ประเด็นต่อประเด็นบุก "รพ.เจาะไอร้อง" เคลียร์ปมสงสัย "รัฐจัดฉาก"
เหตุการณ์คนร้ายหลายสิบคน (ข่าวบางกระแสระบุว่ามากถึง 50 คน) บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แล้วใช้อาคารกับบ้านพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเป็นจุดสูงข่มและที่กำบังเพื่อระดมยิงถล่มฐานปฏิบัติการของกองร้อยทหารพรานที่ 4816 ข้างๆ โรงพยาบาล เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.59 นั้น กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุรุนแรงชายแดนใต้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า “รัฐจัดฉาก”
ความเชื่อที่ฝังแน่นในกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 12 ปี ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุกยุคระดมสรรพกำลังมากมายในการคลี่คลายปัญหา แต่ภาพรวมของเหตุการณ์กลับยังไม่ดีขึ้น เป็นเพราะ “รัฐเลี้ยงไข้” เนื่องจากต้องการงบประมาณ ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ด้วยเหตุนี้หลายๆ เหตุการณ์ที่ดูแล้วก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ก่อ หรือก่อแล้วได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์ จึงมักถูกวิจารณ์เชิงตั้งคำถามว่า “รัฐจัดฉากหรือไม่?”
คำว่า “รัฐ” ในที่นี้ พุ่งเป้าไปที่ “ทหาร” ซึ่งเป็นหน่วยนำในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. โดยปัจจุบันแขนขาของ กอ.รมน.ที่ชื่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้รับผิดชอบหลักแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
5 ข้อสังเกต “รัฐจัดฉาก”
สำหรับเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาล มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลอย่างน้อย 5 ประการ จนนำมาสู่การใช้ทฤษฎี “รัฐสร้างสถานการณ์เอง” ในการสรุป
ข้อสังเกตที่ว่านี้ประกอบด้วย
1.เหตุใดกลุ่มคนร้ายถึง (โง่) ไปยึดโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เมื่อปฏิบัติการเช่นว่าแล้ว จะต้องถูกโจมตีจากหลายฝ่าย เพราะโรงพยาบาลสมควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย
2.เหตุใดผู้ก่อความไม่สงบ (รัฐเชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น) จึงระดมกำลังได้มากมายหลายสิบคน อาจจะถึงครึ่งร้อย และวิธีการเข้ายึดพื้นที่เพื่อโจมตีก็คล้ายๆ กับทหาร หนำซ้ำยังแต่งกายด้วยชุดคล้ายเครื่องแบบสีดำ ไม่ต่างกับทหารพรานอีกด้วย
3.เหตุใดกลุ่มคนร้ายที่บุกยึดโรงพยาบาลถึงใช้กระสุนปืนอย่างฟุ่มเฟือย เหมือนมีโรงงานผลิตกระสุน (พบปลอกกระสุนในที่เกิดเหตุถึง 1,825 ปลอก) เพราะหากย้อนดูปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นจะพบว่าใช้กระสุนค่อนข้างประหยัด ก่อเหตุโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากปืนและกระสุนเกือบทั้งหมดที่มี ได้มาจากการปล้นชิงหลังก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีอาวุธสงครามบางประเภทที่ (ฝ่ายสงสัยรัฐ) เชื่อว่ากลุ่มก่อความไม่สงบไม่เคยใช้ก่อเหตุรุนแรงมาก่อน
4.ตามข่าวในช่วงแรก ทหารพรานและ อส.ที่ได้รับบาดเจ็บรวม 7 นาย ไม่มีรายงานว่าถูกยิงจากคนร้ายที่กราดกระสุนจากโรงพยาบาล แต่เป็นการบาดเจ็บจากเหตุระเบิด เป็นไปได้อย่างไรที่คนร้ายยิงถล่มเกือบ 2 พันนัด แต่ไม่โดนใครเลย
5.รัฐอาจจัดฉากให้เกิดเหตุรุนแรงแบบคาดไม่ถึง เพื่อหวังผลด้านงบประมาณ และความได้เปรียบในการพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่
ย้อนเหตุ“ยุทธการรวมดาว”-แต่งชุดทหาร
จากข้อสังเกต 5 ข้อ ทีมข่าวได้ลงพื้นที่จริงเพื่อความชัดเจน และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ ฝ่ายจนได้ข้อสรุปบางส่วนดังนี้
