พท.ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ร่างรธน.ฉบับกรธ.-ข้อเสนอคสช.
17 มี.ค.59 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อสาธารณชน และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นร่างสุดท้าย หลังจากได้รับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยมีการแถลงผลสรุปของการแก้ไขปรับปรุงมาโดยตลอด จนล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีข้อเสนอเป็นหนังสือให้ กรธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาลมาด้วยนั้น
พรรคเพื่อไทย ได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.มาโดยตลอด เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหลายประการที่จะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศถดถอย รัฐบาลขาดเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถูกแทรกแซงจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ กลไกในรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนหรือนโยบายที่มีลักษณะของการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ มีการสร้างกลไกเพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส.เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ที่มาของ ส.ว.ก็มาจากการสรรหาแทนที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญก็มีการกำหนดเงื่อนไขให้แก้ไขยากมาก โดยพรรคได้เสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อ กรธ.แล้ว แต่ข้อเสนอของพรรคก็ไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงแต่ประการใด ขณะที่ คสช.ได้มีข้อเสนอไปยัง กรธ.ดังนี้
1.ให้มี ส.ว.จำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งของคณะบุคคลเพียง 8 - 10 คน โดยคณะบุคคล ที่ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. 8 - 10 คน ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใดเลย ส่วนใหญ่คงเป็นคนที่ คสช.คัดเลือกมา จึงอาจกล่าวได้ว่า คสช.เป็นผู้เลือก ส.ว.นั่นเอง นอกจากนี้ การให้ ผบ.เหล่าทัพ รวมถึง ผบ.ตร.เป็น ส.ว.ด้วย ยิ่งมีปัญหา เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการประจำต้องทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาล กลับให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเสียเองและบุคคลเหล่านี้มีอำนาจคุมกำลังทั้งทหารและตำรวจ การให้มาทำหน้าที่ ส.ว.จะทำให้สามารถชี้นำการทำหน้าที่ของ ส.ว.และชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อสถานะของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ส่วนข้อเสนอที่ให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อำนาจในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งก็ไม่ต่างจาก คปป. ในร่างของนายบวรศักดิ์ฯ มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ก็เป็นประเด็นที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยของทั่วโลก เพราะ คสช.ให้บุคคลที่มาจากการแต่งตั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้
2.การเสนอให้มีการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ 3 คน แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว ข้อเสนอตรงนี้พบว่ามีปัญหามาก ซึ่งมีข้อเสียมากกว่าข้อดี การใช้เขตละคนซึ่งเคยใช้ในการเลือกตั้งทุกครั้งในระยะหลังเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เป็นระบบที่ง่าย สะดวกและเป็นธรรม พรรคมองเจตนาได้ว่าข้อเสนอดังกล่าว ต้องการสกัดพรรคการเมืองใหญ่ให้มี ส.ส.เขตลดลง
3.การขอให้ยกเว้นไม่ต้องให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ในการเลือกตั้ง ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องเสนอก็ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บังคับว่าพรรคต้องเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสมอไป จะเสนอหรือไม่เสนอก็ได้ เหตุที่ คสช.เสนอดังกล่าว ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น และประชาชนไม่สามารถทราบได้เลย
พรรคจึงเห็นว่าข้อเสนอของ คสช.ข้างต้นเป็นความต้องการของ คสช.โดยตรงที่ต้องการจะควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยผ่านตัวแทนที่ตนเองแต่งตั้งขึ้นโดยทางอ้อม คือ ส.ว.และนายกรัฐมนตรี แม้จะอ้างว่านายกรัฐมนตรีต้องผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่ด้วยกระบวนการและกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นไปได้สูงว่า จะมีปัญหาการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน สุดท้ายก็ต้องเอาคนที่ คสช.เห็นชอบ เพราะ คสช.ยังมีอำนาจในการควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้มี ส.ว.จากการแต่งตั้งทั้งหมด มีอำนาจควบคุมรัฐบาลแล้ว ยังมีประเด็นของการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อันเป็นการผิดหลักการประชาธิปไตยอีกด้วย ร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้มีความตั้งใจที่จะสืบทอดอำนาจ ต้องการจะควบคุมและมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของปวงชน จึงเป็นการไม่ให้ความเคารพในอำนาจของประชาชนเลยแม้แต่น้อย
ด้วยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา รวมถึงข้อเสนอของ คสช.ที่จะเพิ่มปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้นข้างต้น ประกอบกับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดความผิดและโทษของฝ่ายที่รณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง ขณะที่มีการใช้กลไกของรัฐเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติเป็นไปอย่างกว้างขวาง
พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการลงประชามติ มิได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ด้วยความสุจริต โปร่งใส และชอบธรรมแต่อย่างใด
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนของพรรคว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ กรธ.และข้อเสนอของ คสช.ดังกล่าวข้างต้น
ขอบคุณข่าวจาก