ฟังสองด้าน! ‘ประกอบอาชีพ vs วิชาชีพสื่อ’ อย่างไหนควรใส่ในร่าง รธน.?
“…เสนอแนะให้ในวรรคแรก บัญญัติคำว่า ‘วิชาชีพสื่อ’ แทนคำว่า ‘อาชีพสื่อ’ ทั้งหมด เพราะวิชาชีพสื่อบ่งชี้ถึงความเป็นสื่อที่ต้องมีองค์ความรู้ หลักการ และอุดมการณ์เป็นองค์ประกอบในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน…”
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘จริยธรรม-จรรยาบรรณสื่อ’ ถึงการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและนักเล่าข่าวชื่อดัง ซึ่งปัจจุบันยุติบทบาทไปแล้ว ภายหลังถูกสังคมกดดันอย่างหนัก กรณีศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โฆษณาเกินเวลา ทำ อสมท เสียหายกว่า 138 ล้านบาท
ประเด็นเรื่อง การปฏิรูปสื่อ ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกคำรบ ไม่แพ้ความร้อนแรงทางการเมืองในขณะนี้ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานฯ กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ด้วย
ทั้งนี้ในร่างแรกที่เผยแพร่ไปช่วงต้นปี 2559 พบว่า มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่ออย่างน้อย 1 มาตรา ได้แก่ มาตรา 35
แต่มาตราดังกล่าวถูกอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่เข้าท่าเท่าที่ควร เนื่องจากตัดคำในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเรียกได้เป็นร่างที่บัญญัติเกี่ยวกับสื่อได้ดีร่างหนึ่งออกไปเสียเหี้ยน ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดข้อเท็จจริงมาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้
การให้นำข่าวสารหรือข้อความใด ๆ ที่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใด ๆ จะกระทำมิดได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชน ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดให้สื่อมวลชน ไม่ว่าประโยชน์ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่”
เมื่อร่างแรกบัญญัติมาแบบนี้ ร้อนถึงบรรดาอดีต สปช. ‘สายสื่อ’ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ขอให้ทบทวน ไม่ว่าจะเป็นนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีต สปช. ด้านการสื่อสารมวลชน ที่ให้ความเห็นว่า ในร่างเบื้องต้นของ กรธ. ให้เหตุผลด้านเสรีภาพสื่อผิดเพี้ยนแตกต่างไปจากเดิมมาก แทบไม่เหลือร่องรอยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ให้เห็น โดยเฉพาะในมาตรา 35 ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ
ในวรรคแรกมีข้อความว่า “มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” จะสังเกตได้ว่า มีการใช้คำทั้งอาชีพและวิชาชีพสำหรับสื่อมวลชน แต่ไม่อธิบายเหตุผลไว้
แต่ในวรรคหกเขียนไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่สังกัดอยู่”
“ข้อความที่ใส่เข้ามาใหม่นี้ เท่ากับเปลี่ยนหลักการที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เคยบัญญัติไว้ ให้พนักงานหรือลูกจ้างทั้งสื่อเอกชนและข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการสื่อประเภทวิทยุและโทรทัศน์ให้มีเสรีภาพเช่นเดียวกัน โดยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้กลายมาเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำสื่อไม่ต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เหมือนสื่อเอกชน เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อภารกิจของหน่วยงานตนเอง” นายบุญเลิศ ระบุ
หรือแม้แต่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อดีต สปช. ด้านการสื่อสารมวชน เสนอแนะให้ในวรรคแรก บัญญัติคำว่า ‘วิชาชีพสื่อ’ แทนคำว่า ‘อาชีพสื่อ’ ทั้งหมด เพราะวิชาชีพสื่อบ่งชี้ถึงความเป็นสื่อที่ต้องมีองค์ความรู้ หลักการ และอุดมการณ์เป็นองค์ประกอบในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
นอกจากนี้วรรคสี่ ระบุถึงเจ้าของกิจการต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยนั้น เสนอให้นำมาตรา 48 วรรคห้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ มาแทนที่ทั้งวรรค นั่นคือ
"เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นบุคคลสัญญาติไทยและบุคคลไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคมหรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
นัยว่าเพื่อป้องการการครอบงำและผูกขาดกิจการหลายกิจการที่จะมีผลในการครอบงำหรือผูกขาดการเสนอข่าวสารที่อาจกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้
นอกจากนี้ในวรรคท้าย นายประดิษฐ์ ยังเห็นว่า การบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่นั้น อาจยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลทั้งหลายใช้อำนาจแทรกแซงสื่อของรัฐได้ง่าย
ดังนั้นการเปลี่ยนหลักการดังกล่าว กำลังทำให้สื่อของรัฐถอยหลังกลับไปเหมือนในอดีตเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งถูกตำหนิจากประชาชนว่าเชื่อถือไม่ได้ ไม่มีความเป็นกลาง เป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐบาลเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ จึงเสนอให้ตัดวรรคสุดท้ายของมาตรานี้ออกไป และใช้ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ
"พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ....
ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง"
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนตกอยู่ได้อิทธิพลของผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ?
หากสรุปข้อคัดค้าน-เสนอแนะของอดีต สปช. สายสื่อ จะเห็นได้ว่ามีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน
หนึ่ง การบัญญัติในมาตรา 35 วรรคหนึ่ง ที่ยังดูคลุมเครือ ซึ่งควรใช้คำว่า ‘ประกอบวิชาชีพสื่อ’ ไม่ใช่ ‘ประกอบอาชีพสื่อ’ เพราะความหมายแตกต่างกัน
สอง เจ้าของกิจการสื่อต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ต้องการให้ใส่รายละเอียดลงไปเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์
สาม การบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อ แม้มีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัด อาจเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจ-อิทธิพลเข้ามาแทรกแซงสื่อได้ จนย้อนกลับไปช่วงยุคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สื่อเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐ
อย่างไรก็ดี ล่าสุด รายงานข่าวจาก กรธ. แจ้งว่า กรธ. พิจารณาบทบัญญัติในส่วนของมาตรา 35 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อโดยตรงเสร็จสิ้นแล้ว
แต่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตราดังกล่าว ตามข้อเสนอแนะของอดีต สปช. รวมถึงคนในแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนแต่อย่างใด ?
ทั้งนี้ กรธ. รายหนึ่ง ไม่ขอเปิดเผยชื่อ อธิบายสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงเหตุผลที่ไม่ปรับเปลี่ยนตามข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกออกก่อนระหว่างจรรยาบรรณ (code of conduct, code of ethics) ซึ่งแปลตรงตัวคือ จรรยาบรรณทางวิชาชีพอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ อดีต สปช.สายสื่อ เรียกร้องมาต้องการให้เพิ่มด้านจริยธรรมวิชาชีพ ดังนั้นหากเป็นจริยธรรม จะต้องกำหนดเป็นอาชีพ ไม่ใช่เรื่องวิชาชีพ เพราะวิชาชีพคือจรรยาบรรณมีอยู่แล้ว และวิชาชีพสื่อไม่ได้มีกฎหมายไว้รองรับเหมือนวิชาชีพอื่น ๆ ดังนั้นจึงกำหนดไว้เป็นอาชีพ หรือวิชาชีพก็ได้ ไม่แตกต่างกัน
ส่วนการบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงได้นั้น แหล่งข่าว ระบุว่า จะแทรกแซงได้อย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้ง หนีไม่พ้น จะแทรกแซงหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และฉบับนี้เขียนไว้แตกต่างกับฉบับอื่น ถ้าเกิดมีการแทรกแซงจะต้องพ้นสมาชิกภาพไป ซึ่งฉบับอื่นไม่ได้เขียนเลย ดังนั้นจะแทรกแซงหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้
ทั้งหมดคือความเห็นแบบชัด ๆ ระหว่างอดีต สปช.สายสื่อ และ กรธ. ถึงเหตุผลว่าทำไมต้องคงมาตรา 35 ไว้เช่นเดิม
ส่วนท้ายสุดจะมีการปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !