มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับวุฒิสมาชิก สนับสนุนชุมชนริมคลองฝั่งธนฯ ใช้เครื่องผลักดันน้ำ เร่งน้ำลงอ่าวไทย
วิกฤตน้ำท่วม 2554 นอกจาก มูลนิธิเอสซีจี มุ่งให้ความช่วยเหลือด้านสุขาภิบาลในรูปแบบต่างๆ และมอบถุงยังชีพเป็นจำนวนมากแก่ผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ยังร่วมดำเนิน “โครงการใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งน้ำให้ไหลลงอ่าวไทยผ่านคลองราชมนตรี คลองสนามชัย และคลองแนวดิ่งต่างๆ ของฝั่งธนบุรีด้านใต้” โดยระดมเครื่องผลักดันน้ำทั้งจากภูมิปัญญาชาวบ้านและจากหน่วยงานราชการที่ทำขึ้นใหม่รวมถึงที่มีอยู่แล้ว ใช้ศักยภาพคลองแนวดิ่งทุกคลองในฝั่งธนบุรีด้านใต้ เพื่อเร่งผันน้ำไปที่ปลายคลองซึ่งมีสถานีสูบน้ำต่อไปยังแก้มลิง คลองมหาชัย คลองสนามชัย และคลองต่างๆ ที่ไหลลงอ่าวไทยโดยตรง ช่วยระบายมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ท่วมขังกระจายอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนฯ
เพื่อช่วยบรรเทาภาวะวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ 2554 ของชาวกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกที่ยังมีระดับน้ำสูงอยู่ในหลายพื้นที่ สมาชิกวุฒิสภา นำโดย ส.ว. รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร มูลนิธิเอสซีจี และเครือข่ายประชาชนริมคลองฝั่งธนบุรี ได้เข้าร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเกิดเป็นแนวคิด “การใช้เครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งการไหลของน้ำลงอ่าวไทยผ่านคลองในแนวดิ่ง” ทั้งนี้เนื่องจากคลองส่วนใหญ่ในฝั่งตะวันตกตอนบนของกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นคลองขวางส่งผลให้น้ำในคลองไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีระดับน้ำสูงเพราะต้องรองรับน้ำที่ระบายมาจากหลายพื้นที่ มีเพียงไม่กี่คลองที่เป็นคลองในแนวดิ่งในฝั่งธนบุรีตอนใต้ที่ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยโดยตรง คลองแนวดิ่งหลักๆ นี้ ได้แก่ คลองราชมนตรี คลองสนามชัย และคลองขนาดเล็กกว่า ได้แก่ คลองสะแกงาม คลองเลนเปน และคลองระหาญ ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน โดยคลองเหล่านี้ทำหน้าที่เชื่อมคลองในแนวขวางทั้งหลายเพื่อนำน้ำลงสู่แก้มลิงคลองมหาชัย คลองสนามชัยในระยะที่สั้นมากและลงสู่อ่าวไทยด้วยระยะทางเพียง 9 กิโลเมตร ด้วยความเชื่อมั่นว่าหากภารกิจใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งน้ำลงอ่าวไทยผ่านคลองในแนวดิ่งสำเร็จ จะสามารถบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ อย่างน้อยน้ำจะไม่ท่วม ถ.พระราม 2 และที่ท่วมขังอยู่ในชุมชนต่างๆ จะมีระดับไม่สูงมาก โดยประชาชนยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของตนเองได้
ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่น้ำยังไม่เข้าท่วมฝั่งธนบุรีตอนใต้ คลองแนวดิ่งข้างต้นไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมเพื่อให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ปากคลองเหล่านี้มีสถานีสูบน้ำของกรุงเทพมหานครติดตั้งอยู่ น้ำที่ไหลลงมายังถูกดึงออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ในขณะที่คลองแนวดิ่งอย่างคลองสนามชัย คลองราชมนตรี รวมทั้งคลองสะแกงาม คลองเลนเปนและคลองระหาญมีน้ำแห้งขอด ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยขยะและสิ่งกีดขวาง ซึ่งถ้าสามารถผลักน้ำให้ไหลผ่านคลองแนวดิ่งเหล่านี้ได้จะสามารถระบายน้ำออกไปได้อย่างน้อยวันละ 7 ล้านลบ.ม.
