Myanmar Up-Close จุดเปลี่ยนที่ก้าวผ่านอคติที่มีต่อ "พม่า"
Guest (’s) House คนพม่าในไทย คือ แขกของเราที่ประเทศไทยได้เชื้อเชิญเข้ามาในบ้าน ขนาดร้านขายของชำ ตู้ ATM รถสองแถวก็มีภาษาพม่า เราเห็น แต่ไม่เข้าใจ นิทรรศการต้องการสื่อว่า คนพม่าคือแขก “พม่าระยะประชิด” จึงทำมากกว่าความรู้ พยายามสร้างความเข้าใจต่อเพื่อนบ้านของเรา
“เวลาแนะนำตัว I come from Myanmar ฉันเป็นพม่า น้ำเสียง สีหน้า ทุกอย่างเปลี่ยนทันที” ตูซาร์ นวย อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามพ่อมาอยู่เมืองไทยอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่เด็ก ๆ เล่าถึงอคติที่คนไทยมีต่อเธอ ในเวทีแถลงข่าวเปิดตัว เกสท์เฮาส์ Guest (’s) House “พม่าระยะประชิด” ณ อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน
ภาพหนึ่งที่ไม่เคยลางเลือนไปจาก ตูซาร์ นวย เธอจดจำได้ขึ้นใจ ช่วงหนึ่งที่น้องสาวของเธออายุเพียง 8 ขวบ พ่อส่งไปเรียนโรงเรียนเอกชนไทยแห่งหนึ่งตกเย็นกลับบ้านมาแล้วร้องไห้ โดยเล่าให้ฟังว่า คุณครูให้ยืนอยู่บนเก้าอี้ทั้งวัน โดยที่ไม่รู้สาเหตุ
“วันรุ่งขึ้นคุณพ่อไปคุยกับที่โรงเรียนเพื่อให้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น เจ้าของโรงเรียนไปเรียกคุณครูมาชี้แจง ครูคนนั้นบอกว่า พม่าคือศัตรูไทย เขาไม่รับสอนเด็กคนนี้”
นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับครอบครัว ตูซาร์ นวย เธอจึงรู้เลยว่า คนไทยเกลียดพม่าขนาดไหน!! ซึ่งบ่อยครั้งแม่ของเธอต้องเอ่ยถามพ่อว่า “เราย้ายถิ่นมาที่นี่นะ...ผิดไหม”
ระยะเวลา 26 ปีที่อยู่เมืองไทยมา ปัจจุบันเธอเริ่มเห็นชัดมากว่า มุมมองคนไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งรับรู้ว่า ปัญหาระหว่างพม่ากับไทยนั้นอยู่ที่ “อดีต” คนไทยแยกแยะไม่ออก ระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่เป็นอยู่คืออะไร คนไทยพยามเอาอดีตเข้ามาอยู่กับปัจจุบัน
เมื่อถามถึงมุมมองคนไทย และการยอมรับที่มีต่อคนพม่า พ.ศ.นี้ เป็นอย่างไร อาจารย์ตูซาร์ นวย เห็นว่า สถานการณ์เริ่มดีขึ้นช่วง 4-5 ปีมานี้
ขณะที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เธอชี้ชัดว่า หนังสือเรียนของพม่าทั้งหมดจะมีแค่ FACT ตามความเป็นจริง บอกเพียงปีนี้เกิดอะไรขึ้นลำดับเหตุการณ์ กษัตริย์พม่าชื่ออะไร ปีไหนไปออกศึก ที่ไหน ชนะ
รวมถึงปีนี้ใครมาที่อาณาจักรพม่า แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งประวัติศาสตร์พม่าจะมีแต่ FACT ไม่ได้ใส่อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
“แต่จากหนังสือเรียนของน้องสาวที่ได้อ่าน ประวัติศาสตร์ไทยระบุว่า พม่ามาเผาเมืองทั้งหมด และพม่าทำอย่างนี้ทำอย่างโน้น แต่ประวัติศาสตร์พม่าไม่ได้เขียนแบบนี้ แม้พม่าจะเคยโดนอังกฤษและญี่ปุ่นทำร้าย แต่ก็ได้เขียนแค่ปีไหนอังกฤษเข้ามา และยึดเมืองไหน อะไรอย่างไร มีการสู้รบคืออะไร การมาเผามาเอาทองไปจะไม่มีเขียนในประวัติศาสตร์พม่า”ตูซาร์ นวย บอกถึงความแตกต่าง
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตการสอนประวัติศาสตร์ไทยกับพม่า ครูรุ่นใหญ่อาจใส่อารมณ์ลงไปก็ได้ รวมไปถึงภาพยนตร์ หนังสืออ่านประกอบทำให้ความรู้สึกคนไทยรุนแรงกับคนพม่า
ส่วน “ธีรภาพ โลหิตกุล” ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” นักเขียนสารคดี ช่างภาพ มองว่า ไทยกับพม่ามีความใกล้ชิดกันมานาน มีความเป็นไทย อยู่ในความเป็นพม่า และมีความเป็นพม่า อยู่ในความเป็นไทย
ก่อนยกตัวอย่าง ไม่ต้องไปไหนไกล แค่นั่งอยู่ที่บ้าน คนไทยจำนวนมาก ไม่รู้มาก่อน เพลงไทยเดิม ประเภทเพลงออกภาษาพม่า ที่ผู้แต่งได้รับกลิ่นไอ หรือเมโลดี้เบื้องต้นบรรยากาศของพม่ามาแต่ง และให้เกียรติกับที่มา จึงตั้งชื่อ “พม่าเขว” จากนั้นมีการนำมาใส่คำร้องเป็นเพลง ช้าง ช้าง ช้าง ออกรายการวิทยุ เพื่อสอนเด็กๆ
