กกต.เปิดตัวแอพฯ "ตาสับปะรด" ให้ปชช.แจ้งทุจริต ออกเสียงประชามติ
ทันสมัย! กกต.เปิดตัวแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ให้ ปชช.แจ้งทุจริตออกเสียงประชามติ เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลด 11 เม.ย. 59 ยัน ข้อมูลที่แจ้งให้ กกต.ทราบจะเป็นความลับ เพื่อความปลอดภัยของตัวคนแจ้ง
วันที่ 24 มี.ค. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด โดยนายสมชัย กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้ กกต.มุ่งเน้นจะใช้ในการเลือกตั้งปี 2560 เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสุจริตเที่ยงธรรม แต่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น เมื่อประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ก็สามารถถ่ายภาพนิ่ง คลิปวีดิโอ บันทึกเสียง ส่งผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ โดย กกต.ก็จะรักษาข้อมูลในทุกส่วนไว้เป็นความลับ สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว กกต.จะเปิดให้มีการดาวน์โหลด ในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งจะเป็นวันเริ่มต้นของกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวแล้ว การส่งข้อมูลทุจริต สามารถดำเนินการโดยกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ระบบก็จะให้ใส่ข้อมูล สถานที่เกิดเหตุว่า อยู่ในจังหวัดใด วันเวลาที่เกิดเหตุ และรายละเอียดเพียงสั้นๆ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งมายัง กกต.กลาง และ กกต.จังหวัด ที่แจ้งเหตุ เพื่อให้ กกต.จังหวัด ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ไปตรวจสอบเหตุที่รับแจ้งได้ทันที
นายสมชัย กล่าวว่า ข้อมูลและรายละเอียดของผู้แจ้งข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ เพราะถือว่า เรื่องความปลอดภัยของพยานเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยจะมีการกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับแจ้ง และสืบค้นในกรณีที่อาจจะมีบุคคลใช้แอพฯ ดังกล่าว เพื่อกลั่นแกล้งผู้ใดผู้หนึ่ง หรือส่งข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งในเรื่องพยานเรายังคงใช้กฎหมายคุ้มครองพยานในการดูแล ทั้งนี้แอพฯ ดังกล่าว กกต.ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 1.8 ล้านบาท โดยมีบริษัทเข้าร่วมประมูล 4 บริษัท จากที่เสนอราคาสูงสุด 12 ล้าน ต่ำสุด 1.9 ล้านบาท โดยบริษัทที่ชนะการประมูลจะรับผิดชอบดูแลระบบและพัฒนาระบบตลอด 2 ปี นับจากนี้ ซึ่ง กกต.หวังว่าแอพฯ นี้จะช่วยในการป้องปรามผู้ที่คิดจะทำทุจริตให้เกรงกลัว และไม่กล้ากระทำผิด และปลายเดือนหน้า กกต.ก็จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ฉลาดรู้ ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญต่างๆ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนในการออกเสียงประชามติ.
ขอบคุณข่าวจาก