แพทยสภา เล็งออกประกาศกำหนดภาระงานหมอไม่เกิน 80 ชม./สัปดาห์
แพทยสภา เตรียมออกประกาศ “แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์” ร่อนหนังสือประธานองค์กรแพทย์-แพทย์ทั่วประเทศขอเสียงสนับสนุน แจงประกาศเป็นแค่แนวทาง ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ใช้อ้างอิงภาระงาน กรณีถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ กล่าวถึงกรณีแพทยสภาได้ทำหนังสือถึงประธานองค์กรแพทย์และแพทย์ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 เพื่อขอความร่วมมือพิจารณาร่างประกาศแพทยสภา เรื่อง “แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์” ว่า เจตนารมณ์ที่แพทยสภาจัดทำประกาศฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลในการจัดอัตรากำลัง และระบบการทำงานของแพทย์ ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการให้สอดคล้องเหมาะสม
เนื่องจาก ที่ผ่านมามีแพทย์ในบางพื้นที่มีภาระงานที่หนักมาก บางแห่งหมอทำงานถึงสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง หรือบางคนต้องอยู่เวรต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรมีการจัดทำแนวทางเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตแพทย์เท่านั้น ซึ่งคณะอนุกรรมการ ฯ ได้ทำการศึกษาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน และที่ผ่านมา มีหลากหลายปัญหาและความคิดเห็น จึงเห็นควรที่จะทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความเห็นแพทย์ทั่วประเทศก่อน
นพ.สัมพันธ์ กล่าวถึงร่างประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์ว่า เป็นเพียงแค่แนวทางเพื่อให้หน่วยงานดูแลคุณภาพชีวิตของแพทย์ ซึ่งไม่ได้เป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามนี้ เพราะไม่เช่นนั้น กระทรวงสาธารณสุขคงได้รับผลกระทบแน่ เนื่องจาก ในเชิงการบริหารยังมีปัญหามาก และยังมีความแตกต่างของโรงพยาบาล ทั้งขนาดของโรงพยาบาล พื้นที่ และบุคลากร ให้ปฏิบัติเหมือนกันคงไม่ได้ ขณะที่ ในด้านของแพทย์ยังมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน และมีการแบ่งกลุ่มแพทย์เป็นหลายระดับ เช่น แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์ใช้ทุน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังมีเนื้อหากลางเพื่อดูแลแพทย์ในทุกกลุ่ม เพราะหากต้องกำหนดภาระงานแพทย์ในทุกกลุ่ม เราคงทำไม่ไหวเพราะมีรายละเอียดมาก
“ประกาศฉบับนี้เป็นเพียงแค่แนวทางภาระงานแพทย์ที่มีเนื้อหากลางๆ เท่านั้น เพราะหมอบางคนภาระงานก็ไม่ได้มาก แต่หมอบางคนก็ภาระหนัก และต้องทำต่อเนื่อง เพราะเรายังมีปัญหาขาดแพทย์ ไม่อย่างนั้นคนไข้ก็จะไม่ได้รับการดูแล โดย ประกาศที่ออกมานี้ไม่ได้ห้ามให้หมอทำงานเกิน หากเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ทำต่อไปได้ แต่ในกรณีที่หมอถูกฟ้องร้องหรือมีการร้องเรียน อยากให้มีการใช้ดุลพินิจดูภาระงานของแพทย์ด้วย โดย ดูจากประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณา” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์นับเป็นร่างประกาศฉบับแรกที่แพทยสภาได้จัดทำขึ้น โดย คณะอนุกรรมการ ฯ ได้ทำการศึกษามาหลายปีแล้ว แต่เพื่อความรอบคอบ จำเป็นต้องสอบถามความเห็นจากแพทย์ทั้งประเทศก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการขณะนี้ ส่วนจะมีการประกาศได้เมื่อไหร่นั้น คงรอดูความเห็นแพทย์ที่ตอบกลับมาก่อน ซึ่งท้ายสุดอาจไม่ได้มีการออกประกาศเลยก็ได้ อาจเป็นเพียงแค่แนวคิดแพทยสภาเท่านั้น ทั้งนี้การจัดทำแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์เราทำเฉพาะในส่วนโรงพยาบาลภาครัฐเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเอกชน เพราะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
“เป้าหมายสำคัญของการออกประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์ นอกจาก เป็นการดูแลคุณภาพชีวิตของแพทย์แล้ว ยังนำไปสู่การดูแลคุ้มครองประชาชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ จากแพทย์ที่ไม่เหนื่อยล้าจากการทำงานที่หนักเกินไป จนส่งผลต่อสุขภาพและสมรรถนะการทำงาน และอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาทรัพยากรด้านบุคลากรให้เป็นไปตามเกณฑ์ และกติกาที่สากลกำหนด” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดของร่างประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์ มีรายละเอียด ดังนี้
1.ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์
2.ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์
3.ระยะเวลาเวรปฏิบัติการไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน
4.ถ้าระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง ต้องมีเวลาหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
5.การอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 7 เวร/เดือน
6.ภายหลังการปฏิบัติงานในกะดึก (หลังเที่ยงคืน) ต้องมีเวลาหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
7.แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี เป็นต้นไป ควรงดอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธิพล คณะเจริญ รองเลขาธิการนายแพทยสภา แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ในเฟชบุค Ittaporn Kanacharoen ถึงการทำงานเกินกำลังของ "หมอ-พยาบาล" ส่งผลความเป็นความตายต่อคนไข้ได้ พร้อมสนับสนุนการปรับมาตรฐานเวลาการทำงาน หมอ-พยาบาล อย่าให้เกินขีดความสามารถของมนุษย์ที่พึงจะทำงานโดยมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวนักบิน เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคนไข้ทุกคน
ที่มา:http://www.hfocus.org/content/2016/03/11939