการรัฐสภาในต่างประเทศ เพราะจากคนที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากระบบราชการ ความรู้เรื่องทุจริตมันน้อย โกงแบบง่าย ๆ ไม่เหมือนนักการเมืองไทยที่มาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มีความรู้เรื่องกลไกตลาด โกงได้ซับซ้อนกว่ามาก ในแง่ขอความเป็นแชมเปี้ยนโลก นักการเมืองไทยโกงได้เร็วมากกว่านักการเมืองชาติอื่น ๆ”
‘รศ.ดร.สังศิต’ ยกสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองไทยโกงได้มากว่า เป็นเพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าสิ่งที่นักการเมืองทำเรียกว่าเป็นการคอร์รัปชั่น เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่เข้าใจ เช่น การตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที ในรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประชาชนเห็นว่าเป็นการปฏิรูปกระทรวงให้ก้าวหน้า แต่ที่จริงตั้งเพื่อแก้สัญญาสัมปทานของบริษัทตัวเอง หรือนโยบายรับจำนำข้าว มีการแถลงต่อรัฐสภา ส.ส. เสียงข้างมากพรรครัฐบาลรับรอง คนก็ไม่เข้าใจว่าเขาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ทำไมบอกว่าเขาโกง แต่ที่เขาโกงมันซับซ้อนมาก นี่คือวิธีการโกงของนักการเมืองไทย
“สำหรับผมคิดว่าอ่านตำราหนังสือเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในต่างประเทศมากตามสมควร และคิดว่าน่าจะมากอันดับต้น ๆ ในไทย แต่ไม่เคยเจอใครคอร์รัปชั่นได้ซับซ้อนขนาดนักการเมืองไทย”
สำหรับทางออกและการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ‘รศ.ดร.สังศิต’ ระบุว่า การโกงสมัยนี้ซับซ้อน ต้องใช้นักวิชาการ นักกฎหมายหลาย ๆ คน ช่วยกันคิดถึงจะหาจุดอ่อนได้ เพราะคนไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดว่า โกงหรือไม่ กฎหมายเขียนอย่างไร หลักคิดเรื่องกฎหมายครอบงำสังคมไทย แต่ถ้าไปต่างประเทศ ตามความหมายสากล จะระบุชัดเลยว่า พฤติกรรมที่ขัดกับจริยธรรมต่อบุคคลสาธารณะ ถ้ามีปัญหาพวกนี้ถือเป็นคอร์รัปชั่นหมด
“ต้องใช้หลักคิดพวกนักเศรษฐศาสตร์ ถึงจะจัดการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทยได้ ที่สำคัญที่สุดหลักคิดเรื่องคอร์รัปชั่นขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ถือว่า ถ้านักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประเทศเสียหายมาก ๆ ถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่น ถ้าถือหลักนี้นโยบายจำนำข้าวเข้าหลักเกณฑ์นี้เลย แต่ถ้าไม่คิดอย่างนี้ มันก็ทำงานได้ แต่ทำงานยากขึ้น”
ก่อนแบ่งการคอร์รัปชั่นเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คอร์รัปชั่นทางการเมือง คอร์รัปชั่นทางการบริหารราชการแผ่นดิน และคอร์รัปชั่นด้านเงินทอง
ก่อนยืนยันว่า ปัญหาต่าง ๆ จุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจากการคอร์รัปชั่นทางการเมือง !
เช่น การนำเงินของรัฐไปจ่ายอย่างไม่มีเหตุผล หรือการเอากฎหมายไปรังแกฝ่ายค้าน หรือผู้เห็นต่าง ถือเป็นคอร์รัปชั่นทางการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการเอาชนะการคอร์รัปชั่น แต่การบังคับใช้กฎหมายช้า ก็ต้องใช้พลังทางสังคม หรือที่เรียกว่า Social Sanction เพื่อกดดันให้เกิดเป็นกระแสสังคม นำมาใช้จัดการนักการเมือง
@หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล-สื่อต้องเป็นอิสระที่สุด
ท้ายสุด ‘ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์’ คนข่าวมือขุดคุ้ยเรื่องทุจริต ยืนยันว่า สื่อที่จะช่วยในการตรวจสอบทุจริตนั้น มองว่า รูปแบบของสื่อในปัจจุบันยังต้องพึ่งทุน ดังนั้นต้องทำให้มีความเป็นอิสระที่สุด โดยยกตัวอย่าง สื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ที่ถือว่าโอเคแล้ว หรือมีรูปแบบสื่อเล็ก ๆ อย่างสำนักข่าวอิศรา ที่แม้จะไม่อิสระ 100% แต่ก็ให้อิสระในการทำหน้าที่ และรับทุนในก้อนเล็ก ๆ โดยจะต้องดูว่าการให้ทุนนั้นจะต้องไม่มีผลผูกพันใด ๆ นอกจากให้เราทำสื่อให้มีคุณภาพ ขณะเดียวกันข้อมูลการทุจริตขององค์กรแก้ปัญหาทุจริตอย่าง ป.ป.ช.ควรจัดการข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
‘ประสงค์’ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเลย ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเข้าถึงได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตได้อย่างสำเร็จ
“ข้อมูลมากก็ไม่เป็นประโยชน์หากไม่มีการจัดการ จัดระบบข้อมูลที่ดี ซึ่งไม่ใช่แค่ ป.ป.ช. แต่ทุกหน่วยงานควรมีการจัดการข้อมูล อีกเรื่องคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย อย่างบางคดีนั้นคดีหมดอายุความคามืออัยการ จากการฟ้องผิดศาล”
ดังนั้นหากจะเกิดขึ้น ต้องอยู่ที่เจตจำนงของผู้นำ อย่าเลือกปฏิบัติ อยากรู้ว่าเรื่องการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีปัญหาหรือไม่ต้องไปดู มีหลายเรื่องที่ ป.ป.ช. มีมติ และตีตกไปแล้ว ควรเปิดให้ประชาชนตรวจดูการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ด้วย รวมทั้งคดีต่าง ๆ ที่อัยการไม่ฟ้อง เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น
“ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของรัฐบาลควรชัดเจน และอย่าใช้อำนาจแบบสะแปะสะปะ” มือข่าวขุดคุ้ยคอร์รัปชั่น ยืนยันทิ้งท้าย