โชว์ผลสอบโครงการบ้านพักริมน้ำงบกองทุนสตรีโปร่งใส ไฉนสวนทาง สตง.?
ดูชัด ๆ ผลสอบโครงการบ้านพักริมน้ำ จ.อุดรธานี พบโปร่งใส ไม่มีเอื้อญาติพี่น้อง ทุกอย่างทำตามระเบียบคืนเงินครบแล้ว สวนทาง สตง. พบ กก.จังหวัด แนะเครือญาติ 5 คน เสนอโครงการ เลี้ยงปลาดุก-ทำบ้านพักเหลวหมด คืนเงินไม่ครบ แบ่งกันใช้
“โครงการบ้านพักริมน้ำ ม.9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี พบว่า การเสนอโครงการ การพิจารณาโครงการ และการอนุมัติโครงการ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 และแนวทางที่กำหนด ซึ่งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/ตำบล กับสมาชิกผู้เสนอโครงการไม่มีความสัมพันธ์กัน และโครงการบ้านพักริมน้ำได้ชำระคืนเงินกองทุนเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2558”
เป็นรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ลงนามโดยอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งนำเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
(อ่านประกอบ : กองทุนสตรีสรุปผลสอบสวนทาง สตง.! ยันผู้เกี่ยวข้องโปร่งใส-ไม่มีเอื้อเครือญาติ)
ภายหลังที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าว มีพฤติกรรมที่น่าเชื่อถือได้ว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น โดยมิชอบ โดยพบว่า โครงการฯ นี้ ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง (ตำแหน่งเหรัญญิก) แนะนำให้เครือญาติรวมกัน 5 คน เป็นผู้เสนอโครงการ
จึงเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะตนเองเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบโครงการการที่บุคคลดังกล่าวอ้างว่า ไม่ส่งกลับไปให้กลุ่มสมาชิกสตรีแก้ไข เพราะต้องการให้เกิดความรวดเร็ว พฤติกรรมดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ
ทำไมข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในโครงการดังกล่าว จึงสวนทางกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตง. ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ภายหลัง สตง. ตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสในการสุ่มตรวจโครงการตามงบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใน 13 จังหวัด รวมถึงโครงการบ้านพักริมน้ำดังกล่าวด้วยนั้น อธิบดีกรมพัมนาชุมชน ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
สำหรับโครงการนี้มีข้อมูลว่า ถูกนำเสนอโครงการโดยนางมงคล วิเศษวงษา จำนวนเงิน 2 แสนบาท โดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ 2 แสนบาท คณะกรรมการฯจังหวัดจึงอนุมัติเงินให้ 2 แสนบาท มีสัญญาชำระเงิน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2556-20 พ.ค. 2558
โดย จ.อุดรธานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 คณะ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยมีพยานสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด 5 ราย ได้แก่ 1.นางวิจิตรา คำสุขใสย์ ประธาน 2.นางปรารถนา ยุทธรัตน์ รองประธาน นางเสวย โสนาเรือ กรรมการส่งเสริมศักยภาพ นางสมเพ็ชร สุขคำ กรรมการประชาสัมพันธ์ และ น.ส.เพ็ญทอง พลไชย กรรมการประชาสัมพันธ์
กลุ่มสอง คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นางสกุลรัตน์ วิศิษฐ์ผจญชัย ประธาน 2.นางดวงเดือน เวียงนนท์ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ 3.นางกรรณิกา แสงจันทร์ ตำแหน่งเหรัญญิก และนางติ๋ม ป้านภูมิ ตำแหน่งกรรมการ
กลุ่มสาม สมาชิกกลุ่มผู้เสนอโครงการ จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.นางมงคล วิเศษวงษา 2.นางบัวทอง บุญกว้าง 3.นางจุฬาลักษณ์ วิเศษวงษา 4.นางวชิราภรณ์ เวียงอินถา 5.นางวลิดา คงนุรัตน์
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ ปรากฏดังนี้
หนึ่ง การเสนอโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เดิมเป็นโครงการเลี้ยงปลาในกระชัง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทางกลุ่มจึงได้ขอปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ เป็นโครงการบ้านพักริมน้ำ ซึ่งการดำเนินการประสบปัญหา เนื่องจากพื้นที่ที่ดำเนินการได้รับผลกระทบจากการส่งกลิ่นเหม็นของยางพารา ทำให้การดำเนินโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ
สอง การส่งเงินชำระคืนกองทุนฯ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โครงการนี้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2556 ระยะเวลา 2 ปี ครบสัญญา วันที่ 20 พ.ค. 2558 ซึ่งตามแนวทางการบริหารกองทุน เมื่อครบ 1 ปี ต้องส่งเงินต้น 50% พร้อมดอกเบี้ย 3%
ทางกลุ่มได้ส่งเงินคืนครั้งที่ 1 จำนวน 106,000 บาท เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557 ครั้งที่สองจำนวน 103,000 บาท เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นไปตามสัญญา และปิดโครงการเรียบร้อย
สาม ความสัมพันธ์ของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/ตำบล กับสมาชิกผู้เสนอโครงการ จากการสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทั้งหมดไม่มีความสัมพันธ์กัน
ทั้งนี้การพิจารณาเห็นชอบโครงการของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/ตำบล จากการการสอบข้อเท็จจริง พบว่า เป็นไปตามระเบียบ/แนวทางที่กำหนด โดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 หมวดที่ 6 ข้อที่ 28 (5) และหมวดที่ 8 ข้อที่ 36 (4) จึงเห็นควรนำเรียให้สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติทราบ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า โครงการฯ นี้ ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.อุดรธานี (ตำแหน่งเหรัญญิก) แนะนำให้เครือญาติรวมกัน 5 คน เป็นผู้เสนอโครงการ
โดยครั้งแรกเสนอโครงการเลี้ยงปลาดุก ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง วงเงิน 2 แสนบาท ต่อมาได้เปลี่ยนโครงการเป็นโครงการบ้านพักริมน้ำ เนื่องจากประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง เห็นว่าในพื้นที่ ต.นายูงยังไม่มีรีสอร์ท จึงได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงระหว่างการพิจารณาของ คกส.จ.ด้วยตนเอง และคกส.จ.เห็นด้วย และอนุมัติเงินให้เต็มกรอบวงเงิน คือ 2 แสนบาท
เมื่อกลุ่มฯ ได้รับเงินแล้ว จึงนำไปจ้างก่อสร้างบ้านพัก ขนาด 4X3.5 เมตร จำนวน 10 หลัง เพื่อเปิดให้เช่าเป็นรายวัน ลงทุนก่อสร้างไปแล้วเป็นเงิน 98,785 บาท แต่ต้องยุติการก่อสร้าง เพราะสภาพแวดล้อมบริเวณก่อสร้างเป็นสวนยางและมีร้านรับซื้อเศษยางมาเปิดจุดรับซื้อ ได้กลิ่นยางดิบทั่วบริเวณ ซึ่งทางกลุ่มมิได้คำนึงถึงเรื่องนี้มาก่อน
ทั้งนี้ เมื่อพบว่า สภาพแวดล้อมไม่ดี ไม่เหมาะสมต่อการทำบ้านพัก(รีสอร์ท) จึงยุติโครงการก่อสร้างบ้านพักริมน้ำ และนำเงินที่เหลืออยู่จำนวน 102,215 บาท มาแบ่งกัน โดยประธานฯ ให้ข้อมูลว่าสมาชิกนำเงินไปเลี้ยงปลาดุก
ดังนั้น การดำเนินงานของกลุ่ม/โครงการดังกล่าว จึงไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ซึ่งนำไปลงทุนก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 98,785 บาท เกิดความสูญเปล่า และเป็นการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบฯ จำนวน 101,215 บาท
(อ่านประกอบ : ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท)
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงทั้งสองด้านที่ สตง. และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงประจำจังหวัดตรวจสอบพบในโครงการดังกล่าว ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เสนอรายงานผลให้นายกรัฐมนตรี และ สนช. รับทราบแล้ว
ท้ายสุดนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการ ‘ยุบเลิก’ กองทุนดังกล่าวตามข้อเสนอของ สตง. หรือจะคงไว้เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่า ‘โปร่งใส’ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
ถึงคิว กทม.! สตง.ชำแหละโครงการของบกองทุนสตรีฯ‘ทำเสื้อสกรีน-อบรมนาฏศิลป์’
รายชื่อ คกก.ระดับพื้นที่ถูกถอดจากเว็บ! หลัง'อิศรา' ลุยสอบกองทุนฯสตรี
เจาะ 5 โครงการกองทุนสตรีฯ สตง.พบสมาชิกเอาไป‘แบ่งเงิน-ปล่อยกู้ต่อ’
'น้องสะใภ้'อดีตนายกฯอบต.ของบกองทุนฯสตรีทำน้ำพริก ดอดปล่อยกู้ต่อร้อยละ5
ไม่มีเอื้อปย.!ปธ.กองทุนฯสตรีต.คันโช้ง แจงปมเสนองบให้ 'แม่' ทำร้านกาแฟ2แสน
กลัวถูกสตง.สอบ! กลุ่มแม่บ้านต.คันโช้ง เล็งกู้เงินนอกระบบใช้หนี้กองทุนฯสตรี