เวที สช.เสนอหั่นงบครึ่งหนึ่ง สปส.ตั้งองค์กรดูแลแรงงานนอกระบบ
หมออำพลชี้แรงงานชนบทเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ นักวิชาการ สธ.เสนอผ่างบ สปส.ตั้งองค์กรใหม่ดูแลแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ขณะที่กลุ่มรับงานทำที่บ้าน 4 แสนคนเตรียมเฮ พ.ร.บ.คุ้มครองฯคลอด พ.ค. ค่าจ้างขั้นต่ำเท่าแรงงานในระบบ
วันที่ 27 เม.ย.54 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเวที “สช.เจาะประเด็นเรื่องสุข-ทุกข์แรงงานนอกระบบไทยวันนี้” เพื่อรับวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบันแรงงานนอกระบบจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญ สช.จึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการคุ้มครองสุขภาพสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคม
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าข้อมูลปี 2549-2552 พบว่าแรงงานนอกระบบมีสูงถึง 24 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ส่วนมากเป็นเกษตรกรในชนบท ขณะที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมนิยมรับงานไปทำที่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ส่งผลให้เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ ค่าตอบแทน
ซึ่งพบว่าแรงงานนอกระบบนั้นมีรายได้เฉลี่ย 3,700 บาทต่อเดือน ขณะที่แรงงานในระบบมีรายได้เฉลี่ย 10,800 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าถึง 3 เท่า ขณะที่ปัญหาเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลพบว่าแม้แรงงานนอกระบบจะจัดอยู่ในสิทธิรักษาฟรี แต่เนื่องจากต้องทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้แรงงานมากกว่า 50 % ที่ป่วยหรือไม่สบายไม่นิยมไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่มีเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเวลางาน
นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่าหากมองถึงความเป็นไปได้เรื่องของการเรียกร้องให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิเท่าเทียมแรงงานอื่นๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานหลักประกันสังคม(สปส.)จะรับไม่ไหว เพราะระบบบริหารปัจจุบันที่ดูแลเพียงแรงงานในระบบกว่า 9 ล้านคนก็ยังเกิดปัญหา หากเพิ่มไปอีก 24 ล้านคนก็ต้องมีภาระหน้าที่มากขึ้น อีกทั้งขณะนี้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ สปส.มีบางครั้งแรงงานก็เข้าไม่ถึงข้อมูลด้วยซ้ำ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้มีสำนักงานประจำอยู่ เช่น คนงานก่อสร้างต้องโยกย้ายไปเรื่อยๆตามแหล่งรับจ้างรายวัน
นอกจากนี้แรงงานนอกระบบยังมีความหลากหลายมาก ซึ่งยากต่อการจัดการในระบบเดิม จึงเสนอว่าควรตั้งองค์ใหม่รองรับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานนอกระบบ แล้วแบ่งเอางบประมาณครึ่งหนึ่งของ สปส.มาบริหารองค์กร
“องค์กรที่แต่งตั้งขึ้นใหม่นี้จะประกอบไปด้วย 1 หน่วยงานหลัก แล้วมีหน่วยงานย่อยเข้ามาดูแลแรงงานประเภทต่างๆ เช่นหน่วยย่อยที่ 1 ดูแลแรงงานในเมืองที่เป็นภาคอุตสาหกรรมซึ่งรับงานไปทำที่บ้าน หน่วยย่อยที่ 2 ก็ดูแลภาคเกษตรกรรม ซึ่งเชื่อว่าหากมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่กลุ่มแรงงานที่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้โดยตรง จะก่อเกิดความเท่าเทียมที่แท้จริง” นพ.ภูษิต กล่าว
นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่าจากจำนวนแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนนั้น มีแรงงาน 4.4 แสนคนเป็นกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะมีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ประกาศใช้ในเดือน พ.ค.นี้ โดยกำหนดว่าหากแรงงานสามารถทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องได้รับค่าจ้างเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในระบบที่ทำงานตามภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ต้องเร่งผลักดันประโยชน์แก่กลุ่มอื่นด้วย
ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าความพยายามที่จะนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมนั้น อาจทำได้แต่ต้องไม่ด้อยกว่าแรงงานในระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ขณะนี้ปัญหาคือแรงงานนอกระบบมีความหลากหลายทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม แผงลอย หาบเร่ ฯลฯ ดังนั้นการจะเร่งกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องง่าย จึงอยากให้ทบทวนรายละเอียดให้ดีด้วย .