กระทุ้งรัฐจัดระบบแรงงานให้พอเพียง ก่อนขาดแคลนหนักกระทบเศรษฐกิจ
ทีดีอาร์ไอเปิดเวทีวิเคราะห์ทางเเก้ปัญหา พร้อมทิศทางนโยบายจัดการเเรงงานต่างด้าว หลังหวั่นขาดเเคลน กระทบเศรษฐกิจ สังคม 'ดร.พจน์' เเนะสร้างค่านิยมให้คนไทยชอบทำงาน หนุนใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรม เร่งจัดทำเเผนบริหารจัดการชัดเจน ปลอดภัยต่อความมั่นคง
ตั้งแต่ปี 2554 ไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายกึ่งนิรโทษกรรม ส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการจดทะเบียน ส่งผลให้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมายและมีจำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยตรงผ่านกระบวนการ MOU (Memorandum of Understanding) อย่างไรก็ตาม ‘ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร’ นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า ที่ผ่านมาขั้นตอนดังกล่าวยังยุ่งยาก จึงเสนอให้ปรับปรุงเพื่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสะดวกขึ้น
อีกทั้ง ยังควรลดค่าใช้จ่ายตามกระบวนการ MOU ให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับรายได้ของแรงงาน ขยายหรือกำหนดระยะเวลาของการจดทะเบียนให้สอดคล้องกับลักษณะงาน อนุญาตให้ขอเปลี่ยนนายจ้างด้วยเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนการยกระดับหน่วยงานภาครัฐให้มีการดำเนินนโยบายแบบองค์รวมและเบ็ดเสร็จ (อ่านประกอบ:นักวิชาการเเนะรัฐลดขั้นตอน MOU นำเข้าเเรงงานต่างด้าวง่ายขึ้น)
ข้อมูลจากสถิติของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2555 พบว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือแรงงานฝีมือตามมาตรา 9 และมาตรา 12 ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการศึกษา ภาคการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ฯ ภาคบริการอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการธุรกิจ และภาคโรงแรมและภัตตาคาร
ส่วนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มาตรา 13 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งจำแนกเป็นแรงงานที่เป็นชนกลุ่มน้อย ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มไทยใหญ่ กะเหรี่ยง เมียนมาร์ และไทยลื้อ ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต และเกษตรกรรม
ขณะที่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ข้อมูลปี 2555 ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว มีจำนวน 167,881 คน แบ่งเป็นแรงงานเมียนมาร์ 63,768 คน แรงงานลาว 39,704 คน และแรงงานกัมพูชา 64,409 คน โดยงานกรรมกรมีสัดส่วนของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ กิจการรับใช้ในบ้าน
ทั้งนี้ แนวโน้มของการจ้างแรงงานต่างด้าวสำหรับตลาดแรงงานในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรงงาน อาทิ สภาอุตสาหกรรม เห็นว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อทดแทน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของแรงงานมีความสำคัญกับประเทศไทยมาก พร้อมกับเชื่อว่า การขาดแคลนแรงงานจะกระทบไปทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการเมือง ไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น โดยเฉพาะการเปิดประชาคมอาเซียน ในปัจจุบัน มีทั้งแง่บวกและลบ ซึ่งเราคิดว่าจะสร้างกฎเกณฑ์นำเข้าแรงงานต่างด้าวให้สะดวกขึ้นอย่างไร
ทางกลับกันประเทศไทยอาจโดนดึงแรงงานภายในที่มีความสามารถออกไปด้วย ดังเช่น วิชาชีพวิศวกรรม ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขาดแคลน เพราะประเทศเพื่อนบ้านเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับประเทศไทย
“อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะดึงแรงงานต่างด้าวอย่างไร แต่ต้องคิดว่าเราจะโดนดึงแรงงานไทยอย่างไรด้วย เพราะเขตชายแดนเปิดแล้ว” รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าฯ กล่าว และชี้ให้เห็นความแตกต่างจากสมัยก่อน ไทยร่ำรวยประเทศเดียว ประเทศเพื่อนบ้านยากจนหมด
แต่ปัจจุบันทุกประเทศรอบบ้านเราล้วนเติบโต และมีโอกาสมากกว่า เพราะยังมีช่องว่างด้านทรัพยากรจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังพัฒนาอีกได้
