“ภาคเกษตรกรรมหลังน้ำลด” กับการเยียวยาที่อ่อนด้อยของรัฐ
การเยียวยาภาคเกษตรกรรมหลังน้ำลด ข้อเสนอเก็บภาษีน้ำท่วม การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรัฐบริหารน้ำพลาด ไปถึงไหนอย่างไร? ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา รายงานจากเวทีสัมมนา “การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อยฯ"…
วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางกับคนหลายกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสัมมนา"การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อยฯ"ระดมความคิดเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของเกษตรกรหลังวิกฤตน้ำท่วมกำลังจะผ่านพ้นไป
คนปากน้ำโพจี้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูภาคเกษตรกรรม
นพดล มั่นศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นว่า นครสวรรค์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่เหนือบึงบอระเพ็ดได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบันแม้พื้นที่ส่วนใหญ่น้ำจะลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีพื้นที่ทำนาบางแห่งน้ำยังท่วมอยู่ คาดว่าประมาณต้นเดือนมกราคมชาวนาคงได้กลับมาทำนาอีกครั้ง แต่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการเป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน
“ความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้าไม่ถึง ระยะฟื้นฟูชาวบ้านกำลังมองว่าจะทำกันยังไงเพราะความเสียหายเยอะมาก หลายคนอยู่ระหว่างการปรับตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ตรงตามความต้องการความจริงเจ้าหน้าที่ควรจะถามผู้เสียหายว่าอยากได้อะไร ไม่ใช่เอาพันธุ์ข้าวมาแจก แต่นำมาปลูกไม่ได้เพราะไม่ถูกกับสภาพดินในพื้นที่”
มานพ เกตุศรีเนียน สมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ความเสียหายด้านพืชผลไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะปรางค์ มะม่วง มะพร้าวที่กำลังจะติดลูกก็มายืนต้นตายหมด เป็นคนหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลือ วันข้างหน้ายังไม่รู้จะทำยังไงต่อ ตอนนี้ก็ปลูกผักสวนครัวพืชระยะสั้นกินกันตายไปก่อน
“เรื่องการช่วยเหลือจากภาครัฐเงินก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เรื่องพันธุ์ข้าวที่นำมาให้ก็เป็นพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ อยากให้รัฐบาลตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์มากกว่า เพราะจะมีประโยชน์ในระยะยาว”
นางส้ม ชนะภัย เกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ถ้าปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ น้ำจะไม่ท่วมเยอะขนาดนี้ แต่มีการกั้นทางน้ำจึงทำให้ความเสียหายรุนแรง บ้านจัดสรรที่ถมที่ดินขวางทางน้ำก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้น้ำท่วมเช่นกัน อยากให้รัฐเข้ามาช่วยภาคเกษตรแบบจริงๆจังๆ ไม่ใช่จ่ายให้ไร่ละ 2 พันกว่าบาท แต่ราคาพันธุ์ข้าวปลูกเกวียนละไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าปุ๋ย ค่ารถไถ ค่าแรงงาน ค่าน้ำมันสูบน้ำที่แพงขึ้น เงินที่ได้มาก็ช่วยอะไรไม่ได้
ชี้บริหารจัดการน้ำพลาด เร่งศึกษาหาทางรับมือปีหน้า
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเสียหายเกษตรกร ภาครัฐควรเก็บข้อมูลความเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายบ้านเรือน ความเสียพืชผลการเกษตร ตลอดระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วมกว่า 3 เดือนชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เรื่องเหล่านี้คนไทยไม่ค่อยรู้และรัฐก็ไม่ค่อยพูดถึง เกษตรกรชาวนาชาวไร่ ต้องออกมาขายแรงงาน
