เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
เปิดคำสั่ง กทค. ตั้งคณะทำงานลุยสอบ 'แจส โมบาย' ปมเบี้ยวค่าประมูลคลื่น 900 MHz 4G หลังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ‘อธิบดีอัยการสำนักคดีปราบโกง’ เป็นหัวหน้า ดึงตัวแทน ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์-กระทรวงคลัง-กฤษฎีกา ร่วมด้วย กำหนดค่าความเสียหาย ขีดเส้นเสร็จ 30 วัน
จากกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 เพื่อพิจารณากรณีที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่นำเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท และหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน 72,000 ล้านบาท ชำระให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ชาติ(กสทช.) ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
โดย ประเด็นสำคัญในการพิจารณา นอกจาก มีมติให้ยึดเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทแล้ว ที่ประชุมยังมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงาน 9 คน จากส่วนราชการต่าง ๆ มี นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีสำนักงานปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้น จากกรณีที่บริษัทแจสโมบายไม่มาชำระเงินค่าประมูลดังกล่าว รวมถึง พิจารณาและรวบรวมข้อเท็จจริงว่า บริษัทแจสโมบายมีพฤติกรรมในการเสนอราคาประมูลที่สูงเกินจริง เป็นการกีดกันคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกฎหมายป้องกันการฮั้วประมูลหรือไม่
(อ่านประกอบ : กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ตรวจสอบหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz ลงนาม โดย นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พบรายละเอียด ดังนี้
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไม่ดำเนินการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่หนึ่ง และจัดส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในวันที่ 21 มี.ค. 2559) อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895-915 MHz/940-960 MHz และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
เพื่อให้การดำเนินการแก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เป็นไปด้วยความรอบคอบ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 (3) ของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการ กทค. ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 เลขาธิการ กสทช. จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz โดย มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.เลขาธิการ กสทช. เป็นที่ปรึกษา
2.นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
3.ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้ทำงาน
4.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ทำงาน
5.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ทำงาน
6.ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ทำงาน
7.รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม ผู้ทำงาน
8.รองเลขาธิการสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผู้ทำงาน
9.ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโทรคมนาคม ผู้ทำงานและเลขานุการ
10.น.ส.พรพักตร์ สถิตเวโรจน์ ผู้ทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ
11.น.ส.ณัฐสุดา อัคราวัฒนา ผู้ช่วยเลขานุการ
12.น.ส.บัณฑิตา สัตตะพันธ์คีรี ผู้ช่วยเลขานุการ
ให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.พิจารณากำหนดความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz ไม่ดำเนินการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่หนึ่ง และจัดส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือ
2.เสนอแนะแนวทางการกำหนดค่าเสียหาย
3.เสนอแนะวิธีการ แนวทาง หรือขั้นตอนการดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ตลอดจนมาตรการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
4.รายงานผลการดำเนินการต่อรองเลขาธิการ กสทช. เพื่อพิจารณานำเสนอต่อ กทค. พิจารณากำหนดความรับผิดขอบบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ตลอดจนกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
5.ปฏิบัติงานอื่นตามทีเลขาธิการ กสทช. และ กทค. มอบหมาย
ทั้งนี้ให้บุคคลภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งได้รับค่าตอบแทนในการเข้าร่วมประชุม ครั้งละ 4,000 บาท โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 22 ของระเบียบ กทค. ว่าด้วยการรับ การจ่าย และการเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
รวมถึงให้คณะทำงานมีระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่หัวหน้าคณะทำงานรับทราบคำสั่ง (ดูเอกสารประกอบ)
อ่านประกอบ :