อาลัย "บาบอตาบอด" พ่อคนที่สองของเด็กๆ แห่งปอเนาะบ้านตาแปด
เรื่องราวของบาบอสะอูดี สาแม วัยเกือบ 50 ปีซึ่งตาบอดสนิททั้งสองข้าง แต่กลับเปิดปอเนาะตัสกีเราะห์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ปอเนาะบ้านตาแปด" ที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา จนชื่อเสียงขจรขจาย เพราะเปิดสอนเด็กมุสลิมที่มีฐานะยากจนหรือกำพร้า โดยมีเด็กๆ อยู่ในความดูแลมากกว่า 80 ชีวิตนั้น เคยได้รับการถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้อย่างคมคายและละเมียดละมัย
ที่ว่าคมคาย เพราะบาบอสะอูดีเป็นครูที่เข้าใจชีวิต มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างรู้เท่าทันธรรมชาติ ทำให้มีวิธีคิดและแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด รวมทั้งวาจาอันคมกริบ ดังเช่นเหตุผลของบาบอที่รับสอนเฉพาะเด็กผู้ชาย ไม่รับเด็กผู้หญิงว่า "เลี้ยงแมวอย่างเดียวพอ ไม่ต้องเลี้ยงปลา ต่อหน้าเจ้าทำเป็นเชื่อง ลับหลังขโมยปลาเอาไปกิน"
ส่วนที่ว่าละเมียดละมัยนั้น ก็เพราะเรื่องราวของบาบอเปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังใจ แม้ตาบอดตั้งแต่เด็ก แต่ก็หมั่นเพียรเขียนอ่านจนสำเร็จจากปอเนาะชื่อดังในพื้นที่ และไปศึกษาต่อถึงประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเรียนจบกลับมาก็เปิดปอเนาะดูแลเด็กกำพร้าและเด็กๆ ฐานะยากจนโดยไม่สนเรื่องเงินทอง ทั้งๆ ที่วันหนึ่งต้องหาข้าวสารหุงให้ลูกศิษย์กินอย่างน้อยๆ ก็ 10 กิโลกรัม
ความเสียสละและชื่อเสียงของบาบอสาอูดี ดังไปถึงอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ชื่อ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งแม่ทัพ เคยเดินทางไปเยี่ยมบาบอถึงที่ปอเนาะ และเมื่อพบว่าปอเนาะขาดแคลนน้ำ ก็สั่งการให้ทหารช่วยกันขุดบ่อบาดาลให้ เมื่อเห็นว่าปอเนาะขาดแคลนเรือนพักอาศัย ก็บอกให้ทหารช่วยกันสร้างเรือนนอนให้เด็กๆ ทั้งยังมอบลูกเป็ด ลูกไก่ และพันธุ์ปลาให้นักเรียนช่วยกันเลี้ยง เพื่อนำมาประกอบอาหารในแต่ละวันด้วย
น้ำใจของ พล.อ.พิเชษฐ์ ในครั้งนั้น นำมาซึ่งความผูกพันระหว่างบาบอผู้สอนศาสนาอิสลาม กับผู้นำทางทหารผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบ...
ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวเศร้าจากบ้านตาแปด เมื่อบาบอสาอูดีต้องถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัว ทำให้ปอเนาะต้องปิดการเรียนการสอนลงอย่างกะทันหัน
มารูวัน วาเด็ง นักเรียนของปอเนาะบ้านตาแปด เล่าว่า ก่อนบาบอจะเสียชีวิต บาบอกบอกให้พวกเรากลับบ้านไปก่อน เพราะตอนนั้นบาบอเจ็บหนัก แต่ก็มีคนกลับบ้างไม่กลับบ้างเพราะเป็นห่วงบาบอ
"ก่อนที่บาบอจะให้ทุกคนกลับบ้าน บาบอได้เรียกทุกคนมาบอก เหมือนกับจะตอกย้ำให้พวกเราเป็นคนดีและตั้งใจเล่าเรียน ทั้งยังบอกว่าบ่อบาดาลในปอเนาะที่ทำให้พวกเรามีน้ำกินน้ำใช้กันนี้ พล.ท.พิเชษฐ์ เป็นคนทำให้ เรือนนอนที่ได้หลับนอนกัน ทหารเข้ามาช่วยสร้าง หลายๆ อย่างในนี้ทหารให้ความช่วยเหลือ ทั้งเป็ด ไก่ และพันธุ์ปลา แล้วบาบอก็บอกว่าให้ทุกคนจำไว้นะ จากนั้นบาบอก็ให้พวกเรากลับบ้าน มารู้อีกทีบาบอก็เข้าโรงพยาบาลแล้ว"
มารูวัน บอกด้วยว่า รู้สึกเสียใจและเสียดายบาบอ เพราะเป็นคนมีความรู้ บาบอบอกพวกเราเสมอว่า การมีชีวิตของคนเรานั้นเปรียบดั่งใบไม้ คือพร้อมจะร่วงหล่นได้ทุกเวลา แต่ก็ไม่อยากจะคิดว่าบาบอจะจากพวกเราไปรวดเร็วอย่างนี้
พ่อคนที่สองของเด็กๆ ด้อยโอกาส
บาบอสาอูดีล้มเจ็บเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา จนต้องบอกให้เด็กๆ กลับบ้าน และปิดการเรียนการสอนชั่วคราว จากนั้นภรรยาของบาบอได้พาบาบอส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่ก็สุดความสามารถที่หมอจะยื้อชีวิตเอาไว้ได้ บาบอสิ้นใจเมื่อวันที่ 13 พ.ย.
การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบาบอสาอูดี นอกจากจะทำให้เด็กนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งแล้ว หลายครอบครัวยังรู้สึกวิตกกังวลกับอนาคตการเรียนของบุตรหลานด้วย เพราะที่ผ่านมาปอเนาะรับดูแลเด็กๆ โดยไม่คิดค่าตอบแทน ทำให้บาบอสาอูดีเปรียบเสมือนพ่อคนที่สองของเด็กๆ ทุกคนเลยทีเดียว
สุดท้ายพี่ชายของบาบอสาอูดีต้องประกาศว่าจะทำหน้าที่สอนแทน และรักษาปอเนาะตาแปดไว้ต่อไป จึงทำให้ความกังวลใจของบรรดานักเรียนและผู้ปกครองค่อยคลายลงไป
สอนฟรี-อยู่ฟรี...ให้โอกาส"เด็กดี"ได้เล่าเรียน
ชื่อเสียงของปอเนาะตัสกีเราะห์ นอกจากเพราะความสามารถของบาบอตาบอดแล้ว วิธีการเรียนการสอนและการให้เด็กๆ อยู่แบบกินนอนแบบปอเนาะดั้งเดิมที่เคร่งครัดเรื่องความประพฤติและศีลธรรมของนักเรียน ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไว้วางใจส่งบุตรหลานมาเข้ารับการอบรมบ่มนิสัย
นายมะ ลูกศิษย์ของบาบอสาอูดี เล่าว่า กิจวัตรในแต่ละวันของนักเรียนจะเริ่มตั้งแต่เวลา 05.00 น. ทุกคนจะพร้อมกันที่ "บาลัย" ซึ่งหมายถึงลานกว้างสำหรับให้คนจำนวนมากร่วมพิธีละหมาด จากนั้นทุกคนจะร่วมเรียนอัลกุรอานแบบพี่สอนน้องถึงเวลา 07.00 น.จึงเป็นเวลาพักทานข้าวมือแรกของวัน
08.30 น.นักเรียนต้องเข้าเรียนกีตาบบนบาลัย ซึ่งผู้เรียนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มรุ่นพี่ เรียนกับบาบอ และกลุ่มรุ่นน้องที่ยังอ่านเขียนไม่ได้ จะเรียนกับรุ่นพี่ที่บาบอมอบหมายให้สอน
การเรียนจะดำเนินไปเรื่อยๆ จนเข็มนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงตรง ก็จะเป็นเวลาพักกลางวัน ทุกคนจะร่วมพิธีละหมาดตอนเที่ยง เสร็จแล้วก็จะพักผ่อนตามอัธยาศัย โดยนักเรียนส่วนใหญ่จะใช้เวลานี้นอนหลับพักผ่อนและทำกิจธุระส่วนตัว กระทั่งถึงเวลาละหมาดตอนเย็น 15.30 น. จากนั้นก็จะเรียนกีตาบจนถึงเย็นก็จะได้พักอีกครั้ง โดยนักเรียนส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างช่วงนี้ในการเล่นกีฬา
กิจวัตรประจำวันยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะยังมีการเรียนการสอนภาคกลางคืนด้วย โดยจะเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น.หลังละหมาดตอนค่ำ โดยทุกคนจะร่วมกันเรียนอัลกุรอานแบบพี่สอนน้อง และละหมาดอีกครั้ง แล้วจึงสลับมาเรียนกีตาบกระทั่งถึงเวลานอนคือ 22.00 น. ก่อนจะตื่นขึ้นมาตอนตี 5 เพื่อเริ่มการเรียนการสอนของวันใหม่
ส่วนที่บาบอมองไม่เห็นนั้น นายมะ บอกว่า ตลอดเวลาที่เรียนกับบาบอ ไม่เคยรู้สึกว่าบาบอมองไม่เห็น เพราะบาบอจะสอนให้เข้าใจง่าย ยกตัวอย่างสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา
หารงห์ บอซู นักเรียนรุ่นพี่วัย 30 ปี เล่าให้ฟังว่า รุ่นพี่ต้องพยายามดูแลรุ่นน้องให้สามารถอยู่ในกรอบของปอเนาะ ทั้งเรื่องกฎระเบียบ การทำความสะอาด และการเรียนเขียนอ่าน รุ่นพี่จะสอนทุกอย่างแทนบาบอ เมื่อเห็นว่ารุ่นน้องเริ่มมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักรับผิดชอบ และสามารถอ่านออกเขียนได้ ก็จะเริ่มเข้าเรียนกับบาบอได้
ขณะที่ อันวา สามะ อายุ 16 ปี เล่าว่า เขาเป็นเด็กกำพร้า มาจาก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก แต่มีพี่น้องหลายคน ฐานะทางบ้านยากจน แม่ไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนที่โรงเรียนเหมือนคนอื่น จึงส่งมาเรียนที่ปอเนาะตาแปด
