เปิดรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทย ก่อนการพิจารณา UPR รอบ2 ที่เจนีวา
เปิดรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทยก่อนกระบวนการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยรอบที่ 2 วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์เเลนด์
กระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council- HRC) เป็นหนึ่งกลไกที่ประชาคมโลกจะได้มีการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระบวนการนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีข้อยกเว้น
การทบทวนของแต่ละประเทศจะมีขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ ได้นำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะด้วย สำหรับประเทศไทยในวันที่ 10 พ.ค. 2559 นี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทางเครือข่ายภาคประชาสังคมในกระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย (Thailand CSO Coalition for UPR) ซึ่งมีสมาชิกจาก 22 ประเด็นเครือข่าย ได้ทำการติดตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐไทยจะรับข้อเสนอแนะต่างๆ และดำเนินการในการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะได้มีการทบทวนในเดือนพฤษภาคมนี้ มีหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิต การทรมาน การบังคับสูญหาย การจัดการทรัพยากรของชุมชน สิทธิสตรี เด็ก ความหลากหลายทางเพศ ชนเผ่าพื้นเมือง คนไร้รัฐ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ การค้ามนุษย์ สถานการณ์ชายแดนใต้ ฯลฯ
สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เขื่อน เหมืองแร่ ปิโตรเลียม ที่ดิน สิ่งแวดล้อม)
ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม เผยว่า ที่ผ่านมา “อำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” ถูกผูกขาดโดยรัฐบาล กฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ตามแผนแม่บทป่าไม้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบังคับไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ทำกินโดยไม่มีการจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่ ทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน
นอกจากนั้นยังออกคำสั่ง ฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 ยกเว้นกฎหมายผังเมือง สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายพลังงาน ทั้งเรื่องปิโตรเลียม และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เปิดช่องให้ดำเนินโครงการกว่า 70 โครงการ เช่น เขื่อน การคมนาคม ฯลฯ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งการเดินหน้า พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ที่ลดขั้นตอนการอนุมัติและสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายพิเศษจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน ทั้งจากกฎอัยการศึก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งหัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การใช้อำนาจเรียกตัวชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิไปปรับทัศนคติ รวมทั้ง การข่มขู่คุกคาม จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ซึ่งพบว่าปัญหาการคุกคามยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ปรากฏการณ์การปะทะกันระหว่างทหารกับชาวลาหู่ และการใช้กำลังของกลุ่มทุนกับชาวเลจากหาดราไวย์ เป็นต้น
รัฐไทยควรจะเพิกถอนโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกและกระบวนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่น ชุมชนจะต้องเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนก่อนการดำเนินโครงการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชยเยียวยาจากรัฐและผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมไปถึงสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การบังคับสูญหาย
ในรายงานฉบับภาคประชาสังคม ได้สรุปสถานการณ์ด้านนี้ตลอด 4 ปี ภายหลังจากการพิจารณารอบที่ 1 ระบุว่า จากข้อเสนอแนะในรอบแรก ดูเหมือนสถานการณ์สิทธิเสรีภาพจะเริ่มดีขึ้น แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 สถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกลับมาเลวร้ายลง อันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้แสดงออกอย่างสันติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การทรมาน การใช้โทษประหารชีวิต และการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดกลับไม่ได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
หลังการรัฐประหาร มีการใช้กฎหมาย เช่น กฎอัยการศึก และประกาศคำสั่ง คสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อและประชาชน มีการเรียกผู้เห็นต่างจากรัฐไปปรับทัศนะคติและควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนอ้างว่ามีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว มีการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีการฟ้องหมิ่นประมาทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ใหม่ โดยมีการฟ้องคดี 112 อย่างน้อย 30 คดี และมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ด้วยการแสดงออกโดยสันติอย่างน้อย 50 คน
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งมีเหตุความไม่สงบมามากว่า 12 ปี และมีที่ม่าว่ายิ่งเลวร้ายลง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อันเป็นผลให้มีการจับกุมพลเรือนตามอำเภอใจและการควบคุมตัวเป็นเวลามากถึง 37 วัน โดยไม่นำผู้ละเมิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังมีการบังคับตรวจดีเอ็นเอ โดยเฉพาะล่าสุด มีการตรวจดีเอ็นเอของเด็กอายุห้าเดือน รวมถึงมีการทรมานอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง อย่างน้อย 54 ราย ตามบันทึกสถิติปี 2557- 2558 และการบังคับบุคคลให้สูญหาย 5 ราย ในปี 2554-2559
การบังคับบุคลลสูญหายในประเทศไทย
จากกระบวนการ UPR รอบแรกไทยรับข้อเสนอแนะ 6 ข้อในประเด็นนี้ แต่ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย จนปัจจุบันประเทศไทยมีการแจ้งคดีการบังคับสูญหายกว่า 89 คดี คณะทำงานระบุว่ากว่า 81 กรณียังไม่ได้รับการคลี่คลาย และมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่รัฐบาลไทยชี้แจง
ทั้งนี้ในวันที่ 9 มกราคม 2555 รัฐบาลไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับสูญหาย (CED) เป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญาโดยสมัครใจที่ให้ไว้ระหว่างการทบทวนรอบแรก อย่างไรก็ดี อนุสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศ เนื่องจากยังไม่มีสัตตาบัน และในเดือนมกราคม 2558 มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย พ.ศ...... เข้าสู้การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบัน พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ผ่าน สนช.
โดยทางเครือข่ายฯ เสนอให้รัฐจะต้องยกเลิกหรือทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ นำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดปัญหาการลอยนวลพ้นผิด ลงนามและให้สัตยาบันตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้ง 9 ฉบับ และอนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับตราสารดังกล่าว
สิทธิของกลุ่มเปราะบางในสังคม : ชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย คนไร้สัญชาติ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย / ผู้ลี้ภัย ปัญหาการค้ามนุษย์
การที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายของกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้เขาเหล่านั้นต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติเนืองอยู่บ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักกัน การผลักดันสู่ภยันตราย (refoulement) และการแสวงประโยชน์ ทั้งยังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงกระบวนยุติธรรมได้อย่างจำกัด และสามารถแสวงหาการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เพียงเล็กน้อย รวมไปถึงเสี่ยงต่อการจับกุมและแสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์
โดยในรายงานฯ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐไทยว่า รัฐจะต้องรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ และรับรองร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ตามกลไกสภานิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการตนเอง ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่กระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
รัฐต้องจัดทำและดำเนินการในการกำหนดขั้นตอนการขอสิทธิที่จะมีที่ลี้ภัย และจัดให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยได้รับรองสถานะให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แก้ไขนโยบายการควบคุมตัวเพื่อประกันว่า รัฐจะใช้วิธีควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่จะใช้มาตรการทดแทนอื่นๆ แทนการควบคุมตัว และต้องเคารพมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการส่งกลับ ซึ่งต้องเป็นไปโดยสมัครใจ อย่างมีศักดิ์ศรีและปลอดภัย
สิทธิแรงงาน และการค้ามนุษย์
แรงงานข้ามชาติประสบปัญหาในการขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานตามกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน และพ.ร.บ. กองทุนประกันสังคม ไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนเองได้
ซึ่งในรายงานฉบับนี้ทางเครือข่ายฯ เสนอให้รัฐไทยควรต้องแก้ไขกฎหมาย และแนวปฏิบัติที่นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ประกันสุขภาพ เสรีภาพในการจัดตั้งแรงงาน และการเจรจาต่อรอง การจัดให้มีล่ามในสถานบริการของรัฐ
รวมถึง พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ โดยขยายความไปถึงกลุ่มที่เป็นแรงงานขัดหนี้ นอกจากนี้รัฐจะต้องลงนามในอนุสัญญาสำคัญ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นและครอบครัว รับรองอนุสัญญามาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
สิทธิเด็ก
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็ก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ห้ามมิให้มีการลงโทษทางร่างกายแก่เด็กในทุกสถานการณ์ และการไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งต้องแก้ไข มาตรา 73 ประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มอายุขั้นต่ำจาก 10 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ
สิทธิผู้พิการ
คนพิการยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกันด้านแรงงาน ไม่สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยรัฐควรบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการ ให้มีประสิทธิภาพ ขจัดความไม่โปร่งใส และส่งเสริมธรรมาภิบาล รวมทั้งต้องเร่งสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่ดำเนินการโดยองค์กรด้านคนพิการ
ผู้สูงอายุ
ที่ผ่านมาพบว่าผุ้สูงอายุยังคงขาดความรู้และการเข้าถึงสิทธิ และสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 รัฐควรที่จะผลักดันให้เกิดการบูรณาการนโยบาย ของ 6 กระทรวงหลัก และ 2 หน่วยงาน สนับสนุนการดำเนินการ รวมทั้งให้รัฐบาลไทยได้สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน ที่ประกาศไว้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ “การเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุในอาเซียน” และสนับสนุนให้มีปฏิญญาสากลระหว่างประเทศด้านผู้สูงอายุ
สิทธิของผู้หญิง
การบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2558 เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงตามมาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งยังมีข้อยกเว้นการกระทำเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และตามหลักการศาสนา เป็นการ เปิดช่องให้มีการตีความการบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน รัฐไทยจึงจำเป็นจะต้องยกเลิกมาตรา 17 วรรคสอง ในพระราชบัญญัตินี้
สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีที่หลากหลาย
ในรายงานระบุว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในประเด็นเรื่องเพศภาวะไป ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นรัฐไทยจะต้องคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักประกัน ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและนโยบาย เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในเรื่องสิทธิการคุ้มครองการถูกรังแก และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานศึกษา สิทธิในการรับรองสถานะของบุคคลข้ามเพศ และการรับรองสถานะคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
สิทธิของพนักงานบริการ
รัฐไทยยังคงบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ซึ่งส่งผลให้พนักงานบริการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกตีตรา ละเมิดสิทธิ และเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ยังมองพนักงานบริการ เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และมีการใช้กฎหมายในเชิงลงโทษมากกว่าคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการ
โดยเสนอให้รัฐไทยต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกข้อความตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4 “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี”
สิทธิของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ยังคงได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ที่มีบทลงโทษผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด หรือส่งตัวผู้ใช้สารเสพติดไปเข้ารับการบำบัด ในกรณีของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ยังไม่ได้รับการคุ้มครองกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดทางเพศ หรือ เสนอให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับการปล่อยตัว
นอกจากนี้เมื่อผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เนื่องจากจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ก่อน รัฐไทยจะต้องปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ทั้งสองฉบับ ให้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างแท้จริง
ประเทศไทยมีจำนวนผู้หญิงอยู่ในเรือนจำเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน จากสถิติพบว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังหญิงต้องคดียาเสพติด เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่มีความละเอียดอ่อนในเพศสภาพของผู้หญิง รัฐจึงต้องจัดทำระเบียบเพื่อให้สามารถนำเอาระบบการลงโทษทางเลือกแทนการจำคุกมาใช้เพื่อลดจำนวนผู้หญิงในเรือนจำตามหลักการ Bangkok Rule
สิทธิของผู้หญิง และเยาวชนหญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี
ผู้หญิง และเยาวชนหญิง ไม่ได้เป็นกลุ่มที่รัฐให้ความสำคัญในการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีถูกโน้มน้าวให้ตรวจเลือดเมื่อมาฝากครรภ์ และเปิดเผยผลเลือดกับคู่ รวมถึงถูกโน้มน้าวไม่ให้มีคู่ใหม่ ไม่ให้มีบุตร หรือทำหมัน แม้ว่ารัฐไทยจะประสบความสำเร็จในการป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีจากแม่สู่ลูกก็ตาม รัฐไทยควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการป้องกันผู้หญิงในการรับเชื้อเอชไอวีและสนับสนุนการขจัดการเลือกปฏิบัติในประเด็นเอชไอวีโดยเฉพาะต่อผู้หญิง และเยาวชนหญิง
สิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย
กฎหมายของประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการเพราะอคติของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ยังคงระบุถึงความผิดและมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง รัฐไทยจะต้องยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 301
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ตลอด 4 ปีที่ ผ่านข้อเสนอแนะจำนวน 134 ข้อ พร้อมทั้งคำมั่นในอีก 34 ข้อ จากกระบวนการ UPR รอบแรก ในส่วนการพิจารณารอบสองที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์เเลนด์ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ทิศทางสิทธิมนุษยชนไทยจะเดินหน้าไปทิศทางใด ต้องติดตาม