สถิติคุณภาพสถาบันการบิน กับการผลิตนักบิน เน้นคุณภาพ หรือปริมาณ?
การผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบิน ต้องดูคุณภาพเป็นหลัก ไม่ใช่เร่งการผลิต หรือเน้นแต่ปริมาณ ณ ขณะนี้สำหรับประเทศไทย คิดว่า การผลิตบุคลากรด้านนี้ยังไปได้ดี แต่ห่วงอนาคต
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินของไทยเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ก็ถูกรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องมาตรการการกำกับดูแลมาตรฐานการบิน ถูกเตือนมากจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ (ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการบินในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย
ปัญหาหลังสุด กรณีสายการบินนกแอร์ ที่ยกเลิกเที่ยวบินหลายครั้ง ถึงวันนี้ยังแก้ปัญหาการบริหารงานภายใน แก้ปัญหานักบินไม่ได้ รวมไปถึงการผลิตนักบิน ผลิตบุคลากรทางด้านการบินในสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับปัญหาการขาดแคลนนักบิน เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ? คำถามนี้ นาวาอากาศตรีดร.วัฒนา มานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ สถาบันการบินพลเรือน ได้ไล่ย้อนไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีนักบินพลเรือน จากนั้นราว 40-50 ปี ประเทศไทยก็เริ่มขาดแคลนนักบิน เนื่องจากนักบินยุคแรกๆ นั้นเริ่มเกษียณอายุไป
ขณะที่คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพนักบินน้อยลง
ความสนใจเข้าสู่อาชีพนี้ลดน้อยลง อาจสวนทางกับความรู้สึกที่คนไทยเห็นว่า ยังมีคนแห่มาเรียนด้านการบิน
แต่จากการศึกษาทั่วโลก พบว่า ประชาชนของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกา มีความสนในเรื่องการบิน หรือจะมาเป็นนักบินลดลง ด้วยมีอาชีพอื่นๆ ที่สร้างรายได้ให้มากกว่า เช่น อาชีพแพทย์ นักกฎหมาย นักไอที เป็นต้น
ขณะที่ตัวเลขในอาเซียน นาวาอากาศตรีดร.วัฒนา บอกว่า ยังมีความต้องการเป็นนักบินอยู่ค่อนข้างมาก พร้อมกับยกการศึกษาของผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน อย่าง โบอิ้ง แอร์บัส รวมถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ชี้ชัดว่า อีก 10-20 ปี ข้างหน้า ในภูมิภาคอาเซียนต้องการบุคลาการด้านการบิน 57,000 หมื่นคน นับรวมทั่วโลกยังขาดแคลนบุคลากรด้านการบินเป็นจำนวนถึงหลักล้านคน
แค่ภูมิภาคอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย นับได้ว่า มีสายการบินมากที่สุด ประกอบกับจำนวนประชากร 200 กว่าล้านคน จำนวนหมู่เกาะกว่า 1.7 หมื่นเกาะ จำเป็นต้องเดินทางทางอากาศ
ขณะที่ประเทศไทย สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) เจริญเติบโต การดึงบุคลากรด้านการบิน นักบิน แต่ละสายการบินจึงต้องการแบบสำเร็จรูป เบ็ดเสร็จ พร้อมใช้งานได้ทันที
แต่หากไปดูสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบินในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนหลักสูตรด้านการบินจำนวน 26 แห่ง
ที่เปิดสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบิน 5 แห่ง
มี 3 แห่ง ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-58) และอยู่ในระดับคุณภาพดี ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน ม.อีสเทิร์นเอเชีย และม.รังสิต
อีก 2 แห่ง ที่เปิดสถาบันการบินเพิ่ม และจะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-63) คือ ม.นครพนม และม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี
นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีก 21 แห่ง ที่มีการเปิดหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ล้วนมีผลการประเมินของ สมศ.อยู่ในระดับ ดี-ดีมาก
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คน ปี 2557 มีมากกว่า 9,000 คน และปี 2558 มีประมาณ 1.5 หมื่นคน” ศาสตราจารย์ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. ให้ข้อมูล ตัวเลขการผลิตบุคลาการป้อนอุตสาหกรรมการบินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยสถาบันการบินพลเรือน เป็นแห่งเดียวที่เปิดสอนแบบครบวงจร มีหลักสูตรภาคอากาศ อาทิ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ และหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล และหลักสูตรภาคพื้นดิน อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือไทยและอินโดนีเซีย
ศ.ดร.ชาญณรงค์ มองว่า การผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบิน ต้องดูคุณภาพเป็นหลัก ไม่ใช่เร่งการผลิต หรือเน้นแต่ปริมาณ ณ ขณะนี้สำหรับประเทศไทย คิดว่า การผลิตบุคลากรด้านนี้ยังไปได้ดี แต่ห่วงอนาคต เพราะปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนด้านการบินมีอยู่ 26 มหาวิทยาลัย แต่มี 4 แห่งเท่านั้นที่ผลิตนักบิน
- สถาบันการบินพลเรือน ผลิตนักบินได้ปีละ 80-120 คน
- มหาวิทยาลัยนครพนม ผลิตนักบินได้ปีละ 10-20 คน
- โรงเรียนการบิน (BAC) ไม่เกิน 200 คน
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี ผลิตนักบินได้ 15-20 คน
นักบินที่จบจากสถาบันการบินพลเรือน ออกมาเป็นนักบินได้อัตโนมัติ ที่เหลือต้องมาสอบใบอนุญาตการบิน (License)
ถึงวันนี้แม้ประเทศไทยผลิตบุคลกรด้านการบิน และนักบินยังไม่มาก โดยผลิตภายใต้การควบคุมของสัดส่วนของอาจารย์ 1 คน ต่อนักศึกษา 6 คน ภายใต้การกำกับที่เข้มข้น แต่จากนี้ไปหากนโยบายของภาครัฐจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน จำเป็นต้องมีความพร้อมด้านสนามบิน เครื่องมือ องค์ประกอบด้านการบิน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการการขยายโอกาสทางการศึกษาการผลิตบุคลากร ที่ยังน่าเป็นห่วง ระหว่างปริมาณกับคุณภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สบพ. แนะสายการบินให้ทุนการศึกษา ปั้นคน แทนการช็อป'กัปตัน'แบบเบ็ดเสร็จ
สบพ.เผยไทยขาดแคลนนักบิน ผลิตได้สูงสุดปีละ 300 คน