หมอประเวศแนะ สพม. ใช้กลไก จว.-เชื่อม ส.ปกเกล้าฯ สร้าง ปชต.ชุมชน
หมอประเวศย้ำ “ประชาธิปไตยชุมชน” ต้องขยับจากฐานล่างเชื่อมสู่นโยบาย แนะสภาพัฒนาการเมืองสร้างงานให้ปรากฏ ทำงานร่วมสถาบันพระปกเกล้าฯ ชี้ช่องแก้ปัญหางบน้อย ใช้สภาองค์กรชุมชน-กลไกจังหวัดทำเชิงพื้นที่ เสนอรัฐบาลหน้าหนุนงบชัดเจน
วันที่ 26 เม.ย. 54 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) จัดบรรยายพิเศษ “ประชาธิปไตยชุมชนในแง่มุมของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย(คสป.)”โดยศ.นพ.ประเวศวะสีประธาน คสป. กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยชุมชนคือทลายโครงสร้างอำนาจในแนวดิ่ง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของชุมชนไม่เช่นนั้นการสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยจะเป็นแบบผิดๆ
ศ.นพ. ประเวศ กล่าวว่าประการแรกที่ต้องเข้าใจคือประชาธิปไตยชุมชนเป็นประชาธิปไตยทางตรง อาศัยการรวมตัวกันทำงานของผู้นำองค์กรชุมชนโดยธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง ดังนั้นผู้นำทางธรรมชาติจึงควรสุจริต มีส่วนร่วม ฉลาด สื่อสารเก่ง และต้องเป็นที่ยอมรับ ประการต่อมาคือชุมชนต้องรวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่สำรวจข้อมูล นำไปสู่การจัดทำแผนชุมชนซึ่งเป็นแผนพัฒนาทุกด้านแล้วเสนอให้สภาประชาชนซึ่งหมายถึงชาวบ้านที่รวมตัวกันทุกหมู่บ้านให้การยอมรับ
“การขับเคลื่อนจากฐานล่างมาเป็นนโยบายระดับชาติได้ นั่นคือความสำเร็จของประชาธิปไตยจริงๆ ที่ชุมชนเป็นผู้สร้าง มีส่วนร่วมในการออกแบบบูรณาการ เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อเอาชนะ” ประธาน คสป. กล่าว
สำหรับบทบาทของ สพม.ต่อการปฏิรูป ศ.นพ. ประเวศ กล่าวว่า สพม.เป็นองค์กรพัฒนาการเมืองภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่สามารถเป็นหลักในการส่งเสริมประชาธิปไตยชุมชนซึ่งเป็นฐานสำคัญในการปฏิรูปประเทศ โดยทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ สพม.ต้องสื่อสารเรื่องดังกล่าวไปยังชุมชนโดยรวม นำเรื่องดีที่ชุมชนเสนอให้สาธารณะรับทราบ นอกจากชุมชนได้ประโยชน์ ตัวสภาฯ ก็ได้ประชาสัมพันธ์งาน
ประธาน คสป. กล่าวอีกว่าสมาชิก สพม.ที่มีโครงสร้างในระดับจังหวัดที่มาจากฐานสภาองค์กรชุมชนต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาธิปไตยขยายตัวอย่างเข้มแข็งให้มากขึ้น เมื่อมาผนวกกันส่วนกลางก็จะเกิดการชวนคิดชวนทำ เมื่อเห็นผลไม่ว่าใครคงยินดีสนับสนุน แก้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณได้ เพราะการเคลื่อนงานในระดับจังหวัดไม่ต้องใช้เงินมาก อาศัยเพียงทรัพยากร
“สุดท้ายคือฝ่ายเลขานุการซึ่งเป็นเลขาฯร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ตรงนี้ถือเป็นข้อดีในการเชื่อต่องานที่อาจจะยากเกินความสามารถ หากร่วมกันได้จะดีมาก เพราะพระปกเกล้าเสมือนเป็นคู่มือของรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง สพม.เป็นทางอ้อม ก็เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยจากข้างล่างขึ้นข้างบน ตรงตามแนวทางปฏิรูปโดยประชาธิปไตยชุมชน” ศ.นพ. ประเวศ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตจาก สมาชิก สพม. โดยส่วนใหญ่เห็นว่าอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินงานขณะนี้คืองบประมาณ และจิตสำนึกของสมาชิกสภาฯเอง จึงเสนอว่ารัฐบาลหน้าน่าจะจัดสรรงบงบสนับสนุนกิจกรรมให้ สพม.เป็นเปอร์เซ็นต์อย่างชัดเจน หรืออาจให้งบที่มาจากองค์กรกองทุนต่าง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หรือองค์กรอิสระ โดยไม่พึ่งพารัฐบาล
ส่วนความเห็นที่จะให้ สพม. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยจากรากหญ้าขึ้นมาในระดับนโยบาย ยังคงแยกเป็น 2 ส่วน โดยบางส่วนมองว่าต้องการให้เป็นอิสระ ขณะที่บางส่วนเห็นว่าอาจต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันโดยเฉพาะแง่วิชาการ.