“มาร์ค” รับปัญหาเกษตรที่ผ่านมาแก้เฉพาะหน้า หวัง “สภาเกษตร” อุดช่องโหว่
หนุนสภาเกษตรฯเป็นกลไกแก้ปัญหาระยะยาว รมช.กษ.ระบุไม่ได้ข้อมูลซื้อเสียงเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน-ตำบล ดร.เพิ่มศักดิ์ ชี้สภาฯไม่ใช่แก้ปัญหาได้ทุกอย่างแต่เดินมาถูกทาง พลังจริงที่ฐานท้องถิ่น กำหนดเลือกตัวแทนอำเภอปลาย เม.ย.
วันที่ 22 เม.ย. 54 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) จัดสัมมนา “สร้างความเข้าใจและมอบนโยบายการปฏิบัติงานสำหรับผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล”โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ทั้งฝ่ายเกษตรกรและรัฐบาลเองก็มีความคาดหวัง เพราะภาคเกษตรเป็นหลักที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ได้และทำรายได้ให้ประเทศ แต่คุณภาพชีวิตเกษตรกรกลับยากจนด้อยโอกาสทุกยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ที่ทำได้ก็แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“อย่างแก้ปัญหาการพืชผล ที่ผ่านมาใช้ระบบการแทรกแซง จำนำ หรือพยุงราคาสุดท้ายก็เกิดปัญหาฝนตกไม่ทั่วฟ้า ทุจริต สุดท้ายกลายเป็นภาครัฐไปบิดเบือนกลไกตลาด เกิดผลย้อนกลับราคาตกต่ำกว่าเดิม เหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าการแก้ปัญหาภาคเกษตรจะหยุดเท่านี้ไม่ได้”
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า มี 2 เรื่องสำคัญที่คิดว่าเป็นมาตรการระยาวช่วยเหลือเกษตรกรได้ อย่างแรกคือกองทุนสวัสดิการชาวนา และระบบประกันภัยพืชผล ที่เป็นการแบ่งภาระระหว่างรัฐกับเกษตรกร ช่วยสร้างหลักประกันที่สอดคล้องกับชีวิตเกษตรกร อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างซึ่งผู้บริหารระดับสูงอาจมองข้ามไปและไม่ตอบสนองความพอใจได้ ดังนั้นสภาเกษตรฯ จะเป็นผู้ตอบโจทย์ปัญหาให้คำแนะนำและผลักดันนโยบายเชิงรุกทำให้แนวทางต่างๆ มีความสมบูรณ์ขึ้นตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับชาติ
“ส่วนที่หลายคนกังวลว่าเกษตรกรที่โชคไม่ดีไม่ได้รับคัดเลือกจะไม่มีตัวตน เราเห็นตรงกันว่าเมื่อได้รับคัดเลือกมาแล้วก็เชื่อมั่นในศักยภาพให้ทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งกฎหมายเองก็เปิดช่องอยู่แล้ว ทุกคนจะร่วมกันเคลื่อนให้กฎหมายเดินหน้าอย่างไม่สูญเปล่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการ กษ. กล่าวถึงการดำเนินการต่อจากนี้ว่าจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนระดับอำเภอเพื่อเข้าไปเป็นสภาฯระดับจังหวัดจาก 7,107 คน จะเหลือ 1,322 คน ในวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค.นี้ จากนั้นจะประชุมสภาฯจังหวัดเพื่อคัดเลือกประธานเข้าไปเป็นสมาชิกระดับชาติวันที่ 24 มิ.ย. พร้อมกับจัดทำเงื่อนไขเกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรให้เสร็จ
นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีว่าการ กษ. กล่าวว่าสภาเกษตรฯ ที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ยังมีจุดอ่อนหลายส่วน แต่เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องเดินตามเพื่อไม่ให้เสียเวลาที่ผลักดันกว่า 30 ปี ทั้งนี้ข้อบกพร่องต่างๆสามารถแก้ได้โดยผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดคือตัวของผู้แทนสภา
“บางคนกลัวว่าสภาเกษตรฯจะเป็นตรายางให้รัฐบาล ซึ่งก็ไม่ผิดหรือถูกทั้ง 100% ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรที่ก้าวมาเป็นตัวแทนทั้งระดับชาติและจังหวัดจะเสียสละและตั้งความหวังรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ถ้าเป็นแบบนั้นรอด ส่วนประเด็นที่บอกว่าแผนแม่บทที่จัดทำถ้าส่งให้รัฐแล้วไม่ทำตาม จะทำอย่างไร ผมเชื่อว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหน หรือนายกฯคนใดที่ไม่กลัวพลังของคน 60-70% ของประเทศ”
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการซื้อเสียงในการเลือกตั้งสภาเกษตรฯที่ผ่านมาว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ใครคิดจะเข้ามาหาประโยชน์คงผิดหวัง เพราะสภาเกษตรฯไม่มีผลประโยชน์ใดให้กอบโกย ไม่มีเงินกองทุน เพราะกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรมีเยอะอยู่แล้ว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษา รมว.กษ.กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จะดึงเข้ามาเป็นเครือข่ายทำงานเชิงพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากหน้าที่หลักของสภาฯคือการนำปัญหาสู่การแก้ไข การทำแผนแม่บทระดับชาติต้องสอดคล้องกับจังหวัด ทั้งหมดต้องมาจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั้งประเทศ และนับเป็นมาตรฐานการเลือกตั้งใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนทุกคนได้ทำงานร่วมกัน
ในประเด็นดังกล่าว มีตัวแทนจากผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นโดยภาพรวมสะท้อนว่าผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลมีความสำคัญต่อการก่อรูปสภาเกษตรฯ ว่าจะดีหรือไม่อย่างไร จึงฝากให้ผู้แทนทุกคนใช้วิจารณญาณตัดสินใจอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้มีการอภิปรายบทบาทของสภาเกษตรกรที่มีต่อการปฏิรูปประเทศโดยดร.กนกวงศ์ตระหง่านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากลไกสำคัญของสภาฯ คือการนำเสนอปัญหาสู่รัฐบาล หมายความว่าในรัฐบาลหน้าจะมีตัวแทนสภาเกษตรฯเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกเดือน ปัญหาต่างๆในภาคการเกษตรจะถูกนำเสนอสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีหลักประกันและเป็นระบบชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญจะเป็นผลดีต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตรซึ่งเป็นแนวคิดเบื้องต้นในการแก้ปัญหาด้านราคาผลผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
“ความคาดหวังจริงๆอยู่ที่การเลือกผู้แทนต้องระวังอย่าแปรสภาพเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอย ขณะที่ตัวสำนักเลขาธิการซึ่งหน่วยราชการเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าไปต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่มีแต่เด็กเส้น แล้วปล่อยให้เกษตรกรตาบอดหูหนวก ไม่เช่นนั้นต่อให้มีสภาฯ ก็ขาลอย”
ดร.เพิ่มศักดิ์มกราภิรมย์คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) กล่าวว่าสภาเกษตรฯ เดินมาถูกทางและประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง สำหรับสมาชิก 99 คนไม่ใช่เรื่องใหญ่ในขณะนี้อีกแล้ว เพราะเบื้องต้นมีผู้แทนระดับตำบลกว่า 7 พันคนที่เป็นฐานขับเคลื่อนงานตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไม่ได้เป็นสภาที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ประเด็นที่ต้องเตือนคือสภาฯ ไม่ใช่ยาฤทธิ์เดชที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เพียงแค่เปิดโอกาสให้เกษตรกรมีที่ทำงานร่วมกันเท่านั้น หัวใจสำคัญจริงๆอยู่ที่ความเข้มแข็งผู้แทนเกษตรกรทุกระดับ
“มี3 ประเด็นสำคัญ 1.ต้องเคลื่อนจากฐานล่าง ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัดและชาติเพราะพื้นที่มีความแตกต่าง 2.เคลื่อนโดยฐานข้อมูลและความรู้ ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก ไม่เช่นนั้นต่อให้สมาชิก 8 หมื่นคนก็ไม่รอด 3.เชื่อมพลังจากฐานรากกับรัฐบาล เพราะปัญหาเกษตรเป็นเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ถึงระดับนโยบาย” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย นักวิชาการผู้ผลักดัน พ.ร.บ.สภาเกษตรฯ กล่าวว่าสภาเกษตรฯ เป็นผลงานของเกษตรที่ร่วมขับเคลื่อนกับพรรคการเมือง ซึ่งยังมีช่องว่างขาดความสมบูรณ์ในแง่กฎหมายอยู่บ้าง แต่ข้อดีคือเปิดโอกาสให้เกษตรกรสร้างบ้านของตนเองขึ้นมาแล้ว บทบาทซึ่งสำคัญระยะต่อไปคือการทำให้อำนาจซึ่งยังไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.นั้นเป็นธรรม ชี้ให้ภาคการเมืองเห็นประเด็นแจ่มชัด และไม่ลืมเป้าหมายเบื้องต้น .