"ตอนแรกคิดว่าคงไม่ได้เรียนหนังสือแล้วหลังจากจบ ป.6 ที่โรงเรียนในชุมชน ตอนนั้นก็ไปนั่งคุยกับเพื่อนๆ พอดีมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าว่ามีโรงเรียนสอนฟรี ทุกอย่างฟรีหมด สอนเข้าใจง่ายด้วย แต่บาบอตาบอดนะ ผมก็งงๆ แต่ความที่อยากเรียนหนังสือ ก็เลยบอกแม่ให้มาส่ง แม่ก็มาส่ง หลังจากนั้นก็ได้มาเรียนที่นี่ เริ่มเรียนกับรุ่นพี่ก่อน ไม่นานก็สามารถปรับตัวได้ เพราะมีพื้นจากโรงเรียนตาดีกามาบ้างแล้ว จึงสามารถอ่านออกเขียนได้ ไปเร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ จากนั้นก็ได้เข้าเรียนกับบาบอ เขาสอนเข้าใจง่ายและบาบอจะเอาสิ่งที่อยู่รอบข้างมายกตัวอย่างอธิบายให้ฟัง จึงทำให้ยิ่งเข้าใจง่ายขึ้นไปอีก"
อันวา บอกด้วยว่า เมื่อมาเรียนอยู่ที่ปอเนาะตาแปด นานๆ จะกลับบ้านสักครั้งหนึ่ง อาจจะ 2-3 เดือนครั้ง โดยทุกครั้งที่กลับบ้านแม่จะให้เงินมา 300 บาท แต่เงินนั้นก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร เพราะอยู่ที่ปอเนาะแทบไม่ต้องใช้จ่าย นอกจากช่วยค่าไฟฟ้าเดือนละ 20 บาทเท่านั้น
อาลัย "บาบอตาบอด"
ด้าน นายมานะ สาและ ผู้ใหญ่บ้านวัย 40 ปีแห่งบ้านตาแปด กล่าวว่า บาบอสาอูดีเป็นคนที่จำแม่นมาก ทุกครั้งที่มีรถมาที่บ้าน และถ้าเกิดรถคันนั้นกลับมาเป็นครั้งที่สอง บาบอจะรู้ทันทีว่าใครมาหา
"หลายครั้งที่บาบอสร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่เดินทางไปไหนมาไหนด้วยกัน เคยมีครั้งหนึ่งเรากำลังไป อ.ยะหา จ.ยะลา แต่ไม่รู้ทางไป บาบอกลับบอกซ้ายขวาจนเราสามารถไปถึงจุดหมายได้อย่างถูกต้อง" ผู้ใหญ่บ้านมานะ กล่าว
ขณะที่ นางยาวาเฮ เจะโจทย์ ชาวบ้านตาแปด บอกว่า เมื่อก่อนบาบอรับสอนเฉพาะเด็กๆ ในชุมชนเท่านั้น แต่ด้วยความที่บาบอสอนหนังสือเข้าใจง่ายทั้งๆ ที่ตามองไม่เห็น ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ใครๆ ก็ส่งลูกหลานมาเรียน ซึ่งบาบอไม่ได้สอนแต่วิชาความรู้ แต่ยังสอนให้เด็กเป็นคนดี รู้จักวางตัวในสังคมด้วย
"เคยคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่ส่งมาเรียนที่นี่ เขาบอกว่าลูกเขาอยู่บ้านนิสัยเกเรมาก ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง แต่หลังจากส่งมาเรียนกับบาบอ ลูกเขาเปลี่ยนเป็นคนละคน สามารถอ่านอัลกุรอานได้คล่องแคล่ว ความประพฤติก็ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แทบไม่รู้จักตัวอักษรอาหรับเลย" นางยาวาเฮ กล่าว
ด้วยคุณูปการอันมากล้นของบาบอคนดี ทำให้ทุกคนที่รู้จักและรับทราบเรื่องราวของบาบอสาบูดี ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ลูกหา พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านในชุมชน ต่างรู้สึกเสียใจและอาลัยกับการจากไปของบาบอท่านนี้
บาบอตาบอดแห่งปอเนาะบ้านตาแปดจะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายชื่อปอเนาะตัสกีเราะห์ หรือปอเนาะตาแปด
2 บาบอสาอูดี
3-4 ความช่วยเหลือจากทหาร ทั้งบ่อบาดาลและผักสวนครัว
5 เด็กนักเรียนล้อมวงกินข้าว
6 ผู้ใหญ่บ้านมานะ
ขอบคุณ : กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เอื้อเฟื้อภาพ 1, 3, 4 ส่วนภาพที่เหลือโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