เครือข่ายกระจายอำนาจ ยื่นกรธ. ดันหลักการปกครองท้องถิ่นบรรจุ ในร่างรธน.
เครือข่ายกระจายอำนาจรวมตัว ยื่นข้อเสนอต่อกรธ. ดันหลักการปกครองท้องถิ่นบรรจุในร่างรธน.ฉบับใหม่ หลังไม่ปรากฏหลักการเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้แต่อย่างใด
วันที่ 9 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัด “เวทีสัมมนาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติกระจายอำนาจและองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ....” ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีจากหลายภาคส่วน อาทิ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรภาคีเครือข่ายด้านการกระจายอำนาจ
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงความสำคัญของหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจและองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องและความทับซ้อนของกฎหมายท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรบริหารท้องถิ่นสามารถดำเนินการบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ
นายสรัล มารู นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจและองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ.... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูป-กฎหมาย) ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการสังเคราะห์ ปฏิรูป และประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในฉบับเดียว ภายใต้หลักการที่สำคัญในเรื่องการกำหนดหลักการกระจายอำนาจ รวมไปถึงการกำหนดหลักการ และโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่ 1 กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ว่า เนื้อหาหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไม่ปรากฏหลักการเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้แต่อย่างใด ส่งผลให้ไม่สามารถก่อเกิดจังหวัดปกครองตนเองได้ และไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปเรื่องท้องถิ่นได้เลย
ศาสตราจารย์ ดร.ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต กล่าวว่า สิ่งที่ขาดไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2559 คือ เนื้อหาที่ไม่แสดงเจตนารมณ์ในเรื่องการกระจายอำนาจ และการไม่ให้ความสนใจปัญหาของประชาชนในระดับท้องถิ่น
จากนั้น ช่วงบ่าย กลุ่มเครือข่ายกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ได้รวมตัวกันยื่นข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น ต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมารับข้อเสนอ
โดย ข้อเสนอที่ยื่นมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
1. ขอให้ยังคงไว้ซึ่งบทบัญญัติที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ได้แก่ข้อความในมาตรา 78 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยขอให้มีข้อความดังนี้
“มาตรา ...รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะ สามารถพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”
2. ยืนยันหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 284 ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและผู้บริหารหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
3. กำหนดให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับ “สภาพลเมืองท้องถิ่น” เข้าไปในหมวดการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้มีสภาพลเมืองทำหน้าที่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การร่วมวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. กำหนดให้มี “คณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” หรือ “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าเป็นองค์กรกำกับดู ส่งเสริม และพัฒนากลไกการปกครองท้องถิ่นให้มีเอกภาพ และประสิทธิภาพ
5. ให้องค์กรบริหารท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะและเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ท้องถิ่น ดังนี้
(1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
(2) การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
(3) การจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
(4) การส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(5) การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน
(6) การศึกษาและการอบรม
(7) การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น
(8) การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในท้องถิ่น
6. รัฐต้องกำหนดหลักประกันในทางรายได้จากภาษีอากรแก่ท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ที่เพียงพอ โดยกำหนดให้ภาษีชนิดใดที่เป็นภาษีท้องถิ่นหรือภาษีที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บเองตามกฎหมาย เมื่อจัดเก็บแล้วให้เก็บไว้เป็นรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด และภาษีใดที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาษีอื่นที่มิใช่ภาษีท้องถิ่นให้รัฐจัดสรรใช้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบต่อปี
โดยเครือข่าย ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาและนำไปเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำแล้วเสร็จในวันที่ 29 มีนาคม 2559 นี้ ซึ่งหากเครือข่ายพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญและปรากฏถ้อยคำหรือข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อลงประชามติ เครือข่าย ฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%81-314671658581245/timeline