ผลวิจัยชี้เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยชีวิตเด็กทั่วโลก 8.2 เเสนคน/ปี
ผลวิจัยชี้การเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยชีวิตเด็กและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทยมหาศาล หลังไทยมีทารก 1 ใน 8 เท่านั้น ที่ดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก อธิบดีกรมอนามัยชี้ช่วยพัฒนาไอคิวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 จุด โตขึ้นจะได้รับค่าตอบเเทนมาก เนื่องจากสติปัญหาที่ดี
วันที่ 24 มีนาคม 2559 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และโครงการ Alive&Thrive สนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง ฉลาด และพัฒนาการสมวัย จัดนำเสนอผลงานวิจัย จาก The Lancet Breastfeeding Series 2016 เรื่อง “ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อสุขภาพ พัฒนาการเด็กและการพัฒนาประเทศ” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กทม.
โดยข้อค้นพบจาก The Lancet Breastfeeding Series ซึ่งได้รับการนำเสนอ สรุปว่า เมื่อประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง จะช่วยพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของแม่และเด็ก หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมสามารถช่วยชีวิตเด็กทั่วโลกได้ 820,000 คนต่อปี โดย 9 ใน 10 คนเป็นทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ ยังรายงานว่า ทุก 1 ปีที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 6
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันนี้ หลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกแสดงให้เห็นบทบาทของนมแม่ต่อการพัฒนาเด็ก โดยเด็กที่กินนมแม่สามารถมีไอคิวเพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 3 จุด ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กทุกคน มีสุขภาพที่ดีและพัฒนาการดีสมวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพดี
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็กที่มีพัฒนาการสมองที่ดีจะได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และได้คำนวณว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเสียโอกาสการพัฒนาสติปัญญาอย่างเต็มที่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการไม่ได้รับนมแม่ของเด็กทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถป้องกันการสูญเสียรายได้ถึง 192.6 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากความสามารถของสมองที่เพิ่มขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย
ด้านนางซู ฮอร์ตัน นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ซึ่งคือตั้งแต่ทารกได้กินนมจากอกแม่ ดังนั้น จึงต้องมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ บุคลากรสาธารณสุข สถานประกอบการ ชุมชน และครอบครัว ช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน ปกป้อง และส่งเสริมนมแม่
ในประเทศไทย มีทารกเพียงร้อยละ 46 ที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต ทารกเพียงร้อยละ 12 ได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเด็กเพียงร้อยละ 18 ได้รับนมแม่จนอายุ 2 ปี ซึ่งการปฏิบัติทั้งสามอย่างนี้เป็นคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ
อุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบได้เสมอ คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากบุคลากรสาธารณสุข การขาดข้อมูลที่ถูกต้อง การทำงานในสถานประกอบการที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการส่งเสริมการตลาดที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมนมผง
"ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอกฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล นอกจากนี้ ควรมีการมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการปกป้องสิทธิของแม่ในสถานที่ทำงานมากขึ้น เช่น การมีมุมนมแม่ และการอนุญาตให้พักบีบเก็บน้ำนมได้" นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ระบุ
นางนีมัท ฮาจีบอย ผู้ประพันธ์รายงานอีกท่านหนึ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นชัดเจนมาก สิ่งที่ต้องการคือความตระหนักว่า การสร้างวัฒนธรรมนมแม่เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้แม่และครอบครัวสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกได้
ขณะที่นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในประเทศไทย มีทารกเพียงหนึ่งใน 8 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก ทั้งๆ ที่นมแม่เป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่แม่จะมอบให้แก่ลูกได้ในช่วงหกเดือนแรกของชีวิตแรก การพลาดโอกาสในช่วงนี้ไปอาจไม่สามารถเรียกสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ .
ภาพประกอบ:www.muslim4health.or.th