เริ่มจากข้อ 4 ก่อน ทหารพรานและ อส.จำนวน 7 นายที่ได้รับบาดเจ็บ มีหลายนายถูกยิง บางรายอาการสาหัส ซึ่งเป็นการถูกยิงจากทิศทางบนอาคารและบ้านพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ฉะนั้นข้อสังเกตที่ว่ามีการโจมตีอย่างหนัก แต่ไม่โดนพวกเดียวกันเอง (ทหารพราน) จึงตัดออกไปได้เป็นข้อแรก
ส่วนข้อ 2 การระดมกำลังหลายสิบคนเพื่อก่อเหตุรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเรียกว่า “ยุทธการรวมดาว” ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การโจมตีฐานพระองค์ดำ หรือฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 19 ม.ค.2554 ซึ่งเป็นการบุกเข้าไปในฐาน ฆ่าทหาร และชิงปืนไปถึง 65 กระบอก ก็ใช้กำลังคนหลายสิบคนเช่นกัน
ขณะที่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง หรือค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง เมื่อ 4 ม.ค.2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทไฟใต้รอบปัจจุบัน ก็มีการประเมินกันว่าผู้ก่อเหตุน่าจะมีนับร้อยคน เพราะต้องขนปืน 413 กระบอกที่ปล้นจากค่าย ไปขึ้นรถ แล้วนำไปฝัง-ซ่อน-หรือแจกจ่าย
ส่วนการแต่งเครื่องแบบคล้ายทหาร โดยเฉพาะทหารพราน ก็เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง และดูจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งของผู้ก่อความไม่สงบที่มักแต่งกายคล้ายทหารเพื่อสร้างความสับสนด้วย เช่น เหตุการณ์นำกำลังเข้าโจมตีฐานบ้านยือลอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 ก.พ.56 จนกลุ่มติดอาวุธนำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี เสียชีวิตรวมทั้งหมด 16 ศพ ปรากฏว่าทุกศพก็สวมเครื่องแบบทหารลายพราง สวมเสื้อเกราะไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่
เปิดผลตรวจปลอกกระสุน 1,825 ปลอก
ไปที่ข้อ 3 กันบ้าง ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้มีการใช้กระสุนปืนฟุ่มเฟือยจริง เพราะผลตรวจล่าสุดพบมีปลอกกระสุนตกในที่เกิดเหตุมากถึง 1,825 ปลอก แยกเป็น
1.ปลอกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1,575 ปลอก ยิงมาจากอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 38 กระบอก มี 6 กระบอกเคยก่อคดีอื่นมา, ยิงจากอาวุธปืน เอชเค 33 จำนวน 4 กระบอก มี 1 กระบอกที่มีประวัติเชื่อมโยงคดีเก่า, ปืนกล มินิมิ 2 กระบอก และปืนอาก้าอีก 1 กระบอก ทั้งหมดเป็นปืนที่เคยก่อคดีอื่นมาก่อน
2.ปลอกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. RUSSIAN จำนวน 31 ปลอก ยิงมาจากปืนอาก้า 3 กระบอก มี 1 กระบอกที่เคยก่อคดีอื่นมาก่อน
3.ปลอกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. NATO จำนวน 200 ปลอก ยิงมาจากอาวุธปืนเอ็ม 60 จำนวน 1 กระบอก มีประวัติเคยก่อคดีอื่นมาก่อน
4.ปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. LUGER จำนวน 17 ปลอก ยิงมาจากอาวุธปืนกลมืออูซี่ จำนวน 2 กระบอก มีประวัติเคยก่อเหตุรุนแรง 1 กระบอก
5.ปลอกกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. จำนวน 2 ปลอก ยิงมาจากเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. หรือเอ็ม 79 จำนวน 1 กระบอก มีประวัติเคยก่อเหตุรุนแรงเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าอาวุธสงครามหลายกระบอกเคยก่อคดีอื่นมาก่อนแล้ว เรียกว่ามีประวัติอยู่ในสารบบของฝ่ายความมั่นคง ส่วนอาวุธสงครามบางชนิดที่บางฝ่ายเชื่อว่าไม่เคยมีใช้มาก่อนในพื้นที่นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เช่น ปืนกลเบาเอ็ม 60 คนร้ายก็เคยใช้มาแล้วในเหตุการณ์ซุ่มโจมตีขบวนรถของเจ้าหน้าที่อีโอดี หรือชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด บนเขายือลาแป รอยต่อ อ.รือเสาะ กับ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ก.ย.56