ด้วยเห็นศักยภาพของคลองดังกล่าว สมาชิกวุฒิสภาจึงได้เชิญชวนให้ประชาชนริมคลองฝั่งธนฯและหน่วยงานที่สนใจเข้าปรึกษาหารือ โดยเห็นว่าถ้าสามารถเร่งน้ำให้ไหลผ่านคลองเหล่านี้ก็จะผ่อนหนักเป็นเบาให้กับชุมชนที่กำลังถูกน้ำท่วมขัง เริ่มแรกได้นำเครื่องผลักดันน้ำที่สร้างจากภูมิปัญญาชุมชนไปวางที่คลองราชมนตรีที่ไหลลอดถ.เอกชัยบางบอน เครื่องผลักดันน้ำดังกล่าวเป็นแนวคิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียกกว่าการเป่าฟอง โดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรมาเชื่อมต่อกัน 2 ถัง เป็นอุโมงค์เสมือนท่อส่งน้ำนำไปวางไว้ใต้น้ำ จากนั้นนำเครื่องเรือหางยาวโดยใช้ส่วนหางที่มีใบพัดอยู่ตอนปลาย ติดเครื่องแล้ววางในอุโมงค์ใต้น้ำดังกล่าว ด้วยวิธีการนี้จะมีแรงผลักดันน้ำให้ไหลไปข้างหน้า แรงน้ำนอกจากจะเร่งผลักให้น้ำเคลื่อนไปในอุโมงแล้วแล้วยังเป่าตะกอนที่ก้นคลองให้ฟุ้งกระจายทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น ถ้าวางเครื่องเหล่านี้ต่อกันให้มีระยะห่างที่เหมาะสมก็จะทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น สามารถระบายน้ำได้เร็วและเป็นจำนวนมาก
สุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “แม้ว่าวิธีนี้อาจไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ปริมาณน้ำและระยะเวลาที่น้ำท่วมขังน้อยลง จากผลการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำชุดแรก แสดงให้เห็นได้ชัดว่า จากคลองที่น้ำนิ่งเกิดการขยับไหล ฉะนั้นหากแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและขยายผลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีเครื่องผลักดันน้ำจำนวนมากพอและนำไปวางยังจุดที่เหมาะสม เชื่อว่าจะสามารถเร่งน้ำให้ไหลออกไปยังที่ที่เราต้องการได้ ด้วยวิธีนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้น้ำที่ท่วมขังมีระดับต่ำลงและลดระยะเวลาการท่วมขังได้อีกด้วย
จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นและไหลเร็วด้วยเครื่องผลักดันน้ำ เกิดการขยายผลโดยได้รับความร่วมมือจากกรมอู่ทหารเรือสร้างเครื่องผลักดันน้ำขึ้นใหม่ กรมชลประทานนำเครื่องผลักดันน้ำที่มีอยู่มาติดตั้งตลอดคลองราชมนตรีและคลองสนามชัย รวมทั้งสำนักงานทหารพัฒนานำกำลังพลและเครื่องมือมาลอกคลอง นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังรวมตัวช่วยกันเก็บขยะตามคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในคลองที่จะช่วยเก็บน้ำ และช่วยดูแลเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งยังจุดต่างๆ ไม่ให้ขยะเข้าไปอุดตันเข้าไปในเครื่องเพื่อให้เครื่องผลักดันน้ำสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าปริมาณน้ำที่ถูกระบายลงอ่าวไทยผ่านคลองในแนวดิ่งจะไม่มากนัก หากเทียบกับมวลน้ำที่ท่วมพื้นที่ฝั่งธนฯ แต่หากทำสะสมทุกวันอย่างต่อเนื่องก็เชื่อได้ว่าจะลดการสะสมของมวลน้ำ และจะสามารถฝ่าวิกฤติน้ำในครั้งนี้ไปได้เร็วขึ้น