“การฟื้นฟูสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะกู้ที่ดินสามารถกลับมาทำกินได้ ส่วนที่สองคือกู้เรื่องรายได้ เรื่องชีวิตที่จะกลับคืนมาสู่ปกติ ซึ่งต้องคิดกันให้เยอะ เกษตรกรทุกวันนี้จะอยู่กันอย่างไร จะทำยังไงต่อไป ภาครัฐต้องให้คำตอบชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา”
ประเชิญ คนเทศ รองประธานชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน นครปฐม กล่าวว่า เส้นทางรถไฟทั่วประเทศส่วนใหญ่สร้างขวางทางน้ำก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมใหญ่ โดยเฉพาะทางรถไฟเส้นมหาสวัสดิ์จนถึงสะพานเสาวภาเลียบมาถึงวัดศรีสันทองตรงนี้เป็นตัวกั้นน้ำที่ทำให้พื้นที่อื่นเดือดร้อนไปด้วย
“ความผิดพลาดอยู่ที่การบริหารข้อมูลจัดการน้ำและการไม่บอกความจริงให้ชาวบ้านรู้ ถ้าชาวบ้านรู้ก็จะสามารถตั้งรับได้ทันท่วงที ซึ่งต่อจากนี้คนรักแม่น้ำท่าจีนจะร่วมกับเครือข่ายภาคีศึกษาพื้นที่ 4 อำเภอคือ บางใหญ่ ไทรน้อย บางบัวทอง บางกรวย จ.นนทบุรีให้เป็นกรณีศึกษาการแก้ปัญหาระยะยาว โดยเชื่อมโยงกับคนคลองโยงคลองมหาสวัสดิ์ สร้างองค์ความรู้เรื่อง สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องทิศทางของน้ำ การรับมือกับน้ำท่วมปีต่อๆไป ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลก็จะจับมือกับองค์กรชาวบ้านร่วมกันศึกษาทิศทางน้ำระบบ ว่าจะพัฒนาคูคลองเดิมให้เป็นที่ระบายน้ำที่ทีประสิทธิภาพอย่างไร”
ฟ้องเรียกค่าเสียหายหน่วยงานรัฐสร้างบรรทัดฐานสังคม
ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความผิดพลาดเกิดจากอดีตที่สะสมกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสิ่งปลูกสร้าง สร้างนิคมอุตสาหกรรมขวางทางน้ำ ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนไป ปีนี้ความเสียหายเห็นชัดเจนระบบนิเวศน์พังหมด ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้มันท่วมยาวนานซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการ
การฟ้องหน่วยงานราชการจึงเป็นทางเลือกที่นำมาเคลื่อนไหว เพราะดูจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง การตกงานของคนงาน มีความสัมพันธ์กับการลดรายได้ของคนชนบท เช่น ภาคอีสานมีรายได้ 100 บาทมาจากไร่นาแค่ 24 บาท มาจากนอกไร่นา 76บาท นั่นคือเงินส่วนที่ลูกที่มาทำงานในโรงงานส่งไปให้ เพราะฉะนั้นคนตกงานจึงไม่ใช่แค่ทำให้คนตกงานไม่มีรายได้ แต่มันยังส่งผลให้ครอบครัวในชนบทไม่มีรายได้กำลังซื้อหายไป การชดเชยจากภาครัฐ 3-5 พันบาทมันไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลืออะไรได้
ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเอาเงินคงคลังมาฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำท่วม และไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นภาษารีดเลือดจากปู จากคนที่กำลังเดือดร้อน ข้อเสนอคือให้รัฐบาลเรียกเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เพราะทุกวันนี้ทั่วโลกเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม 30 เปอร์เซ็นต์แต่เมืองไทยเก็บแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ทั่วโลกเขายังแบ่งกำไรกับบริษัทอีก 50 เปอร์เซ็นต์ รวมๆแล้วรัฐจะมีรายได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์อันนี้คือมาตรฐานทั่วโลก ถ้าเก็บค่าภาคหลวงตามมาตรฐานโลกเมืองไทยจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาทต่อปี
“เรื่องความเสียหายที่เกิดส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาด คนที่รับผิดชอบคือหน่วยงานราชการ ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ฟ้องรัฐบาล แต่เราฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องโดนหมด ซึ่งศาลจะไล่เรียงไปเองถ้าไล่ไปถึงนายกรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้”
