ปอเนาะญิฮาดจุดประกาย Film For Fatoni หนังสั้นเพรียกหาสันติที่ไม่ได้มีแค่ภาพ
คดีปอเนาะญิฮาด หรือ โรงเรียนญิฮาดวิทยา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ถูกศาลสั่งให้ริบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นประเด็นทางความรู้สึกที่ล้ำลึกของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้
ความถูก-ผิด เหมาะควรของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจครอบครัว “แวมะนอ” ในฐานะผู้ถูกกระทำก็เป็นอีกเรื่องที่ห้ามคนในสามจังหวัดไม่ได้เช่นกัน
เห็นได้จากงานกินข้าวยำระดมทุนช่วยครอบครัวแวมะนอ เมื่อ 19 มี.ค.59 ที่ได้เงินหลายล้านบาทในคราวเดียว มีผู้คนไปร่วมหลายหมื่นคน
ยังไม่นับการช่วยเหลือนอกกระแสอย่าง “การฉายหนังสั้น” เพื่อรับบริจาคช่วยเหลือครอบครัวปอเนาะญิฮาด จากฝีมือคนทำหนังในพื้นที่ ภายใต้แคมเปญ Film For Fatoni ที่ก็มีปรากฏให้เห็นเช่นกัน
นิรันดร เลาะนะ อดีตคนทำหนัง คือเจ้าของโปรเจคนี้ เขาตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส และถ่ายทอดเรื่องราวของชาวแว้ง ตลอดจนเรื่องราวต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงบนแผ่นฟิล์มในนามกลุ่ม “แว้งที่รัก”
นิรันดร เล่าว่า เคยทำงานในวงการภาพยนตร์ที่กรุงเทพฯยาวนานถึง 26 ปี เมื่อตัดสินใจกลับบ้านเกิด เป็นจังหวะที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือพอดี กล้องราคาถูกลง เฟซบุ๊คได้รับความนิยม ทำให้การผลิตหนังไม่ต้องลงทุนมากเช่นเดิม
ขณะที่การผลิตหนังสั้นได้รับความสนใจอย่างสูงจากคนในพื้นที่ เขาและกลุ่มเพื่อนอีกหลายคนจึงพยายามสนับสนุนให้มีการอบรมทำหนังสั้นหลายครั้ง แล้วนำองค์ความรู้เรื่องการทำหนังไปบอกต่อกับคนที่สนใจ เพื่อให้เข้าใจวิธีการและการนำเสนอเนื้อหา
“ผมสอนทำหนังสั้นครั้งแรกที่อ่าวมะนาว นราธิวาส ใช้เวลา 5 วัน สอนเขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ เอาหนังมาตรวจกัน น้องๆ หลายคนที่ได้รับโอกาส มีไอเดียดี เขารับได้ในสิ่งที่เราสอน หนังเขาน่าสนใจมาก จนปี 2556 มาสอนอีกครั้งที่ตะโละกาโปร์ (หาดริมทะเลที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี) มีน้องคนหนึ่งไปเห็นปอเนาะญิฮาด เขาถามว่าทำไมถูกสั่งปิด เมื่อรู้คำตอบเขาสนใจที่จะทำหนังสารคดีที่ปอเนาะญิฮาด แต่ทหารไม่ให้ถ่ายทำ เขาจึงไปถ่ายทำที่อื่น สมมติว่าเป็นปอเนาะญิฮาด” นิรันดร เล่าย้อนอดีต
เขาบอกว่า จากการจัดค่ายอบรมสอนทำหนังสั้นที่ตะโละกาโปร์ ทำให้ได้หนังสั้นมา 8 เรื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.59 ได้ข่าวว่าครอบครัวแวมะนอที่อาศัยอยู่ในปอเนาะญิฮาด ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์คดี หลังจากศาลสั่งริบทรัพย์และที่ดินเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้คิดย้อนไปถึงการทำค่ายอบรมหนังสั้นเมื่อปี 2556 ในชุมชนใกล้ๆ กับปอเนาะญิฮาด
“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ผมทำเรื่อง ‘เสียงแห่งความเงียบ’ เรื่องราวความจริงของปอเนาะญิฮาด โดยร่วมมือกับหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ แล้วจัดฉายหนังสั้นที่ผลิตโดยกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ ถือเป็นครั้งแรกในการนำเสนอผลงานของคนในพื้นที่จริงๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจผลิตหนังสั้น รวมทั้งเพื่อหาทุนช่วยเหลือครอบครัวอดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญิฮาดที่กำลังระดมทุนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะขึ้นมาใหม่ด้วย เป็นการฉายหนังที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี และเชิญชวนให้บริจาคเงินตามศรัทธา อยากให้ทุกคนได้ดูกัน เพราะหนังคือกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงในยุคสมัยของมัน ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ”
นิรันดร บอกด้วยว่า หนังสั้นทั้ง 8 เรื่องเป็นผลงานของคนในพื้นที่สามจังหวัดทุกเรื่อง โดยนำศิลปะ ความงาม และวัฒนธรรมมาเป็นแกนการนำเสนอ การจัดฉายหนังสั้นครั้งแรกได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างมาก ทั้งความสนใจในเรื่องหนังจากฝีมือผู้ผลิตในพื้นที่ และเรื่องการระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวแวมะนอ
หนังสั้น 8 เรื่องที่จัดฉาย เป็นเรื่องราวในความทรงจำของผู้คนในดินแดนมลายูฟาฏอนี ซึ่งก็คือดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ ได้แก่
“Journey In Patani” เล่าเรื่องราวผ่านชายคนหนึ่งกับการเดินทางไปยังสถานที่ 56 แห่งทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อค้นหาความสุขที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ความยาวของหนังเพียง 4 นาที
สุไลมาน เจ๊ะแม หนุ่มนราธิวาส ผู้จัดทำหนังสั้นเรื่องนี้ บอกว่า จุดเริ่มต้นของหนังมาจากการชอบเดินทางท่องเที่ยวของตนเอง ทำให้เห็นว่าบ้านเรายังมีสถานที่สวยงามน่าค้นหาอีกมาก เราเป็นคนในที่มองชัดและลึกซึ้ง อยากถ่ายทอดมุมที่ดีงามเหล่านี้ผ่านภาพ โดยไม่ต้องมีคำพูดหรืออธิบาย อยากให้คนบ้านเราสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ผ่านหนังให้มากขึ้น เพราะเป็นการสอดแทรกสาระเนื้อหาของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
"สันติ(ภาพ)" หนังสั้นเรื่องนี้เป็นฝีมือของทีม SATU ADDI เด็กมัธยมจากโรงเรียนอัดดีนียาตุลอิสลามียะห์ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส คว้า 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศหนังสั้นอัตลักษณ์ชายแดนใต้ และรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสันติภาพในพื้นที่ผ่านภาพถ่ายของชายหนุ่มที่เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองว่า พื้นที่แห่งนี้มีแง่มุมงดงามน่าชื่นใจอีกมากมาย
"แว้งที่รัก" ถ่ายทอดความทรงจำวันวานของเด็กไทยพุทธท่ามกลางผองเพื่อนมุสลิมใน อ.แว้ง จ.นราธิวาส ดินแดนที่อบอวลด้วยความรักและความเอื้ออาทรของคนต่างศาสนา หนังสร้างมาจากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนชื่อ "แว้งที่รัก" โดย ชบาบาน เขียนบทและกำกับโดย นิรันดร เลาะนะ
"สันติ(แค่)ภาพ" คือหนังสั้นที่สะท้อนความทรงจำ ความหวัง และความรักของภรรยาสาวที่มีต่อสามีที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีความมั่นคง ด้วยความอดทน รอคอยการกลับมาของสามี เป็นหนังสั้นเรื่องแรกของ กูยิ อีแต และผองเพื่อนที่มีชีวิตเสี่ยงกับการถูกจับในคดีความมั่นคงได้ทุกเมื่อ
"สามเกลอแห่งสายบุรี" เรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนรักต่างความเชื่อ ความศรัทธาที่ใช้ชีวิตบนดินแดนประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา ก้าวข้ามความขัดแย้งมาอย่างยืนยาวและยังคงอยู่
"เขาชื่ออัสฮารี" หนังสั้นที่ทวงถามความยุติธรรมจากความจริงการเสียชีวิตของ อัสฮารี ที่เชื่อกันว่าถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งภายหลังครอบครัวชนะคดี และได้รับเงินเยียวยาจากคำสั่งศาล การันตีด้วยรางวัลสารคดีข่าวยอดเยี่ยมจากองค์กรต่างประเทศ
"เสียงแห่งความเงียบ" เมื่อปอเนาะถูกปิด บาบอโดนยิง ที่ดินถูกยึด แม้กระทั่งความเงียบยังต้องส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรม คือความจริงจากปากของหลานเจ้าของปอเนาะญิฮาด
"In the name of HJ. Sulong" หนังตัวอย่างเปิดตัวโปรเจคหนังในฝันของชาวมลายูปาตานี "นามนั้นชื่อ หะยีสุหลง" ภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่ เรื่องราวของชายมลายูที่เกิดก่อนยุคสมัยกับความหวังอันมลังเมลืองในสันติสุขที่หายไป
สำหรับการตระเวนฉายหนังสั้นในโครงการ Film For Fatoni ครั้งที่ 1 ผ่านมากว่า 10 วันแล้ว โดยหนังทั้งหมดไปปรากฏตัวตามที่ต่างๆ เช่น คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี, ห้องจะบังติกอ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เป็นต้น ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก ได้เงินบริจาคจากการฉายหนังประมาณ 20,000 บาท และได้มอบให้ครอบครัวแวมะนอไปแล้วบางส่วน
สำหรับคิวฉายต่อไป ก็เช่น บ้านหะยีสุหลง, แกลลอรี่ อาจารย์เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอหะ บ้านดอนรัก อ.เมืองปัตตานี, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็กำลังติดต่อมาเพื่อกำหนดวันฉาย
คนที่ได้ดูหนังสั้นทั้งหมดนี้หวังว่า เรื่องราวที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านหนังสั้นจะทำให้สังคมไทยเข้าใจผู้คนและดินแดนแห่งนี้มากขึ้น...
และสันติจะไม่ได้มีแค่ภาพอีกต่อไป