คำถาม คือ จะมีวิธีการจัดการเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างไร ดร.พจน์ ระบุต้องเริ่มจากการเปลี่ยนค่านิยมให้คนไทยชอบการทำงานมากขึ้น เพราะระยะหลังคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงาน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด นิยมเปิดท้ายขายของออนไลน์ รอเงินจากนโยบายประชานิยม แตกต่างจากคนในสมัยก่อน ไม่ว่าจะมีฐานะยากจนหรือร่ำรวย จบการศึกษาแล้วต้องหางานทำ
นอกจากนี้การทำงานจะใช้แรงงานอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ควรหาความสมดุลให้เจอ อย่าใช้แรงงานเปลือง และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ทั้งนี้ มิได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีทั้งหมด
อีกประการหนึ่ง ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจน ปลอดภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย
“ผมเห็นใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะในอดีตไม่ว่ารัฐบาลใด ล้วนเต็มไปด้วยกลไกการคอร์รัปชันทุกภาคส่วน วันนี้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเริ่มจากผิด จึงต้องทำให้ถูกให้ได้ ซึ่งกำลังพยายามจัดระเบียบ”
ดร.พจน์ ยังกล่าวเตือนว่า คนไทยต้องระวังให้ดี วันดีคืนดีอาจต้องซักผ้าเอง ล้างจานเอง เสิร์ฟอาหารเอง เพราะตั้งแต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์เปลี่ยนผู้นำทางการเมือง ทำให้ไม่ทราบนโยบายที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ากำลังจะเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน อาจใช้นโยบายให้คนเมียนมาร์กลับประเทศตามที่นางออง ซาน ซูจี เคยให้สัญญาไว้ครั้นมาปราศรัยที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อหลายปีก่อน หากเกิดขึ้นจริง จะน่ากลัว!!!
ด้าน ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจ้างแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมองว่า การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดี คือ เป็นฐานเป้าหมายการตลาดของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เพราะมีพื้นที่ใกล้ ลดค่าขนส่งได้ ขณะที่การหาแรงงานเข้มข้นมีวิธีการบริหารจัดการไม่ลำบาก เนื่องจากรัฐกำหนดนโยบายไว้ให้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมที่มีตลาดในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งไม่มั่นใจจะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ เนื่องจากค่าแรงสูง 300 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เสียค่าบริหารจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะค่าขนส่งไปยังท่าเรือขนส่งสินค้า
หนักที่สุด คือ ไทยไม่ได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ทำให้อาจไม่ได้ลูกค้าจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ สินค้าจะต้องเสียภาษี 22% ซึ่งถือว่าสูงมาก แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า จึงไม่มีทางสู้ได้เลย
ดร.เนาวรัตน์ บอกว่า ปัญหาจึงมักเกิดขึ้นกับธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ผลิตกระเป๋า รองเท้า จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากรอให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น จะแก้ไขปัญหาที่มีสารพัดยาก เพราะมีแต่คุกกับคุก หากตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจะช่วยลดต้นทุนส่วนหนึ่ง
“รัฐบาลทุกประเทศรอบไทยมีนโยบายเหมือนกัน เเละทุกวันนี้การพิสูจน์สัญชาติยากมาก รอเเล้วรออีก บางครั้งจ่ายเงินไปก็ไม่ได้คน ฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อม ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องกำหนดนโยบายไม่เสี่ยงต่อการพึ่งพาเเรงงานมากจนเกินไป” เธอกล่าว และว่าต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ใช้ระบบสายพานเข้ามาช่วยมากขึ้น ลดขั้นตอนการผลิตเหลือ 1 ขั้นตอน ทุกเเห่งจำเป็นต้องทำ หากไม่ทำ เราจะอยู่ไม่ได้ ที่สำคัญ และต้องมีการเรียนรู้จากเพื่อนเเละเเชร์งานซึ่งกันเเละกันในเครือข่ายอุตสาหกรรมเดียวกัน จะเป็นตัวช่วยให้เกิดความอยู่รอด
ประชาคมอาเซียนเปิดขึ้นเเล้ว ทุกประเทศกำลังได้รับการพัฒนา เเรงงานจึงเป็นทรัพยากรที่ "หอมหวาน" เเต่สำหรับประเทศไทยกำลังเป็นเรื่องน่ากังวล หากสุดท้าย เเรงงานต่างด้าว ต้องขาดเเคลน หนีกลับประเทศหมด อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัว เพื่อความอยู่รอด เเละรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนออกมาด้วย มิฉะนั้น อาจต้องล้างจานเอง ซักผ้าเอง เสิร์ฟอาหารเอง ก็เป็นได้ .