"เจาะไอร้อง" ยังไม่ใช่ "เจาะไอรัก" พื้นที่สัญลักษณ์ต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านรัฐไทย
อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกจับจ้องจากทุกสายตาทั่วประเทศอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นหลายจุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.59 และหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเข้าไปในโรงพยาบาล แล้วใช้อาคารเป็นจุดสูงข่มและที่กำบังเพื่อสาดกระสุนโจมตีฐานทหารพรานที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ
อ.เจาะไอร้อง เป็นอำเภอเล็กๆ มีแค่ 3 ตำบล คือ ต.จวบ ต.บูกิต และ ต.มะรือโบออก ตัวอำเภออยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสแค่ 31 กิโลเมตรเท่านั้น
เปิดหาประวัติความเป็นมาในอินเทอร์เน็ต มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่ออำเภออยู่ 2 แบบ
หนึ่ง คือ "เจาะไอร้อง" มาจากคำว่า "บือเจาะ" ซึ่งแปลว่า แตกหรือหัก กับ "แอรอง" ซึ่งเป็นชื่อของภาชนะส่วนพระองค์ของกษัตริย์สมัยก่อน โดยระหว่างเสด็จผ่านพื้นที่แถบนี้ ได้ทำภาชนะนั้นหล่น จึงเรียกชื่อว่า "บือเจาะ แอรอง" หมายถึงพื้นที่ที่ภาชนะที่เรียกว่าแอรอง แตกหัก เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจึงแผลงเป็น "เจาะไอร้อง"
สอง คือ "เจาะไอร้อง" มาจากภาษามลายูว่า "ปือเจ๊าะแอรอง" แปลว่า "แตกเสี้ยว" โดยมีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนในพื้นที่นี้มีโอ่ง 1 ใบ และเป็นโภคภัณฑ์หายาก แต่จู่ๆ ก็ถูกทำให้แตก เมื่อโอ่งแตกก็กลายเป็นเสี้ยว จึงเรียกว่า "บ้านปือเจ๊าะแอรอง" และเพี้ยนเป็นภาษาไทยว่า "เจาะไอร้อง"
อ.เจาะไอร้อง เดิมอยู่ใน อ.ระแงะ แล้วแยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี 2536 กระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี 2539 นี้เอง
การเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่เจาะไอร้อง ในวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาของขบวนการบีอาร์เอ็น ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกโยงไปถึงการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตลอด 12 ปีเศษที่ผ่านมา
หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง การเลือกพื้นที่เจาะไอร้องจึงย่อมมีเหตุผลมากกว่าจังหวะเวลาและโอกาสในการก่อเหตุ เพราะอำเภอแห่งนี้เป็นสถานที่ตั้งของค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ที่ ต.มะรือโบออก ค่ายทหารที่ถูกบุกปล้นปืนและฆ่าทหารในค่ายเมื่อค่ำคืนวันที่ 4 ม.ค.2547
ครั้งนั้นปืนถูกปล้นไปมากถึง 413 กระบอก จนถึงวันนี้ยังตามคืนมาได้ไม่ถึงครึ่ง ถือเป็นเหตุการณ์ปฐมบท หรือ "วันเสียงปืนแตก" ของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยการก่อการร้ายในเมืองและการก่อเหตุรุนแรงรายวัน
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า มะแซ อุเซ็ง แกนนำผู้ก่อความไม่สงบที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการให้ก่อเหตุปล้นปืน ก็มีบ้านเกิดอยู่ที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง และเขาเป็นครูสอนศาสนาอยู่ที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ซึ่งก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้เช่นกัน
มะแซ อุเซ็ง หายตัวไปนานและถูกออกหมายจับโดยศาลไทย พร้อมรางวัลนำจับนับสิบล้านบาท อีกทั้งผู้ก่อเหตุรุนแรงในระยะแรกๆ หลายคนก็มีภูมิลำเนาอยู่ที่เจาะไอร้อง
การเลือกโจมตีพื้นที่เจาะไอร้องในวันคล้ายวันสถาปนาของขบวนการบีอาร์เอ็น จึงเป็นสัญลักษณ์ทั้งในแง่จังหวะเวลา และสมรภูมิการต่อสู้
หลังจากถูกปล้นปืนเมื่อ 4 ม.ค.2547 เจาะไอร้องอยู่ในบรรยากาศอึมครึม ตึงเครียด แม้จะไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่บ่อยนัก แต่ภาพรวมของสถานการณ์ก็น่าสะพรึงกลัว และไม่น่าไว้วางใจ
บ้านยานิง ต.จวบ ซึ่งหากเดินทางจากตัวเมืองนราธิวาสต้องผ่านหมู่บ้านนี้ก่อนเข้าตัวอำเภอเจาะไอร้องนั้น ช่วงที่ไฟใต้คุโชนใหม่ๆ เคยหาคนสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ได้นานนับปี เพราะใครขึ้นมาเป็นก็ถูกไล่สังหาร
8 มิ.ย.2552 คนร้ายบุกยิงในมัสยิดไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ขณะพี่น้องมุสลิมกำลังประกอบพิธีละหมาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน คือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อดีตทหารพรานในพื้นที่เจาะไอร้องที่ถูกไล่ออกจากราชการ แต่ภายหลังศาลยกฟ้อง
มัสยิดไอร์ปาแย อยู่ริมถนนสายเปลี่ยวระหว่างตัวอำเภอเจาะไอร้อง กับ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
ที่ดุซงญอ เคยเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้านหลายร้อยคนกับเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2491 ซึ่งต่อมาฝ่ายรัฐเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์อธิบายเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าเป็น "กบฏดุซงญอ"
กว่า 12 ปีของเจาะไอร้อง นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจนถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่าดินแดนแห่งนี้คือ "พื้นที่สัญลักษณ์การต่อสู้" ของฝ่ายต่อต้านรัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเองก็ทราบดี และพยายามใช้อำเภอแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างสันติสุข
ในการพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในชื่อขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือ พีเอ็มแอลเอ็ม (The Pattani Malay Liberation Movement : PMLM) เมื่อปี 2553 เคยมีการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว 3 อำเภอของฝ่ายพีเอ็มแอลเอ็มมาแล้ว โดยหนึ่งนั้นคือ อ.เจาะไอร้อง
แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้มีอายุยืนยาวจนสามารถสานต่อสันติภาพและสันติสุขให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
กระทั่งไม่นานมานี้ ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่รวมตัวกันในนาม "มารา ปาตานี" ก็มีข่าวกระเซ็นกระสายว่าจะมีการกำหนด "พื้นที่หยุดยิงนำร่อง" ร่วมกันในระดับหมู่บ้าน โดย 1 ใน 2 หมู่บ้านที่เป็นตัวเลือกอยู่ใน อ.เจาะไอร้อง
ล่าสุดในยุคแม่ทัพภาค 4 ที่ชื่อ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ มีการประกาศนโยบาย "ประชารัฐร่วมใจ" ต่อยอดจากโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ของอดีตแม่ทัพอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ และ "ทุ่งยางแดงโมเดล" ของอดีตแม่ทัพปราการ ชลยุทธ มีการกำหนดพื้นที่สันติสุขนำร่อง 5 อำเภอ ปรากฏว่า อ.เจาะไอร้อง ก็เป็น 1 ใน 5 โดยฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่า ต้องมีอำเภอนี้ติดกลุ่มเพราะถือเป็นสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นของไฟใต้รอบใหม่เมื่อ 12 ปีก่อน
ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเจาะไอร้อง (ศปก.อำเภอ) ได้นำนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 มาแปรสู่การปฏิบัติ ภายใต้สโลแกน "เจาะไอร้อง เจาะไอรัก" เพื่อสานฝันพาผู้เห็นต่างกลับบ้าน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
แต่เสียงปืน อาวุธสงคราม และระเบิดที่คำราม ณ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง ยังคงทำให้เจาะไอร้องวันนี้ ยังไม่อาจเป็น "เจาะไอรัก" ได้ดังที่ทุกฝ่ายหวังและตั้งใจ