ฟัง 2 ฝ่าย กับผลรายงานการตรวจเลือด-ปัสสาวะปชช.รอบเหมืองทองคำชาตรี
อัคราฯ โต้ผลรายงานผลการตรวจเลือดและปัสสาวะประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ขณะที่ ดร.สมิทธ แจงละเอียด ยันอัคราฯ ปฏิเสธผลการตรวจเลือดครั้งนี้ไม่ได้ เหตุผลที่ออกมา ในนามคณะกรรมการ 5 ฝ่าย และอัคราก็คือหนึ่งในนั้น
จากกรณีมีการนำเสนอรายงานสรุปผลการตรวจสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนที่อาศัยรอบเหมืองทองคำชาตรีประจำปี 2558 โดยดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ และได้นำเสนอผลให้คณะกรรมการ 5 ฝ่าย ที่มีนางสาวฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการดำเนินกิจการการทำเหมืองทองคำของบมจ. อัครา รีซอร์เซส นั้น
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บมจ. อัครา รีซอร์เซส ออกมาระบุถึงรายงานสรุปผลการตรวจโลหะหนักในร่างกายของประชาชนที่อาศัยรอบเหมืองทองคำชาตรีประจำปี 2558 ที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการว่า ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ตามหลักสากลในหลายจุด ดังนี้
1. ไม่มีการระบุพื้นที่ขอบเขตในการศึกษา และขนาดกลุ่มประชาชนตัวอย่างที่ชัดเจน
2. ไม่มีการคัดกรองตามวิธีการระบาดวิทยา ซึ่งเป็นไปตามหลักของวิทยาศาสตร์
3. ใชัเกณฑ์การสรุปผลที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากล
4.สิ่งที่ได้นำเสนอ แตกต่างจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการศึกษาล่าสุดเรื่องคุณภาพพืชผักและน้ำในพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าพืชผักและน้ำในพื้นที่มีความปลอดภัย
ด้านผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ดร. วิชยุตม์ ทัพวงษ์ ทำงานในแวดวงพิษวิทยามากว่า 10 ปี ตั้งข้อสังเกตจากรายงานสรุปผลการตรวจโลหะหนักในร่างกายของประชาชนที่อาศัยรอบเหมืองทองคำชาตรีประจำปี 2558 อยู่หลายจุดที่น่าสนใจ
พร้อมกับ มองว่ารายงานยังไม่สมบูรณ์ในหลายจุด ดังนี้
1. เกณฑ์ในการคัดเลือกประชากรที่จะนำมาทำการสำรวจจำนวน 1,004 คน ไม่ได้มีการอธิบายที่มาว่าทำไมถึงเลือกบุคคลเหล่านี้มาตรวจ และมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงใช้เกณฑ์การกำหนดของเด็กที่ต่ำกว่าอายุ 15 ปี ซึ่งต่างจากรายงานของทางอัคราฯ ที่ใช้เกณฑ์กำหนดอายุเด็กที่ต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นเวลานำมาแปรผลจะเกิดความไม่เหมือนกันในรายงาน
2. ประชากรที่คัดเลือกมามีความเหมาะสมด้านรระบาดวิทยาหรือไม่
3.ก่อนการตรวจสารหนูไม่มีการแจ้งให้ผู้ตรวจร่างกายงดรับประทานอาหารทะเล สมุนไพร ก่อนมาตรวจร่างกาย ซึ่งค่าที่ได้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้
4.เกณฑ์การตรวจไซยาไนด์มีเกณฑ์การวัดค่าที่แตกต่างกัน ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่ กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่างกันเกือบเท่าตัว เนื่องจากไซยาไนด์อยู่ในใบยาสูบ ดังนั้นต้องมีการพูดคุยกับคนไข้ก่อน ซึ่งในรายงานไม่ได้บอกว่ามีคนสูบบุหรี่กี่คน
“การตรวจร่างกายต้องมีการแจ้งให้ผู้ตรวจเตรียมตัวก่อนการเก็บตัวอย่าง เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ทั่วไป เพราะถ้าคนไข้ไม่เตรียมตัวมาแพทย์จะไม่ทำการตรวจให้ เนื่องจากค่าที่ได้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย ซึ่งการตรวจสารหนู จากเกณฑ์มาตราฐานในระดับสากลต้องให้คนไข้งดอาหารทะเล งดสมุนไพร มาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ”
อัคราฯ ปฏิเสธผลการตรวจเลือดครั้งนี้ไม่ได้
ด้านดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์ประจำวิทยาลัย นวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ยืนยันช่วงที่มีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง ตัวแทนของอัคราฯ ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดประชาชนรอบเหมืองฯ พร้อมกัน เพราะฉะนั้นอัคราฯ จะปฏิเสธผลการตรวจเลือดครั้งนี้ไม่ได้ เพราะว่าผลที่ออกมานั้น ออกมาในนามคณะกรรมการ 5 ฝ่าย และอัคราก็คือหนึ่งในนั้น
และเมื่อสอบถามถึงข้อทักท้วงของอัคราฯ ดร.สมิทธ์ ชี้แจงว่า โดยปกติแล้วการสุ่มตรวจตัวอย่างต้องใช้ทฤษฎีทางสถิติ โดยประชากรในทุกหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในรัศมีของขอบบ่อเก็บกากแร่ 5 กิโลเมตร มีอยู่ราว 4,000 กว่าคน ทางทีมก็ต้องสุ่มตัวอย่างในสัดส่วนราว 600 คน แต่ปรากฏว่า ประชาชนให้คนสนใจอยากเข้าร่วมจำนวนมาก จึงได้เพิ่มจาก 600 เป็น 1,000 คน
" 600 คน มั่นใจว่า นี่คือประชากรตัวแทนกว่า 90% ในเชิงสถิติ และการที่มีผลค่อนข้างมากกว่าจากที่ตั้งใจเดิมก็ยิ่งมั่นใจได้ว่าผลนั้นชัดเจน นี่คือที่มาที่ไป เพราะประชากรมีเท่านี้ เราก็ต้องสุ่มในจำนวนเท่านี้"
ในส่วนว่า มีความเหมาะสมด้านระบาดวิทยาหรือไม่นั้น ดร.สมิทธ์ ยืนยันว่ามีแน่นอน เพราะว่าในจำนวนนั้นก็มีคนที่เคยตรวจเมื่อปีที่แล้ว ก็มาตรวจติดตามผลในปีนี้ ในการตรวจครั้งนี้ ทางเราแจ้งก่อนแน่นอนเป็นเวลา 3 วัน ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ไม่ให้ชาวบ้านทานอาหารทะเล สูบบุหรี่ หรือท่านพวกสมุนไพร และคนที่แจ้งคือทหาร
ส่วนเกณฑ์ที่วัด มีแบ่งสองประเภท คือ คนไม่สูบบุหรี่ สำหรับคนสูบบุหรี่
"แต่คำถามคือมีเด็กที่เข้าตรวจ 297 คน มีไซยาไนด์ในเด็กเล็กสองคน เป็นไปได้ไง จะบอกว่า เด็กสูบบุหรี่ หรือ คงไม่ต้องชี้แจงอะไรมากมาย เพราะหลักฐานผลเลือดก็ชัดเจนอยู่เเล้ว ” ดร.สมิทธ์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายไว้ว่า การเป็นธุรกิจในท้องถิ่น เป็นเหมือนเพื่อนบ้านของชุมชน แต่ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ ปฏิเสธว่าไม่มีใครป่วย ถามว่าหากเราเป็นเพื่อนบ้าน ใจเขาใจเราเรารู้สึกอย่างไร