ชีวิตเปลี่ยนสี 'ธาริต เพ็งดิษฐ์' จากสูงสุดสู่โดนยึดทรัพย์ 346 ล.
"..กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งในปี 2554 คนที่ "สุเทพ" เป็นห่วงมากที่สุดคือ ‘ธาริต’ จึงได้มอบรถกันกระสุนให้นายธาริตมาใช้เพื่อไว้ป้องกันตัวเองจากขั้วตรงข้ามที่อาจไม่หวังดี.."
ชื่อของ ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง !
ภายหลังที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ วงเงินกว่า 346 ล้านบาท และส่งรายงานให้อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้องศาลเพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
(อ่านประกอบ : เส้นทางเงิน‘ธาริต’ก่อน ป.ป.ช.เชือดรวยผิดปกติ 346 ล.ให้นอมินีถือแทน,ป.ป.ช. ชี้มูล 'ธาริต เพ็งดิษฐ' ร่ำรวยผิดปกติ346 ล. ส่งอัยการฟ้องยึดทรัพย์)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกแฟ้มประวัติชีวิตของ ‘ธาริต’ มาให้สาธารณชนได้รับทราบอีกครั้ง ดังนี้
ชีวิตราชการของ ‘ธาริต’ ถูกระบุว่า รับใช้การเมือง ‘ทุกขั้วทุกสี’ และมักทุ่มสุดตัว ออกหน้าแทน
โดยไม่แคร์จะถูกกล่าวหาว่า ‘เปลี่ยนสี’
เริ่มต้นเกี่ยวข้องกับการเมืองนับตั้งแต่โดน ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ชักชวนให้มาช่วยงานด้านการเมือง เป็นทีมงานของ ‘พันธ์ศักดิ์ วิญญูรัตน์’ ที่ปรึกษา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการประจำกรม ระหว่างนั้นเป็นหัวหอกสำคัญในการร่วมร่างกฎหมายจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ สมัยที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่งเป็น รมว.ยุติธรรม แต่อกหักไม่ได้นั่งเก้าอี้ "อธิบดีดีเอสไอ" ต้องรอต่อคิวอีกยาว
จากนั้นจึงไปร่วมยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนแรก
‘ธาริต’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมถือว่ามีความก้าวหน้าในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ความรู้สึกในบุญคุณ หรือความเมตตาที่ฝ่ายการเมืองให้กับผม ผมก็เก็บไว้ ความรู้สึกที่ดี หรือความเมตตาที่ได้รับ เราก็ไม่ได้จืดจาง เลอะเลือน หรือลืมไป ผมว่าข้าราชการที่เติบโตในช่วงนี้ ผ่านยุคสมัยของไทยรักไทยมาทั้งนั้น”
กระทั่งรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายธาริตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ขณะนั้นไว้ใจ ให้ขึ้นเป็นหัวหอกดีเอสไอ เมื่อปี 2552
แต่การทำงานของเขากลับไม่ได้รับการไว้ใจจาก ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในขณะนั้น มากเสียเท่าไหร่ เพราะรู้ไส้รู้พุงว่า นายธาริตโดนตราหน้าว่าเป็นคนของนายทักษิณ
จุดหักเหสำคัญของนายธาริตเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เมื่อเกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดง
‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขณะนั้น เป็นคนชักชวนให้นายธาริตเข้ามาร่วมกับ ‘วอร์รูม’ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งนายธาริตถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ทำให้ ศอฉ. ยืนสู้กับคนเสื้อแดงมาได้
‘ธาริต’ เป็นคนเสนอแผนผังล้มเจ้าที่โยงใยคนเสื้อแดงกับกลุ่มการเมืองในที่ประชุม ศอฉ. พร้อมนำบุคคลในผังดังกล่าว เข้าสู่คดีพิเศษ เพื่อออกหมายเรียกให้มาชี้แจง
หนำซ้ำเขายังเป็นคนจัดฉากให้ ‘สุเทพ’ มอบตัวต่อดีเอสไอ ตามคำขอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อลดกระแสต้าน แต่ก็ไม่ได้ผล
หลังจากนั้น ‘ธาริต’ ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ดำเนินการฟ้องร้องกลุ่มคนเสื้อแดง และ นปช. ในคดีก่อการร้าย หลายคดีด้วยกัน
กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งในปี 2554 คนที่ "สุเทพ" เป็นห่วงมากที่สุดคือ ‘ธาริต’ จึงได้มอบรถกันกระสุนให้นายธาริตมาใช้เพื่อไว้ป้องกันตัวเองจากขั้วตรงข้ามที่อาจไม่หวังดี
แต่เหตุการณ์กลับแปรผัน พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนเกม ไม่เด้งนายธาริตตามคำขู่ของ ‘เฉลิม อยู่บำรุง’ แกนนำพรรค
แต่วางเกมให้นายธาริตเป็น ‘หมากตัวหนึ่ง’ เพื่อใช้ต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในปี 2553
โดยนายธาริตได้สั่งให้ดีเอสไอรื้อคดีมาทำใหม่ทั้งหมด ทำให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และยังใช้นายธาริตเป็นคนขับเคลื่อนคดีความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างโรงพักทดแทนทั่วประเทศ มูลค่า 5.8 พันล้านบาท เล่นงานนายสุเทพกลับ
‘ธาริต’ ตั้งต้นเป็นปฏิปักษ์กับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จนถูกมองว่า ‘เปลี่ยนสี’ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำแก้ตัวที่บอกว่า ต้องทำงานสนองนโยบายรัฐบาล เพราะถือเป็นผู้บังคับบัญชา
ในวงลับเมื่อเจอเพื่อนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขในวง ศอฉ. มักจะเตือนนายธาริตกันว่า “ระวังจะกลายเป็นกิ้งกือตกท่อ”
แต่เขาไม่สนใจ ทำตามคำสั่งของรัฐบาลเพื่อไทยต่อ
กระทั่งการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ‘ธาริต’ ก็ยังเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ปราบม็อบ ทำตามคำสั่ง ‘เฉลิม’ จับจริงนายสุเทพ ตั้งข้อหาก่อการร้าย ไม่เหมือนในปี 2553 ที่แค่จัดฉากเล่นละคร
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารกลางปี 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ชื่อของ ‘ธาริต’ ถูกแบล็คลิสต์ทันที ก่อนถูกย้ายเข้ากรุจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ปิดฉากอธิบดีดีเอสไอที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแทบทุกวัน เพราะมีคดีฟ้องหมิ่นประมาท และคดีอาญาอื่นอีกหลายคดี แทบไม่มีเวลาว่างในการทำอย่างอื่น
ครั้งหนึ่ง ‘ธาริต’ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "อยากสอนหนังสือหลังเกษียณอายุราชการ"
แต่ถึงวันนี้คงเป็นได้แค่ฝันเลือนราง
เพราะไม่รู้ว่าคดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวนมากจะถูกตัดสินออกมาเป็นแบบใด !