หรืออย่างเพลง “เดือนเพ็ญ” ก็มาจากเพลง “พม่าเห่”
แม้แต่ก่อนเคารพธงชาติ เพลงที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ใช้เปิดเทียบเวลา ทุก 8 โมงเช้า เป็นเพลงไทยออกภาษาพม่า ชื่อ “พม่าประเทศ”
ล่าสุด เท่ง สามช่า ก็ใช้ทำนองเพลง “พม่าประเทศ” มาแต่งเพลง “อ๊อดแอด”
ทั้งหมดคนไทยรู้จักกันดี แต่เราไม่รู้ มีความเป็นพม่า อยู่ในความเป็นไทย
ขนาดนางงาม หรือนางสาวไทยในอดีต ศิลปินแห่งชาติ เล่าว่า หลายคนอาจไม่ทราบพี่เลี้ยงนางงามจะสั่งแป้งทานาคา มาผสมน้ำให้นางงามแช่เพื่อให้ผิวเนียน แต่ในสมัยก่อนจะไม่บอกว่า เป็นแป้งทานาคา
ในขณะที่ การแสดงนาฏศิลป์พม่า ชุดโขนรามเกียรติ์ (มีการชำระประวัติศาสตร์ร่วมกันแล้วเช่นกัน โดยฝ่ายไทยและฝายพม่า) ได้มาจากครูโขนของไทยที่พลัดหลงไปอยู่พม่าหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 เป็นผู้สอนให้ ดังนั้นพม่าจึงรับวัฒนธรรม รามายณะ มาจากประเทศไทย
“เราเป็นพหุวัฒนธรรมทั้งนั้นในอาเซียน เป็นวัฒนธรรมผสมผสาน” ศิลปินแห่งชาติ มอง และว่า จุดเปลี่ยนที่ก้าวผ่านอคติที่มีต่อ "พม่า" ในยุคที่เปิดกว้างมากขึ้นนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่เขาเชื่อว่า แยกออก อดีตที่ผ่านไปแล้ว
“เหลือคนรุ่นผม ปล่อยให้เป็นความทรงจำ เพราะบังคับไม่ได้ ผมคิดว่า อนาคตความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อคนพม่าจะดีขึ้น”
ส่วนความรู้สึกเกลียดชัง เคียดแค้นชิงชัง ศัตรูอันดับ 1 ทางประวัติศาสตร์ของคนไทย “ธีรภาพ โลหิตกุล” บอกว่า เกิดจากความไม่เข้าใจ กรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยมบางทีเราอาจมองด้านเดียวจนเกินไป นอกจากคนไทยเรียนหนังสือแล้ว ยังต้องท่องจำเพื่อไปสอบ ทำให้เรื่องราวต่างๆ ฝังแน่น
“ดังนั้นจึงยังมีคนรุ่นผมที่บอกว่า ชาตินี้จะไม่ยอมไปพม่า ยังมีอยู่”
คนไทยรู้จักเพื่อนบ้านของเราน้อยมาก จริงหรือไม่ ทั้งๆ ที่ทางกายภาพพม่าเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย
หรือหากมองในมิติทางเศรษฐกิจ คนพม่ามีส่วนมาสร้างเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานพม่า และพม่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
นิทรรศการที่นำเสนอมุมมองการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง “พม่าระยะประชิด” นิทรรศการเกาะติดชีวิตเพื่อการสลายมโน ภายใต้แนวคิด Guest (’s) House พื้นที่เล็กๆ แห่งความเข้าใจ ที่ “ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร” นักจัดการความรู้อาวุโส มิวเซียมสยาม เล่าถึงที่มา และแนวคิดของการจัดนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” ที่ประจวบเหมาะกับการเปิดประชาคมอาเซียน
เขาเห็นว่า เรื่องราวความเข้าใจกับพม่าต้องมาก่อนเลย เพราะเป็นประเทศที่ไทยมีอะไรค้าง กันอยู่เยอะพอสมควร
“เนื้อหาเป็นปรากฎการณ์ปัจจุบัน และแนวคิด Guest (’s) House คนพม่าในไทยคือแขกของเราที่ประเทศไทยได้เชื้อเชิญเข้ามาในบ้าน ขนาดร้านขายของชำ ก็มีภาษาพม่า ตู้ ATM รถสองแถวก็มีภาษาพม่า เราเห็นแต่เราไม่เข้าใจ นิทรรศการนี้ต้องการสื่อว่า คนพม่าคือแขก “พม่าระยะประชิด” จึงทำมากกว่าความรู้ พยายามสร้างความเข้าใจต่อเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งไม่ใช่แค่การยืนดู หรือยืนอ่าน แต่นิทรรศการนี้คนไทยจะได้สัมผัสกับเพื่อนของเราด้วย”
คนไทยรู้จักพม่ามากน้อยแค่ไหน และที่รู้มานั้น ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ มิวเซียมสยาม ชวนคนไทยมาประชิดพม่า กับนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ 15 มีนาคม จนถึง 31 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 - 18.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เข้าชมฟรี!!