แลกหมัด! 'เดชอุดม VS สรัลชา' 'ปม คสช.สั่งเบรกเลือกตั้งนายก-กก.สภาทนาย
แลกหมัด ! 'เดชอุดม VS สรัลชา' ปม คสช. สั่งเบรกเลือกตั้งนายก-กก.สภาทนายความ พบหนังสือ 'ทีมผู้บริหารเก่า' ถาม คสช. ขอหาเสียงแตะประเด็นการเมือง ด้าน 'เดชอุดม' ยันไม่จริง โต้ทันควันคนทำหนังสือคือ ผอ.การเลือกตั้ง
แวดวงอาชีพทนายความร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง !
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการ คสช. ทำการแทนเลขาธิการ คสช. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายก และกรรมการสภาทนายความ
เพื่อให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายก และกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ ในวันที่ 24 เม.ย.59 ออกไปก่อน
โดยให้คณะกรรมการสภาทนายความที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ในะหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528
ทั้งนี้ คสช. ให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการกำหนดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามเขตอำนาจศาลเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ขัดแย้งกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่บังคับใช้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความเรียบร้อยของประเทศเป็นส่วนรวมในห้วงเปลี่ยนผ่าน จึงเห็นสมควรให้ชะลอไปก่อน เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557
(อ่านประกอบ : ใช้มาตรฐานเดียวอปท.!คสช.สั่งเบรกจัดเลือกตั้งนายก-กก.สภาทนายความ)
ขณะเดียวกัน ‘สรัลชา ศรีชลวัฒนา’ หนึ่งในคณะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบกับทีมผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สภาทนายความไม่ใช่ข้าราชการการเมืองแบบเทศบาล การออกคำสั่งแบบนี้จึงมิชอบ และที่ผ่านมากว่า 30 ปี ในการเลือกตั้งนายกฯ-กรรมการสภาทนายความ ก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะองค์กรนี้เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้ว แต่ คสช. ไม่เข้าใจ ดังนั้นในวันที่ 21 มี.ค. 2559 ทนายความบางกลุ่มเตรียมจะเข้าร้องเรียนกับหัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อชี้แจงและอธิบายปัญหาดังกล่าว
พร้อมกับมีการพาดพิงถึงทีมผู้บริหารชุดเก่า ที่มี ‘เดชอุดม ไกรฤทธิ์’ นายกสภาทนายความ โดยระบุว่า มีคนในทีมของผู้บริหารชุดเก่า ทำหนังสือถาม คสช. ว่า ในการหาเสียงจะพูดแตะประเด็นการเมืองด้วย
ซึ่งคาดว่า กรณีนี้ อาจเป็นชนวนเหตุให้ คสช. มีคำสั่ง ‘เบรก’ การเลือกตั้งออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด ?
(อ่านประกอบ : 'เดชอุดม'โต้ไม่จริง! ถูกกล่าวหาถาม คสช.หาเสียงแตะการเมืองชนวนถูกเบรก ลต.)
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า หนังสือขออนุญาตดังกล่าว ลงนามโดยนายวิเชียร ชุบไธสง ผอ.ศูนย์การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ คณะนายเดชอุดม เรียนถึง หัวหน้า คสช.
ระบุใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า คณะเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยสมัครนายกสภาทนายความ และกรรมการบริหารอีกจำนวน 22 คน นั้น มีความจำเป็นต้องไปทำการปราศรัยหาเสียง ด้วยการชุมนุมทนายความ และผู้ที่ให้ความสนใจจากจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้ง กทม.
และในการชุมนุมปราศรัยหาเสียงแต่ละครั้ง จะมีการพูดถึงเรื่องนโยบายของทีมผู้สมัคร และมีการพูดถึงประเด็นทางการเมืองบ้าง ตามประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้อห้ามการประชุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ของ คสช. คณะเดชอุดม จึงขออนุญาตทำการจัดการประชุม ชุมนุมปราศรัยหาเสียงตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีนายเดชอุดม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กรณีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทำหนังสือหารือ คสช. ขอปราศรัยหาเสียงโดยมีประเด็นทางการเมืองด้วยนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะคนทำหนังสือหารือคนแรกคือ นายอุทิศ สวยรูป ผู้อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการ สภาทนายความ โดยศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความทำงานเป็นอิสระ ถูกตั้งโดยคณะกรรมการมรรยาททนายความซึ่งเป็นอิสระจากกรรมการบริหาร สภาทนายความ จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำหนังสือไปหารือกับ คสช. ครั้งแรกทั้งนี้ยืนยันว่าทีมตนเดินทางหาเสียง ทำเอกสารแนะนำตัว ลงทุนไปเป็นเงินนับล้านบาท ดังนั้นนี่เป็นข้อกล่าวหาที่ทีมฝั่งตรงข้ามต้องการจะล้มทีมตน
จากการตรวจสอบพบว่า หนังสือที่รองเลขาธิการ คสช. ตอบ ผอ.การเลือกตั้งฯ นั้น มีอยู่ 2 ฉบับ โดยมีการอ้างถึงหนังสือของสภาทนายความ ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นเรื่องก่อนหน้าที่นายวิเชียร จะทำหนังสือถึง คสช. (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือเอกสารหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำมาโต้กันอยู่ในขณะนี้ ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป