ตามติดชีวิตครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีอาเซียนสู่การพัฒนาเครือข่ายครูในไทย
“หลังจากที่ผมได้รับรางวัล ผมเริ่มมั่นใจกับการค้นหาเทคนิคใหม่ๆในการสอนด้าน ICT ภายใต้บริบทโรงเรียนที่มีความขาดแคลน ทำอย่างไรให้ระบบ ICT ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามสร้างสะพานเพื่อเพิ่มโอกาสให้โรงเรียน ครูและนักเรียนในแต่ละประเทศได้เข้าถึงการศึกษาด้วยการสนับสนุนผ่านระบบ ICT"
เมื่อเดือนตุลาคม 2558 มีพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลอันทรงเกียรติแห่งความเป็นครู โดยคุณครูที่ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ ถึงวันนี้ท่านเหล่านนั้นได้ต่อยอดการเรียนรู้และทักษะของตนเองเพื่อสร้างเครือข่ายในประเทศอย่างไรบ้างนั้น
เริ่มจากคุณครูทอช บันดาว จากประเทศกัมพูชา ครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาใน Wat-Bo Primary School วัย 38 ปี นับเป็นครูที่เน้นการสอนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางผ่านเทคนิคสร้างแรงจูงใจผู้เรียน ให้ความสำคัญกับเด็กเรียนรู้ช้า โดยการสร้างเครื่องมือช่วยสอนจนได้รับรางวัลชนะเลิศครูที่มีความโดดเด่นในระดับชาติ
เธอเล่าถึงวันสตรีสากลที่ผ่านมาว่า เธอได้รับเกียรติเป็นตัวแทนข้าราชการประจำกระทรวงศึกษา เยาวชนและการกีฬากว่าหกหมื่นคน และตัวแทนของครูกว่าหนึ่งแสนคนในเมืองเสียมราฐ กล่าวถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันของสตรีในประเทศกัมพูชา
“วันนั้น ดิฉันได้ให้คำมั่นสัญญาในฐานะสตรีที่เป็นตัวแทนครูใน 4 ข้อ ดังนี้ 1) สตรีต้องมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทความสามารถในการรับใช้สังคม 2) สตรีต้องมีความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ 3) สตรีต้องมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 4) สตรีต้องมุ่งมั่นที่จะพลเมืองที่ดีของสังคม"
คุณครูทอช บันดาว บอกถึงความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นผู้หญิงในประเทศกัมพูชา และในฐานะที่มีโอกาสได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เธอมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ให้เพื่อนครูชาวกัมพูชาเดือนละครั้งอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็เป็นการสื่อสารผ่านระบบ ICT ซึ่งช่วยสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่ทำงานร่วมกันจำนวน 5-6 แห่งได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
และในอนาคต คุณครูทอช บันดาว หวังว่า เธอจะมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในรุ่นต่อๆไป
ส่วนคุณครูไซนุดดิน ซาคาเรีย จากประเทศมาเลเซียมีโอกาสกลับมาช่วยประเทศไทยต่อยอดในเรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้ ในด้านทักษะ ICT ภายใช้ชื่อ “Project ThaiMas.” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ โรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี และโรงเรียน Taman Bukit Maluri ประเทศมาเลเซียซึ่งเขาได้เพื่อนครูชาวไทยเป็นผู้ประสานงาน ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน และครูผู้สอนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
“หลังจากที่ผมได้รับรางวัล ผมเริ่มมั่นใจกับการค้นหาเทคนิคใหม่ๆในการสอนด้าน ICT ภายใต้บริบทโรงเรียนที่มีความขาดแคลน ทำอย่างไรให้ระบบ ICT ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามสร้างสะพานเพื่อเพิ่มโอกาสให้โรงเรียน ครูและนักเรียนในแต่ละประเทศได้เข้าถึงการศึกษาด้วยการสนับสนุนผ่านระบบ ICT"
ล่าสุดเขาใช้ทุนที่ได้จากรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีบินกลับมาร่วมงานกับร.ร.แม่ริมวิทยาคม ในเดือนธันวาคม 2558 และจะกลับมาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2559 เพื่อร่วมงานกับร.ร.ปทุมวิไล
ขณะนี้นักเรียนชาวมาเลเซียและนักเรียนชาวไทยได้เริ่มสื่อสารผ่านการใช้เฟสบุ๊คและอีเมลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เขายังใช้เงินบางส่วนจากรางวัลฯในการปรับปรุงอุปกรณ์ให้ทันสมัยต่อการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยคาดหวังว่าอย่างน้อยจะมีครูจำนวน 106 คนในโรงเรียนของเขาได้ร่วมพัฒนาทักษะด้าน ICT ร่วมในโปรเจ็คท์นี้ด้วย
ขณะที่คุณครู ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถม Keriam Primary School วัย 48 ปี ผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน แชร์ข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวของเธอ ถึงความสุขทุกครั้งที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยเฉพาะเทคนิคกระบวนการสอน
“ในบรูไนฉันทำหน้าที่คล้ายๆ กับตัวแทนของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในการบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากรางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่เครือข่ายครูชาวบรูไนตลอดปีที่ผ่านมา และยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับประเทศไทย ผู้เป็นเจ้าภาพรางวัลอันทรงคุณค่านี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังสนับสนุนเครือข่ายครูผู้รับรางวัลระดับคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ และมอบให้สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นมีส่วนร่วมด้วยช่วยงานพัฒนาโครงการของครูแต่ละท่าน ใน 4 เวทีภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
คุณครูเฉลิมพร วงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนในเวทีต่างๆ ช่วงที่ผ่านมาว่า ถือเป็นการเปลี่ยนมิติใหม่ในการอบรมครูในประเทศไทย เพราะโดยทั่วไปการอบรมมักตั้งโจทย์จากผู้จัด แต่ไม่ได้เป็นความสนใจของผู้อบรม แต่ครั้งนี้เป็นมิติที่สามารถพัฒนาครูได้ตามความถนัด ทำให้ครูรับงานด้วยความเต็มใจและมีความกระตือรือล้นในการขยายความรู้ไปยังเครือข่ายครูและนักเรียน
อีกมุมที่น่าสนใจคือ ในส่วนคุณครูที่ชราภาพ แต่ในตัวท่านมีองค์ความรู้ชั้นดี ซึ่งแต่เดิมอาจถูกมองข้าม แต่พอใช้กระบวนการถอดองค์ความรู้แทนที่จะให้ความรู้นั้นจมหายไป แล้วหยิบมาต่อยอดให้เครือข่ายครูก็จะเกิดประโยชน์มาก เพราะเป็นองค์ความรู้และทฤษฎีที่ผ่านการลองผิดลองถูกและปรับใช้ได้สำเร็จประเทศไทย
คุณครูเฉลิมพร นอกจากงานสอนในห้องที่ยังเป็นงานหลักแล้ว ยังมีการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนครู และโครงการวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กเยาวชน ซึ่งถือเป็นงานที่เขาเต็มใจช่วยในฐานะครู