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ ยังบอกอีกว่า หลักการคิดค่าเสียหาย คำนวณจากค่าเสียหายเชิงกายภาพ ค่าเสียโอกาส และความครอบคลุม อีกทั้งยังรวมถึงถนนชำรุดกี่เส้น โรงพยาบาลเสียหายกี่หลัง บ้านเรือนได้รับความเสียหายเท่าไหร่ ราคาค่าซ่อมแซมหลังละเท่าไหร่ และรถยนต์เสียหายกี่คัน รถคันหนึ่งค่าซ่อมเท่าไหร่ โดยเฉพาะรถถ้าเป็นรถโดยสาร ก็ต้องคิดระยะเวลาของรายได้ที่จะมีด้วย รวมทั้งค่าเสียโอกาสด้านอื่นๆ ซึ่งเฉลี่ยแล้วรัฐต้องชดเชยให้อย่างน้อยรายละประมาณ 1.2 ล้านบาท
ชูมาตรการเก็บภาษีน้ำท่วมช่วยรากหญ้า
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอุทกภัยมาจาก 3 ประเด็น คือเรื่องธรรมชาติ เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์วัฒนธรรม ที่วิถีชีวิตเปลี่ยนจากเกษตรกรรมไปสู่ชุมชนอุตสาหกรรม ไม่มีการรักษาทางน้ำ ไหลตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของหลายฝ่าย แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมหาอุทกภัยที่มาจากนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด รัฐต้องรับผิดชอบในชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่น้ำหลากไป ถ้ามองในมุมธรรมชาติที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่รัฐบาลจะช่วยได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมที่มาจากการจัดการของรัฐบาล ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้พื้นที่ๆหนึ่งท่วมนานกว่าพื้นที่หนึ่งเพื่อรักษาโซนเศรษฐกิจอื่นไว้ รัฐต้องชดเชยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
“ประเด็นปัญหาตรงนี้ทำให้สังคมออกมาเรียกร้องการเก็บภาษีน้ำท่วมขึ้นมา โดยเก็บเอาจากชุมชนที่ปลอดภัยไปชดเชยเยียวยาฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ต่างประเทศก็มีการเก็บภาษีที่เรียกว่าภาษีผลประโยชน์พิเศษ ซึ่งมีการจัดเก็บจากกลุ่มบุคคลที่ได้สิทธิพิเศษ อันเนื่องมาจากการตัดสินใจของภาครัฐ ซึ่งในสังคมไทยก็จะเป็นไปด้วยการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ในอนาคตถ้ามีการเก็บภาษีน้ำท่วม จะเป็นฐานสำหรับช่วยเหลือกรณีอื่นๆด้วย”
ดร.เดชรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนความเสียหายกับภาคเกษตรกรรมเกิดขึ้น คือ ความเสียหายโดยตรงจากน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร สองคือค่าเสียโอกาส ที่ไม่สามารถใช้ที่ดินทำการผลิตได้ ถ้าเป็นชาวนาความเสียหายอาจคิดเป็นรายเดือน ว่าได้ทำนาแค่รอบเดียว แต่ชาวสวนระยะเวลาการเสียโอกาสอาจคิดเป็นรายปีที่ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ปีจึงจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าการช่วยเหลือไม่ทันท่วงทีก็จะมีความเสียหายส่วนที่สามตามมาก็คือความเสียหายจากการแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
“สิ่งที่พบอยู่ในขณะนี้คือความเสียหายส่วนที่สองยังไม่มี ขณะที่ความเสียหายส่วนที่หนึ่งค่าชดเชยก็ไม่ครอบคลุม เช่น ด้านปศุสัตว์ โคกระบือช่วยเหลือรายละไม่เกิน 2 ตัวแต่ถ้าใครมีโคกระบือมากกว่า 2 ตัวก็จะได้รับค่าช่วยเหลือแค่ 2 ตัวเท่านั้น สุกรให้รายละไม่เกิน 10 ตัว ซึ่งความจริงแล้วเกษตรกรจะอยู่รอดได้ต้องเลี้ยงสุกรเป็นหลักร้อยตัวขึ้นไป”
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำทั้งในส่วนที่ผิดพลาดที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และในส่วนความตั้งใจที่จะรักษาพื้นที่เอาไว้และทำให้บางพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การช่วยเหลือเกษตรกรก็เป็นไปแบบสงคมสงเคราะห์ ไม่ใช่การช่วยเหลือที่จะให้เกษตรกรฟื้นตัวได้
"ถ้าไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว วิกฤติการณ์ในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับชุมชน ระหว่างกลุ่มคนกับหน่วยงานราชการ หรือระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเองก็จะรุนแรงมากขึ้น" .