ขณะที่ปืนกลเล็กมินิมิ (MINIMI) ก็ถูกปล้นไปจากฐานพระองค์ดำเมื่อปี 54 หลายกระบอก
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ คือ ทำไมกลุ่มผู้ก่อเหตุจึงใช้กระสุนอย่างสะบั้นหั่นแหลก และมีปืนอีกหลายสิบกระบอกที่ไม่มีประวัติในสารบบ โดยเฉพาะเอ็ม 16 จำนวน 38 กระบอกที่ใช้ในปฏิบัติการนี้ มีถึง 32 กระบอกที่ไร้ประวัติ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าคนร้ายจงใจนำอาวุธปืนที่ไม่เคยก่อเหตุมาใช้ เพราะปืนที่ถูกปล้นไปจากค่ายปิเหล็งเมื่อ 4 ม.ค.57 ก็ยังติดตามคืนได้ไม่ถึงครึ่ง
กอ.รมน.ไร้ปัญหาเรื่องงบประมาณ
สำหรับข้อ 1 กับข้อ 5 มีคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงว่า ในแง่ของการกระทำต่อสถานพยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขนั้น เหตุการณ์บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้องไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยมีเหตุลอบวางระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์บริเวณลานจอดรถโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 พ.ค.57
เช่นเดียวกับการสังหารเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับต่างๆ ตั้งแต่พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัย ไปจนถึง อสม. ก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับรวมผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100 ราย
การตั้งสมมติฐานว่ารัฐสร้างสถานการณ์เองเพื่อหวังให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบถูกประณาม จึงไม่มีความจำเป็นมากนัก อีกทั้งรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยยืนยันตรงกันหมดว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาภายใน ไม่ได้ต้องการให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงอยู่แล้ว
ส่วนการจัดฉากเพื่อดึงงบประมาณลงพื้นที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงยืนยันว่า กอ.รมน.ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ และตลอดมาทุกปี ตัวเลขงบประมาณดับไฟใต้ก็สูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะปี 59 ที่ทะลุเกิน 3 หมื่นล้านบาทเป็นปีแรกตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา
ประกอบกับรัฐบาลที่มีอำนาจในวันนี้คือ “รัฐบาลทหาร” จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างสถานการณ์เพื่อรอรับงบประมาณ เพราะสามารถจัดงบประมาณในภารกิจ “ฟื้นฟูและพัฒนา” ได้อยู่แล้ว ท่ามกลางการสร้างกระแสจากฝ่ายรัฐเองว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
ในทางกลับกัน การเกิดเหตุการณ์ระดับนี้ในวันครบรอบสถาปนาบีอาร์เอ็น กลายเป็นฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ต่างหากที่เสมือน “ถูกตบหน้า” เพราะเป็นห้วงเวลาที่มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว เห็นได้จาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ก็เพิ่งเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ก่อนเกิดเหตุเพียง 3-4 วัน และมีข่าวว่าหลังเกิดเหตุที่เจาะไอร้อง หน่วยงานในพื้นที่ถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากผู้บังคับบัญชาในส่วนกลาง
ที่สำคัญปัจจุบันมีกำลังทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก โดยมีที่มาจากหลายหน่วย ทั้งทหารเขียว ทหารพราน เฉพาะทหารเขียวก็มาจากหลายกองทัพภาค แต่ละหน่วยก็แข่งกันสร้างผลงานโดยสภาพ ฉะนั้นหากมีกองกำลังหน่วยไหนปฏิบัติการ “นอกแถว” โดยเฉพาะการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะ “ปิดข่าว”
ขณะที่การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ก็ยังไม่ได้เดินไปสู่ขั้นตอนสำคัญที่ต้องชิงความได้เปรียบกันจากการสร้างสถานการณ์ใหญ่ระดับนี้
แต่ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายที่ปฏิบัติการเป็น “บีอาร์เอ็น” ซึ่งแสดงตัวชัดเจนในระดับองค์กรว่าไม่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับ “มารา ปาตานี” เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลเจาะไอร้องกลับจะเป็นการยืนยันว่า “มารา ปาตานี” ที่ประกอบด้วยผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้ กลุ่มที่มีศักยภาพอย่างแท้จริงคือบีอาร์เอ็นเท่านั้น!!
รัฐแจงเหตุบุกโรงพยาบาล-ไม่หลบกล้อง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง ให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นบีอาร์เอ็นอย่างแน่นอน สาเหตุที่ใช้การประกอบกำลังขนาดใหญ่ และปฏิบัติการคล้ายๆ ไม่สนใจว่าจะถูกบันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ก็เพื่อต้องการให้มีการเผยแพร่ภาพออกไป หวังสร้างความหวาดกลัวในหมู่คนพื้นที่ว่าบีอาร์เอ็นยังมีศักยภาพสูงในการปฏิบัติ หลังจากก่อนหน้านี้เหตุรุนแรงเบาบางลงไป
การก่อเหตุโชว์ต่อหน้ากล้องวงจรปิด เคยเกิดมาแล้วเมื่อครั้งคนร้ายราว 20 คน ใช้รถกระบะ 3-4 คันเป็นพาหนะ ยิงถล่มทหารชุดลาดตระเวนรถจักรยานยนต์เสียชีวิต 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 ก.ค.55
"คนร้ายกลุ่มนี้ บางส่วนเป็นสมาชิกรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลในสารบบ และเขาตั้งใจทิ้งดีเอ็นเอเยอะมาก เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่ดึงเด็กเหล่านี้เข้าไปสู่สารบบคดีความมั่นคง ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำให้เยาวชนที่ร่วมปฏิบัติการไปอยู่กับฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยสมบูรณ์ ต้องหลบหนีอยู่ในป่า กลับบ้านไม่ได้” แหล่งข่าวระบุ
ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รายนี้ สอดคล้องกับรายงานด้านการข่าวของหน่วยข่าวประเทศเพื่อนบ้าน ที่ระบุว่าเมื่อราวเดือน ก.พ.59 มีการประชุมแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และสั่งการให้ใช้สมาชิกรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประวัติคดีความมั่นคง ก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่พร้อมๆ กัน
ส่วนปฏิบัติการในโรงพยาบาลเจาะไอร้อง มีข้อมูลว่าคนร้ายเข้าไปทำลายฐานข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่ามีรายชื่อใดเกี่ยวข้องหรือโยงใยถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุหรือไม่
บทสรุป
จากข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้ ข้อสังเกตที่ว่าเหตุการณ์บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายทหารเองนั้น ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอ และน่าจะสรุปในชั้นนี้ว่า “เป็นไปไม่ได้”
แต่บทเรียนหนึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐและฝ่ายความมั่นคงยังถูกมองในแง่ลบจากหลายฝ่ายในพื้นที่ การสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ จากบุคคลหรือองค์กรที่คนในพื้นที่ยอมรับ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐและฝ่ายความมั่นคงในระยะยาว